“แอร์พอร์ตลิงก์” จ่อเลิกสัญญา ปรับปรุงระบบตั๋วร่วม ยังให้โอกาสทดสอบรองสุดท้าย 24 ก.พ. เผยค่าปรับทะลุ 10% ของวงเงินจ้าง 10 ล.แล้ว ด้าน รฟม.-BTS พร้อมเร่งปรับหัวอ่าน รอ สนข.นัด เซ็นMOU ตกลงเงื่อนไขทางธุรกิจ
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดผู้รับจ้างในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในระยะเร่งด่วน เพื่อรองรับบัตรโดยสารของรถไฟฟ้า MRT และ BTS ได้ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดให้เริ่มใช้งานได้ในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้รับจ้างยังไม่ผ่านการทดสอบในห้องทดลอง ซึ่งจะมีการทดสอบครั้งสุดท้ายในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ หากผลยังไม่ผ่าน คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ซึ่งมีทั้งผู้แทนจาก แอร์พอร์ตลิงก์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะพิจารณาตามเงื่อนไขสัญญาจ้างต่อไป
ทั้งนี้ ยอมรับว่าสัญญาจ้างปรับปรุงระบบตั๋วร่วมได้สิ้นสุดไปแล้ว 11 เดือน ซึ่งค่าปรับคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10% ของมูลค่างานแล้ว ซึ่งตามระเบียบสามารถยกเลิกได้ และสาเหตุที่ยังไม่ได้ปรับผู้รับจ้างเพราะ ที่ผ่านมายังไม่มีการจ่ายค่าจ้าง เพราะผู้รับจ้างยังไม่ได้เริ่มติดตั้ง เพราะยังไม่ผ่านขั้นตอนการทดสอบระบบ
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผ่านการทดสอบในวันที่24 ก.พ.นี้ ผู้รับจ้างจะต้องเร่งปรับปรุงระบบเพื่อให้ทันกำหนดเวลาเดือนมิ.ย. ที่คณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ให้เริ่มใช้งาน
โดยแอร์พอร์ตลิงก์ได้ลงนามสัญญาจ้างบริษัท สมาร์ทเทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจากประเทศจีน โครงการติดตั้งซอฟต์แวร์และหัวอ่านบัตรโดยสารร่วม (บัตรแมงมุม) วงเงิน 104 ล้านบาท ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2561 โดยสัญญาสิ้นสุดในเดือน เม.ย. 2562 แล้ว
@รฟม.-BTS พร้อมเร่งปรับหัวอ่าน รอ สนข.นัด เซ็นMOU ตกลงเงื่อนไขทางธุรกิจ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM พร้อมพัฒนาปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถอ่านบัตรโดยสารข้ามระบบทุกบัตรได้ ในรูปแบบ Interoperability โดยอยู่ระหว่างทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกันทั้ง รฟม. ,BEM และกรุงเทพมหานคร (กทม.)และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่ง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ร่าง MOU และส่งให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้ว
ซึ่ง MOU มีความสำคัญ เพราะจะเป็นข้อตกลงที่ทุกฝ่ายจะไม่น้ำความลับที่ได้รับการเปิดเผยจากอีกฝ่ายไปเผยแพร่ ซึ่งหลังลงนาม MOU จะเกิดความมั่นใจ และเริ่มกระบวนการออกแบบ และสั่งผลิต จัดซื้อ และปรับปรุงและทดลอง โดยเป้าหมายต้องให้ใช้ได้ในเดือน มิ.ย.
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า บริษัทพร้อมดำเนินการตามข้อตกลง โดยต้องรอ MOU ร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการได้ โดยระหว่างนี้เตรียมการไว้แล้ว ประเมินค่าใช้จ่ายที่ 120 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa) ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ให้แยกพัฒนาแบบคู่ขนาน โดยเร่งในส่วนของรับบัตรข้ามระบบก่อน