“คมนาคม” เร่ง รฟม. BEM และ BTS ปรับหัวอ่าน ยังเป้า มิ.ย. ต้องใช้บัตรข้ามระบบได้ตามแผนตั๋วร่วมระยะเร่งด่วน ยอมรับหนักใจ “แอร์พอร์ตลิงก์” อืดสุด หมดสัญญา 11 เดือน เอกชนปรับระบบไม่ได้ สั่งเร่งตัดสินใจ ยกเลิกสัญญา นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ครั้งที่ 29-2/2563 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ในระยะเร่งด่วน ให้บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, รถไฟฟ้าสายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบัตร Rabbit ของ BTS ซึ่งมีในปัจจุบันทุกระบบรวมกันมีจำนวน 14.2 ล้านใบ สามารถใช้งานข้ามระบบได้ ตามเป้าหมายเดือน มิ.ย. 2563
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ 1. งบประมาณ ซึ่งในส่วนของ รฟม. ซึ่งมีรถไฟฟ้าสีม่วง และสีน้ำเงิน ซึ่งมีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รับสัมปทาน มีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบ รวม 225.4 ล้านบาท รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 105 ล้านบาท ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นผู้รับสัมปทาน ประเมินค่าใช้จ่ายที่ 120 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการที่ใกล้เคียงกับต้นทุนในการว่าจ้างเอกชนเข้ามาปรับปรุงและพัฒนาระบบ
2. เร่งรัดให้ทุกฝ่ายทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกันซึ่งเป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non 3 Disclosure agreement : NDA) โดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ร่าง MOU และส่งให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบ โดยคาดว่าจะสรุปและลงนามร่วมกันในเดือน ก.พ.นี้
3. ข้อตกลงทางธุรกิจ (Business Rules) ซึ่ง BEM และ BTS ยังมีความแตกต่างกัน เช่น การเติมเงิน การให้ส่วนลด เด็ก นักเรียน ผู้สูงอายุ หรือกรณีเงินไม่พอ บัตรติดลบ ซึ่งพบว่าบัตร MRT Plus ของ รฟม. กรณีบัตรมีค่าติดลบแล้วยังสามารถออกจากระบบได้ ส่วน BTS จะกำหนดให้เป็นเงินขั้นต่ำ หรือ ส่วนต่อขยายสายสีเขียว BTS ไม่มีส่วนลดให้นักเรียน เป็นต้น จึงให้ไปตกลงรายละเอียดให้ชัดเจน กรณีส่วนลดในกลุ่มบุคคลถือเป็นหลักสากล เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในการใช้บัตรข้ามระบบ
โดยขณะนี้แอร์พอร์ตลิงก์ค่อนข้างน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะการปรับปรุงระบบก่อนหน้านี้ให้รองรับ บัตรแมงมุมและ MRT Plus ยังไม่แล้วเสร็จ การทดสอบระบบในห้องทดลอง 3 ครั้งยังไม่ผ่าน ขณะที่สัญญาจ้างสิ้นสุดไปแล้ว 11 เดือน ที่ประชุมเร่งให้แอร์พอร์ตลิงก์ พิจารณาความสามารถของบริษัทฯ และตรวจสอบ เงื่อนไขสัญญา และการยกเลิกสัญญา โดยเท่าที่จำได้ ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง หากค่าปรับเกิน 10% ของมูลค่าสัญญา เจ้าของงานมีสิทธิ์ยกเป็นข้ออ้างยกเลิกสัญญาได้
“ตอนนี้หนักใจแอร์พอร์ตลิงก์มาก ได้ให้ สนข.และรฟม.ช่วยแก้ไข โดยแอร์พอร์ตลิงก์ต้องเร่งตัดสินใจ โดยดูข้อกฎหมายและระเบียบ สามารถยกเลิกสัญญาได้ ต้องเร่งดำเนินการ และ อาจจะต้องเร่งหาผู้ปรับปรุงระบบใหม่ ซึ่งอาจจะใช้วิธีการจ้างตรง กับผู้พัฒนาระบบให้ รฟม. หรือบีทีเอส เพื่อความรวดเร็ว”
อย่างไรก็ตาม ในส่วน รฟม.และบีทีเอสนั้น โดยให้ทุกหน่วยประชุมจากสัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็น 2 ครั้ง เพื่อให้เริ่มใช้บัตรข้ามระบบได้ภายในเดือน มิ.ย. 63 ตามเป้าหมาย ส่วนข้อกังวลเรื่องข้อมูลในบัตรของแต่ละค่าย ที่เป็นความลับทางธุรกิจนั้น เรื่องนี้เป็นการส่งข้อมูลเพื่อเรียกเก็บเงินที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตร โดยมี รฟม.เป็นหน่วยงานกลาง ในการเคลียร์ข้อมูลไม่ได้เป็นการส่งข้อมูลตรงกัน และเชื่อว่า สิ่งที่เป็นความลับของแต่ละค่าย ต่างฝ่ายจะระมัดระวังข้อมูลของตัวเองอยู่แล้วซึ่งเป็นเรื่องเทคนิค ซึ่ง สนข.และรฟม.จะเป็นหน่วยงานหลักในการเจรจาหารือ หากประเด็นใดตกลงกันได้ให้ทำเลย หากไม่ได้ เร่งแจ้งที่ประชุมเพื่อหาทางแก้ไขโดยเร็ว
รายงานข่าวแจ้งว่า แอร์พอร์ตลิงก์ได้ลงนามสัญญาจ้างบริษัท สมาร์ทเทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจากประเทศจีน โครงการติดตั้งซอฟต์แวร์และหัวอ่านบัตรโดยสารร่วม (บัตรแมงมุม) วงเงิน 104 ล้านบาท ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2561 โดยสัญญาสิ้นสุดในเดือน เม.ย. 2562 แล้ว โดยขณะนี้ กก.ตรวจการจ้างอยู่ระหว่างพิจารณาการยกเลิกสัญญา ทั้งนี้ เงื่อนไขค่าปรับอยู่ที่ 0.03% ต่อวัน หรือประมาณวันละ 30,000 บาท ส่วนค่าจ้างยังไม่มีการจ่าย เนื่องจากตกลงจ่ายเมื่องานสำเร็จ 100%