บอร์ด รฟม.ไฟเขียวผลเจรจารถไฟฟ้าสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี เอกชนแบ่งรายได้รัฐเพิ่ม ชง กก.มาตรา 43 เคาะร่างสัญญาเพิ่มเติม 5 ก.พ.นี้ ส่วนต่อขยายสีเหลืองนัดเจรจา 3 ฝ่ายปมกระทบสัมปทาน Bem เผยทำผู้โดยสารสีน้ำเงินลด 9 พันคน/วัน
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน วันที่ 22 ม.ค. มีมติเห็นชอบผลการเจรจาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี กับบริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM แล้วในส่วนเพิ่มเติม โดยหลังจากนี้ รฟม.จะนำเสนอคณะกรรมการกำกับโครงการฯ ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ซึ่งจะประชุมในวันที่ 5 ก.พ. เพื่อพิจารณาผลเจรจาและร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม จากนั้นจะส่งให้อัยการสูงสุดตรวจและเห็นชอบร่างสัญญา จึงจะเสนอ รมว.คมนาคมเห็นชอบและส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ PPP อนุมัติ ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ผลการเจรจาส่วนต่อขยายสายสีชมพู เช่น เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งค่าก่อสร้างงานโยธา และค่าเวนคืน ส่วน รฟม.จะดำเนินการเวนคืนที่ดินตามอำนาจหน้าที่ เพราะนอกจากจะมีการใช้พื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บางส่วนแล้วจะมีส่วนที่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อเป็นส่วนของสเปอร์ไลน์ประมาณ 200-300 ตารางวา
สำหรับการเจรจาเรื่องการแบ่งปันผลตอบแทนส่วนเพิ่ม หรือ upside sharing ได้ข้อสรุปว่า รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากค่าโดยสารเส้นทางส่วนต่อขยายต่อเมื่อมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 30% หรือต้องมีจำนวนผู้โดยสารเกือบ 3 แสนคน/วัน ซึ่งจะอยู่ช่วงหลังจากปีที่ 20 ขณะที่ประมาณการผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการไว้ที่ประมาณ 1.9 แสนคน/วัน ซึ่งตามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีผลตอบแทนทางการลงทุน (EIRR) ที่ 10% โดย รฟม.จะมีผลตอบแทน 2 ส่วน คือ ผลตอบแทนรายปี เป็นรายได้คงที่ และรายได้จากส่วนแบ่งผลดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นที่คาดว่าจะได้ในหลังจากปีที่ 20 ไปแล้ว
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) ส่วนต่อขยายจากสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธินนั้น ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า จะมีการประชุมร่วม 3 ฝ่ายระหว่าง รฟม.กับ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานสายสีเหลือง และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ปลายเดือน ม.ค.นี้ กรณีที่ส่วนต่อขยายสายสีเหลืองมีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานของ BEM โดยการศึกษาพบว่าทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินลดลงประมาณ 9,000 คน/วัน ซึ่งรูปแบบการชดเชยนั้นจะต้องเร่งหารือร่วมกัน
สำหรับสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. จำนวน 2 สถานี ลงทุนกว่า 3,300 ล้านบาท สายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ลงทุนกว่า 3,700 ล้านบาท