xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิ่งครบวงกลมแล้ว! รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน นั่งฟรี “เตาปูน-ท่าพระ” ถึง มี.ค. 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.- BEM เปิดรถไฟฟ้าสีน้ำเงินอีก 4 สถานีจาก “ท่าพระ-สิรินธร” ทำให้วิ่งครบเป็นวงกลมตลอดสาย “ศักดิ์สยาม” เผย ผู้โดยสารเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด งานกาชาดพุ่งแตะ 5 แสนคน/วัน พร้อมสั่งเร่งแผนเชื่อม รถเมล์ และท่าเรือ ดึงคนใช้ขนส่งมวลชนเดินทาง

วันนี้ (23 ธ.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยมี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย ผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เข้าร่วมในพิธี ณ สถานีท่าพระ

โดยหลังจาก รฟม. และ BEM ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ จากสถานีบางโพ-สถานีสิรินธร จำนวน 4 สถานี โดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และได้เร่งรัดดำเนินงานในการขยายการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้ครบทุกสถานีเต็มโครงข่ายของเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับประชาชน ซึ่งมีความพร้อมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้เพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีไฟฉาย และ สถานีจรัญฯ 13 ทำให้รวมเป็น 8 สถานี คือ จากสถานี บางโพ-สถานีจรัญฯ 13 โดยไม่เสียค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2562 - 29 มีนาคม 2563 ให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น.

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากวันนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งส่วนเดิมและส่วนต่อขยายจะให้บริการครบเป็นวงกลม โดยช่วงท่าพระ-เตาปูน ใช้เวลาวิ่ง 24 นาทีเท่านั้น จะเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทาง ลดปัญหาจราจรและมลพิษ ซึ่งจากที่เปิดเดินรถ จากหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ซึ่งเส้นทางผ่านชุมชนและสถานีสำคัญ เช่น เยาราช และ ช่วงที่มีงานกาชาด รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีผู้โดยสารถึง 5 แสนคนต่อวัน ซึ่งการเปิดเดินรถครบวงกลม จะยิ่งทำให้ผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ได้หารือกับ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ในการจัดบริการเรือโดยสารให้เกิดการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ซึ่งจะมีการจัดรถโดยสาร ขสมก.เข้าไปเชื่อมจากท่าเรือด้วย ซึ่งขณะนี้ มีการศึกษาวางแผนในการบริหารท่าเรือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด 2 วิธี คือ การใช้งบประมาณ หรือการเปิด PPP ให้เอกชนสนใจเข้ามาลงทุนและบริหารท่าเรือ เช่น สถานีบางโพ เชื่อมกับท่าเรือบางโพ สถานีหัวลำโพงเชื่อมกับท่าเรือกรมเจ้าท่า เป็นต้น ส่วนการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าลงนั้น ขณะนี้ทางกรมการขนส่งทางราง และ รฟม. จะมีการพิจารณาเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม โดยไม่ให้กระทบต่อสัญญา และพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ

สำหรับเฉพาะในวันที่ 23 ธันวาคม 2562 นี้ ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดทดลองให้บริการ จากสถานีเตาปูน- สถานีท่าพระ ตั้งแต่เวลา 14.30-18.00 น. โดยจะให้บริการรถไฟฟ้าแบบวิ่งไป-กลับ จากสถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ มีรถไฟฟ้าให้บริการจำนวน 6 ขบวน ระยะห่างระหว่างขบวนประมาณ 8 นาที ซึ่งผู้โดยสารจากสายสีน้ำเงินปัจจุบันหรือสายสีม่วงที่ต้องการเดินทางไปปลายทางระหว่างสถานีจรัญฯ 13-สถานีบางโพ จะต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีท่าพระหรือสถานีเตาปูน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม รฟม. และ BEM ได้เตรียมพร้อมที่จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบครบทั้งโครงข่ายและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติทั้งเส้นทาง ในวันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยจะคิดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตามระยะทาง ตั้งแต่สถานีแรกที่อัตรา 16 บาท สูงสุด 42 บาท ในกรณีเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท โดยเมื่อผู้โดยสารแตะบัตรหรือเหรียญโดยสารที่ประตูอัตโนมัติแล้ว จะสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 180 นาที

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง- บางแค ขณะนี้มีผู้โดยสารประมาณ 80,000 คนต่อวัน ส่วนจากสถานีบางโพ-สถานีสิรินธร ตั้งแต่เปิดให้บริการฟรี วันที่ 4 ธ.ค. 62 มีผู้โดยสารประมาณ 3,000 คนต่อวัน ซึ่งยังไม่มาก เนื่องจากเป็นช่วงทดลองและคาดว่าเมื่อมีการเปิดเดินรถมาถึงท่าพระ จะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เพราะรถวิ่งเชื่อมต่อเป็นวงกลม

สำหรับ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 28 กม. แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงหัวลำโพง- บางแค เชื่อมต่อจากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีหลักสอง มีระยะทางประมาณ 16 กม.จำนวน 11 สถานี และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เชื่อมต่อจากสถานีบางซื่อ ผ่านแยกเตาปูนและไปสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ บริเวณแยก ท่าพระ มีระยะทางประมาณ 12 กม. จำนวน 9 สถานี

และเมื่อรวมกับสายสีน้ำเงินเดิม จะทำให้ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 48 กิโลเมตร จำนวน 38 สถานี และมีสถานีท่าพระ เป็นสถานีร่วม (Interchange Station) เชื่อมต่อเส้นทางเป็นโครงข่ายวงกลมที่ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร




กำลังโหลดความคิดเห็น