"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
วันจันทร์ ที่ 23 ธันวาคมนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วง เตาปูน -ท่าพระ จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ โดยไม่คิดค่าโดยสาร เป็นเวลา 3 เดือน เศษ ไปจนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2563 ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เดินรถเต็มสายต่อเนื่อง เป็นวงกลม จากหัวลำโพง -บางแค -บางซื่อ -เตาปูน เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีเตาปูน รวมระยะทาง 47 กิโลเมตร คิดค่าโดยสารตามระยะทาง ตั้งแต่ 14-42 บาท
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ ชื่อเป็นทางการว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2547 ในเส้นทางหัวลำโพง - บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร อยู่ใต้ดินตลอดเส้นทาง โดยมีบริษัทรถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ช การช่าง เป็นผู้รับสัมปทานการเดินรถ มีอายุสัมปทาน 30 ปี
ต่อมา บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ ได้ควบรวมกิจการกับ บริษัททางด่วนกรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ช. การช่าง เช่นกัน ที่ได้รับสัมปทาน ทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
ในปี 2554 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ลงทุน ก่อสร้าง ส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง คือ จากหัวลำโพงไปถึงบางแค เป็นเส้นทางใต้ดิน บวก ยกระดับ และ จาก หัวลำโพง ไปท่าพระ เป็นเส้นทางยกระดับทั้งสาย
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 42/2559 ให้ การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วง หัวลำโพง - บางซื่อ และส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค และบางซื่อ - ท่าพระ เป็นการเดินรถแบบต่อเนื่อง เป็นโครงข่ายเดียวกัน
ตาม พรบ.ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 การคัดเลือกเอกชนผู้รับสัมปทานเดินรถ ส่วนต่อขยาย จะต้องเปิดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอ แล้วคัดเลือกผู้ที่ให้เงื่อนไขดีที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลานาน และ หากผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ไม่ใช่ บริษัท BEM ซึ่งเดินรถไฟฟ้าช่วง หัวลำโพง - บางซื่อ อยู่ก่อนแล้ว จะทำให้มีผู้ให้บริการ ในเส้นทางตลอดสาย 2-3 ราย ซึ่งในทางปฏิบัติ ผู้โดยสารที่เดินทางอาจจะต้องเปลี่ยนขบวนรถ เมื่อสิ้นสุดแต่ละระยะของผู้รับสัมปทานแต่ละราย และต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มขึ้น เพราะแต่ละส่วนต่อขยาย ถือว่า เป็นคนละระบบแยกจากกัน การเดินทางจากระบบหนึ่ง เข้าสู้อีกระบบต้องมีค่าแรกเข้า
ก่อนหน้านี้ การคัดเลือกเอกชนที่จะรับสัมปทานเดินรถ เป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้เกิดปัญหา เมื่อ รฟม เปิดให้บริการ รถไฟฟ้าสายสีม่วง จากบางใหญ่ มาสิ้นสุดที่เตาปูน ไม่สามารถเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ เพราะสถานีเตาปูน เป็นส่วนหนึ่งของ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ - ท่าพระ ซึ่งยังไม่มีผู้รับสัมปทาน
นี่จึงเป็นที่มาของ คำสั่ง คสช. ดังกล่าว ให้ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายเจรจากับ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ทั้งสองช่วง เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่อง เป็นโครงข่ายเดียวกัน
นอกจากนั้นแล้ว ยังได้กำหนดอัตราค่าโดยสารตลอดสายสูงสุด ไม่เกิน 42 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วง หัวลำโพง - บางซื่อ เท่ากับว่า ส่วนต่อขยายที่เพิ่มขึ้นมาอีก 27 กิโลเมตร 20 สถานีนั้น ผู้โดยสารได้ใช้ฟรีๆ เพราะถือว่า เอกชนได้ประโยชน์จาก การได้สัมปทานเดินรถส่วนต่อขยาย โดยคำสั่ง คสช. ขณะเดียวกัน ก็จะมีรายได้จากค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น เมื่อระยะทางเดินรถยาวขึ้น มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น รวมทั้ง ผลตอบแทนจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริเวณสถานี
การใช้มาตรา 44 ในคำสั่ง คสช. ที่ 42/2559 ทำให้ วันนี้ กรุงเทพมีรถไฟฟ้า ที่ถือได้ว่า มีโครงข่ายี่กว้างขวาง ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเมือง ทั้งฝั่ง กทม. และ ฝั่งธนบุรี ให้บริการได้เร็วกว่ากำหนด ในราคาที่ถูก รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ยังเปรียบเสมือน กระดูกสันหลังของ ระบบรถไฟฟ้า ในกทม เพราะมีจุดเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายอื่นๆ ทั้งที่ให้บริการอยู่แล้ว เช่น รถไฟฟ้า สายสีเขียว รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงค์ และที่กำลังก่อสร้าง เช่น สายสีแดง สายสีเหลือง สายสีชมพู เป็นต้น
หากไม่ใช้ มาตรา 44 ปล่อยให้ การหาผู้รับสัมปทานเดินรถ เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ก็ไม่แน่นักว่า รถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะเปิดให้บริการได้ หรือไม่ เพราะแม้จะสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังหาผู้รับสัมปทานเดินรถไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออำนาจในการกำกับดูแล รฟม. ตกไปอยู่กับนักการเมือง