xs
xsm
sm
md
lg

โมโนเรล อบจ.สมุทรปราการ 5 หมื่นล้านได้ไปต่อ ก.ก.ถ.ไฟเขียว แนะรูปแบบลงทุน-บริหารจัดการ-เชื่อมต่อระบบ ต้องให้หน่วยงานรัฐร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รถไฟฟ้ารางเดี่ยว “อบจ.สมุทรปราการ” มูลค่า 5.7 หมื่นล้าน ได้ไปต่อ ก.ก.ถ.เห็นตามอนุฯ แก้ปัญหาบริการสาธารณะ อปท. แต่ต้องให้ความสำคัญมาตรฐานการเดินรถ ความปลอดภัย ผลกระทบจากการเข้าไปใช้พื้นที่ของเอกชน ตามที่กฎหมายกำหนด รวมคำนึงถึงศักยภาพของ อบจ.ที่จะดำเนินโครงการ แนะรูปแบบการลงทุน บริหารจัดการระบบและการเชื่อมต่อระบบ ให้พิจารณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “คจร.-กรมราง-รฟม.” เข้ามาเกี่ยวข้อง

วันนี้ (31 ม.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติในวาระหารืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบ รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ของจังหวัดสมุทรปราการ

โดยที่ประชุมเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของ อปท.เสนอ โดย อบจ.สมุทรปราการ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 17 (21) การขนส่งมวลชนและการวิศวกรรมจราจร โดยในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของอบจ.สมุทรปราการต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ที่กำหนดว่า ถ้าจะดำเนินกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคต่างๆ ให้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และให้แจ้ง อบจ.สมุทรปราการทราบ พร้อมกับข้อสังเกตของ ก.ก.ถ.ไปดำเนินการดังนี้

1. การดำเนินการระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) จะต้องพิจารณามาตรฐานการเดินรถ มาตรฐานความปลอดภัย ผลกระทบที่เกิดขึ้นในการเข้าไปใช้พื้นที่ดำเนินการ โดยเฉพาะพื้นที่ของเอกชน ตามที่กฎหมายกำหนดและคำนึงถึงศักยภาพของ อบจ.สมุทรปราการ ที่จะดำเนินโครงการด้วย

2. การดำเนินโครงการของ อบจ.สมุทรปราการ จะต้องพิจารณารูปแบบการลงทุน การบริหารจัดการระบบและการเชื่อมต่อระบบ ซึ่งจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กรมการขนส่งทางราง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลซนแห่งประเทศไทย ฯลฯ เข้าร่วมพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ เห็นควรแจ้งมติดังกล่าวให้ อบจ.สมุทรปราการทราบต่อไป

มีรายงานว่า ที่ประชุม ก.ก.ถ.ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการว่า ควรจะให้ อบจ.เป็นผู้พิจารณาสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว เช่น จังหวัดขอนแก่น ที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าโครงการจะผ่านเนื่องจากติดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ดินที่เป็นของกรมทางหลวง โดยคาดว่าในอนาคตจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่ จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย หากต่อไปในอนาคตมีการอนุญาตให้ อบจ.สร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ได้ ก็เห็นควรให้มีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นคณะกรรมการด้วย เพราะด้านเทคนิคท้องถิ่นคงจะไม่มีความชำนาญ ต้องอาศัยหน่วยชำนาญการของรัฐบาลกลาง

นอกจากนี้ รัฐบาลมีกฎหมายแล้ว เกี่ยวกับเรื่องประชารัฐ ประชาชนในจังหวัดขอนแก่น หรือสมุทรปราการ เอกชนมีหน้าที่ร่วมลงทุนด้วย อาจจะตั้งเป็นบริษัทจำกัด หรือมหาชน แต่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลงทุนด้วย จะได้ดูแลผลประโยชน์ ได้รับความสะดวกของราษฎร ให้ความสำคัญเกี่ยวกับท้องถิ่น

“นายก อบจ.จะรู้สภาพภูมิประเทศในเขตจังหวัดของตนเอง โดยเฉพาะในตัวเมืองแต่ตัวเมืองเป็นหน้าที่ของเทศบาลนคร แต่ว่าไม่มีกำลังพอ คิดว่าควรรับหลักการในเรื่องให้ อบจ.เป็นผู้มีภาระในการขออนุญาตจัดทำรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เพราะว่าขั้นตอนซับซ้อนยุ่งยากพอสมควร ยกตัวอย่าง จังหวัดขอนแก่น กว่าจะเสร็จ หลายปี แต่ถ้าหากรับหลักการตรงนี้ ขั้นตอนต่อไปจะง่ายขึ้น แล้วทำให้ความเจริญของบ้านเมืองจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว”

ขณะที่ด้านกฎหมาย ตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ด้านกฎหมายที่คณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของ อปท.เสนอมา เพราะว่าโดยตัวกฎหมายให้ทาง อบจ.มีอำนาจหน้าที่ทำ แต่การจะทำได้แค่ไหนเพียงใดก็คงจะต้องไปดำเนินการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 เพราะเป็นกฎหมายหลักตอนนี้ในการดำเนินการ

สิ่งที่สำคัญการจัดทำระบบราง Monorail หรือระบบรางคู่ก็ตามมีเรื่องหลายเรื่องที่จะต้องดู เช่น มาตรฐานการเดินรถ มาตรฐานความปลอดภัย เพราะการดำเนินการอยู่ในกฎหมาย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลซนแห่งประเทศไทย มีวางกฎเกณฑ์อยู่ แต่การดำเนินการต้องขึ้นกับประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ที่จะต้องกำหนดว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร ผลกระทบจากการต้องลงไปใช้พื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ของเอกชนที่จะต้องไปดำเนินการให้ได้มา

มีการดำเนินการทางกฎหมาย และการดำเนินการตามข้อเท็จจริงอีกหลายประการ ทั้งหน่วยที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) หรือกรมการขนส่งทางราง ที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ในการรับผิดชอบเกี่ยวกับระบบรางต้องเข้าไปดูด้วย เพราะฉะนั้นในแง่ของกฎหมาย แต่จะทำได้แค่ไหนต้องไปดูข้อเท็จจริงกับสภาพที่เกิดขึ้นว่ามีศักยภาพและมีความสามารถเพียงใด

บอร์ด ก.ก.ถ.หลายคนแสดงความเห็นว่า ถ้าชัดเจนในประเด็นกฎหมาย คงไม่เป็นห่วง แต่ไม่แน่ใจว่ามติในประเด็นนี้จะครอบคลุมถึงการเชื่อมต่อระบบไปกับระบบอื่นหรือไม่ที่เป็นขนส่งมวลชน คือ เคยมีบทเรียนรถไฟฟ้าสายสีม่วง เชื่อมต่อไม่ได้ด้วยเหตุผลทางกฎหมาย ดังนั้นควรมีมติคลุมไปถึงด้วย นอกจาก อบจ.ดำเนินการได้แล้วจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องในการเชื่อมต่อระบบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต้องมาวินิจฉัยตีความกันในอนาคต

นอกจากนี้ ในด้านเศรษฐศาสตร์ การดำเนินการขนส่งมวลชนภายในเมือง หรือภายในจังหวัด ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นนั้นๆ การเงินการคลังถึงจะชัดเจน มีเช่นนั้นต้องนำงบประมาณที่เก็บจากประชาชนทั่วประเทศมาสร้างทางให้คนกรุงเทพ แล้วคนกรุงเทพใช้ ซึ่งไม่ถูก

“จะเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ แผนมหภาค หรือแผนแม่บท เรื่องของระบบและการกำกับดูแล การเชื่อมต่อ ความปลอดภัย มาตรฐานต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และมีองค์กรกำกับ ส่วน Operation ในแต่ละภาค จังหวัด แต่ละเมือง ไม่ควรให้องค์กรเดียว การที่ รฟม.มีอำนาจดำเนินการให้อำนาจได้ แต่อำนาจนั้นไม่ควรเป็นอำนาจผูกขาด (ห้ามคนอื่นทำ) เวลานี้ตีความเป็นแบบนั้นแล้วซึ่งถูกต้องควรจะส่งเสริมให้แต่ละพื้นที่ดำเนินการกันเอง แต่ต้องทำในระบบภายใต้แผนแม่บท ภายใต้ระบบใหญ่ ภายใต้กำกับดูแลมาตรฐานที่จะเชื่อมต่อกันได้”

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม ประธานในที่ประชุมเห็นว่า คณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ อปท.วินิจฉัยปัญหาว่า อบจ.สมุทรปราการ มีอำนาจดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งก็ดำเนินการได้ พอดำเนินการได้ไม่ถึง 100% หากไปเชื่อมต่อระบบหรือจะมีโครงการ PPP ได้หรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง รวมทั้งการต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่น เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และกฎหมายอีกหลายฉบับ กฎหมายของ รฟม. เองด้วย ต้องไปคำนึงถึงสิ่งเหล่านั้น เพราะว่า แต่เดิมเกรงว่าสุดท้าย อบจ. จะทำไม่ได้แต่เมื่อทำได้ก็แล้วไป

ทั้งนี้ อบจ.สมุทรปราการ ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และแสดงเส้นทางโครงการในท้องที่ 15 สถานี ได้กำหนดแนวทางออกเป็น 9 เส้นทาง โดยได้สรุปใช้แนวทางสายสุวรรณภูมิ-แพรกษา-สุขุมวิท นำร้อง ระยะทาง 29.79 กิโลเมตร รวม 15 สถานี โดยสถานีแพรกษาจะเป็นจุดสำคัญ เนื่องจากจะเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ)

“อบจ.สมุทรปราการ ยังกำหนดอัตราค่าโดยสารต่ำสุดที่ 15 บาท ปรับค่าโดยสารตามระยะทาง 2.5 บาท/กิโลเมตร โดยไกลสุดสถานีแพรกษาถึงสถานีลาดกระบัง จะจัดเก็บ 90 บาท คาดใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 57,495.31 ล้านบาท”


กำลังโหลดความคิดเห็น