“รองฯ วิษณุ” จ่อนำข้อเสนอปัญหาท้องถิ่น จาก กมธ.การปกครองฯ 2 สภาฯ ถกบอร์ด ก.ก.ถ.เดือนหน้า เน้น 5 ประเด็น ถ่ายโอนภารกิจส่วนราชการใน อปท. ปัญหาบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน จัดทำร่างแผน 4 ปีการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (ฉบับที่ 3) พ่วงความคืบหน้า ร่าง กม.กระจายหนัาที่และอำนาจให้แก่ อปท. การจัดเก็บรายได้ในอนาคต เผย กมธ.2สภา จี้ ก.ก.ถ.ให้ความเป็นอิสระของ อปท. ยกปัญหาหน่วยงานตรวจสอบเข้มงวดเกินไป ขยับไม่ได้
วันนี้ (30 ม.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เตรียมนำผลหารือกับคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา เข้าหารือในที่ประชุม ก.ก.ถ.ในเดือนหน้า ภายหลังมีการแลกเปลี่ยนในประเด็น การถ่ายโอนภารกิจของส่วนราชการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะให้แก่ประชาชน การจัดทำร่างแผนการกระจายอำนาจให้แก่อปท. (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562-2565 ความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. ... รวมถึงการจัดเก็บรายได้ให้แก่ อปท.ในอนาคต
สำหรับรายละเอียดดังกล่าวที่จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุม ก.ก.ถ. จากการแลกเปลี่ยนกับ กมธ.การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นและการบริหารรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร และ กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา มีรายละเอียดดังนี้
ประเด็นการถ่ายโอนภารกิจ กมธ.การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นฯ สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า ภารกิจถ่ายโอนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน แหล่งน้ำ ซึ่งจะต้องบำรุงรักษาและซ่อมแซม เป็นภาระด้านงบประมาณแก่ อปท. จะสามารถจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม หรือปรับลดงบประมาณจากส่วนราชการเดิมที่ถ่ายโอน เพื่อนำไปจัดสรรเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาให้แก่ อปท.ได้หรือไม่
การถ่ายโอนภารกิจ ที่จะต้องแก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำนักงาน ก.ก.ถ.จะเป็นผู้ริเริ่มยกร่างแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่างๆ แทน ส่วนราชการเดิมได้หรือไม่, ภารกิจที่ถ่ายโอนให้แก่ อปท. ไม่มีการถ่ายโอนบุคลากรและงบประมาณให้ อปท.ในสัดส่วนที่เพียงพอหรือเหมาะสม, ส่วนราชการประวิงเวลาไม่ยอมถ่ายโอนภารกิจให้แก่อปท. รวมทั้งไม่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา แนะนำ จะมีแนวทางหรือมาตรการบังคับอย่างไร
กระบวนการถ่ายโอนภารกิจให้ความสำคัญแก่ส่วนราชการผู้ถ่ายโอน โดยไม่คำนึงถึงความพร้อม และความสมัครใจของ อปท. ผู้รับการถ่ายโอน, ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณาว่า สมควรถ่ายโอนภารกิจใดให้กับ อปท.เพื่อมาจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนในท้องถิ่น
อปท.มีความสามารถในการจัดเก็บรายได้ไม่เท่ากัน มีบุคลากรที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ที่แตกต่างกัน แต่ในแผนการถ่ายโอนฯ ให้ดำเนินการเป็นลักษณะเดียวกันทั้งประเทศ โดยไม่ได้พิจารณาความเหมาะสมของภารกิจและศักยภาพของแต่ละ อปท. ซึ่งมีขนาดที่แตกต่างกัน จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร
ด้าน กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา เห็นว่า การถ่ายโอนภารกิจจะต้องมีการถ่ายโอนงบประมาณและบุคลากร ตามไปด้วย เพื่อให้ อปท.สามารถดำเนินภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การถ่ายโอนภารกิจตามแผนการกระจายอำนาจฯ และแผนปฏิบัติการฯ พบว่ามีหลายภารกิจที่ยังไม่ได้ถ่ายโอน เช่น กรณีการถ่ายโอนการศึกษา ฯลฯ มีการถ่ายโอนภารกิจอะไรบ้าง ความคืบหน้าการถ่ายโอนเป็นอย่างไร, ภารกิจถ่ายโอนด้านการเกษตร ที่กำหนดไว้มีภารกิจที่ถ่ายโอนให้แก่ อปท.จำนวนไม่มาก ควรกำหนดภารกิจให้ถ่ายโอนแก่ อปท.มากขึ้น
ประเด็นการจัดเก็บและจัดสรรรายได้ กมธ.การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นฯ สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า ปัจจุบัน อปท.มีรายได้ในสัดส่วนร้อยละ 29.47 จะมีแนวทางการดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ถึงร้อยละ 35 ได้อย่างไร หรือจะสามารถจัดสรรงบประมาณให้ถึงร้อยละ 35 ได้ภายในปีใด, อปท.ยังขาดอำนาจในการจัดเก็บภาษีต่างๆ แม้ในส่วนของภาษีที่มีอำนาจจัดเก็บในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับในวิธีการจัดเก็บ
ด้าน กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา เห็นว่าสัดส่วนรายได้ของ อปท.ที่ ก.ก.ถ.กำหนด เป็นเพียงประมาณการรายได้ ซึ่ง อปท.ได้รับการจัดสรรจริงน้อยกว่าที่กำหนด โดยแต่ละปีคาดว่าสัดส่วนจะลดลงจากที่ประมาณการไว้ร้อยละ 3 เช่น ประมาณการไว้ร้อยละ 29 จะได้รับจริงเพียงร้อยละ 26
รายได้ที่ อปท.จัดเก็บเอง จำนวน 60,000 กว่าล้านบาท แต่ประมาณการจำนวน 100,000 กว่าล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริง 40,000 ล้านบาท โดยการคาดว่าเมื่อจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อปท.จะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีการจัดเก็บจริง และเมื่อจัดเก็บ อปท.จำนวนมากมีรายได้ลดลง อปท.หลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รายได้ลดลงจากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินภาษีบำรุงท้องที่ ควรตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลง
กรณี อบต.ที่ยกฐานะเป็นเทศบาล แต่รายได้ไม่ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภารกิจที่ปรับระดับเป็นเทศบาล และเงินอุดหนุนที่ อปท.ได้รับการจัดสรร และมีเงินเหลือจ่ายควรตกเป็นของ อปท.นั้นๆ
ประเด็นการจัดทำแผนการกระจายอำนาจฯ และแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 3 กมธ.การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นฯ สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า แผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ประกาศมีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 11 ปีแล้ว ยังมิได้ประกาศใช้แผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (ฉบับที่ 3) จากกรณีนี้จะมีแนวทางในการเร่งรัดให้มีการประกาศใช้แผนฯ ฉบับที่ 3 อย่างไร
ประเด็นการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กระจายหน้าที่และ อำนาจฯ พ.ศ. ... กมธ.การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นฯ สภาผู้แทนราษฎร สอบถามถึงความคืบหน้าการดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.กระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. ... เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาความไม่ชัดเจนในหน้าที่และอำนาจของ อปท.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ด้าน กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา เสนอให้ ก.ก.ถ.ติดตามและเร่งรัดร่าง พ.ร.บ. กระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่ อปท.พ.ศ. ... ให้มีผลใช้บังคับเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ
ประเด็นความเป็นอิสระของ อปท. กมธ.การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นฯ สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า การตรวจสอบการทำงานจากหน่วยงานตรวจสอบ เช่น สตง. สำนักงาน ป.ป.ช. มีความเข้มงวดเกินไป ส่งผลให้ อปท.ไม่กล้าที่จะดำเนิน โครงการ/กิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น
การให้บริการสาธารณะของ อปท.ไม่สามารถดำเนินการได้โดยอิสระ ต้องอยู่ภายใต้กรอบวิธีปฏิบัติของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องถือปฏิบัติตามระเบียบและหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย เช่น การจัดทำแผนพัฒนา ท้องถิ่น การจัดทำงบประมาณการพัสดุ การรับเงินการฝากเงิน การเบิกจ่ายเงิน เป็นต้น
ด้าน กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา เห็นว่า การทำงานของ อปท.มีข้อจำกัดมาก ไม่สามารถที่จะทำได้โดยอิสระ จะถูกตรวจสอบการทำงานจาก สตง.อย่างละเอียด ทำให้ อปท.ไม่กล้าที่จะทำอะไร, การใช้จ่ายเงินของ อปท.ในเรื่องใดๆ ต้องดำเนินการมีระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนด แต่กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถออกระเบียบให้ครอบคลุมการทำงานของ อปท.
ท้ายสุด กมธ.การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นฯ สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า อปท.แต่ละประเภทมีอำนาจหน้าที่คล้ายคลึงกัน ทำให้เกิดความซํ้าซ้อนในการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะ อบจ.กับเทศบาล และ อบต.ที่มีพื้นที่และประขาขนที่ได้รับการบริการเดียวกัน
ขณะที่ กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา มีความเห็นว่า การยกฐานะ อปท.เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ เช่น นครแหลมฉบัง นครแม่สอด ฯลฯ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วอย่างไร, อปท.จะต้องตั้งงบประมาณอุดหนุนเพื่อการขยายเขตไฟฟ้าและประปา ซึ่งไม่มีความเป็นธรรม เนื่องจาก กฟภ.-กปภ.มีงบประมาณดำเนินการอยู่แล้ว ถ้าจะให้เป็นธรรม ควรให้ อปท.ได้รับส่วนลดค่ากระแสไฟฟ้า และควรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริหารและวางแผนพัฒนาท้องถิ่นด้วย