xs
xsm
sm
md
lg

สภาฯยำเละกม.ภาษีที่ดิน ไร้ความเป็นธรรมเสนอชะลอการใช้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (23ม.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณารายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เรื่องปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวรายงานว่า คณะกมธ.ได้ตั้งคณะอนุกมธ.ชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ทบทวนแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และศึกษาว่ามีกฎหมายใดที่มีปัญหาหรือไม่ อย่างไร โดยได้ศึกษาผลกระทบของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมสภาฯ
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ตราขึ้นเพื่อทดแทนการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน เพื่อให้ปรับปรุงฐานภาษีและคำนวณอัตราภาษีเป็นธรรม เหมาะสมยิ่งขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการทำประโยชน์จากที่ดิน ไม่ใช่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า หรือครอบครองเพื่อเก็งกำไร เป็นการบีบให้เจ้าของที่ดินที่มีจำนวนมากได้ปล่อยออกมา และให้เป็นแหล่งรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกมธ. สนับสนุนแนวทางนี้ โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ดี หวังว่าจะจัดเก็บภาษีและถือครองที่ดินที่เป็นธรรม และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีรายได้เพิ่มกว่าเดิม แต่กลับมีผลกระทบในทางปฏิบัติตามมามากมาย เช่น
1. บทบัญญัติหลายเรื่องมีความไม่ชัดเจน เช่น นิยามคำว่า"สิ่งปลูกสร้าง" ใน มาตรา 5 หรือเรื่องการกำหนดฐานภาษีไม่ชัดเจน
2. การคำนวณภาษีไม่เป็นธรรม เช่น ยกเว้นให้บ้านหลังแรกที่มีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท
3. ผลกระทบต่อรายได้ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แทนที่จะได้รายได้เพิ่มขึ้นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยช่วงเริ่มต้นมีการประเมินว่า ท้องถิ่นน่าจะได้ปีละประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อมีการประกาศใช้ไป มีการประเมินกันใหม่น่าจะเหลือรายได้เพียง 4 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงกับเก็บเป็นภาษีโรงเรือน และที่ดิน
นอกจากนี้ อนุกมธ. ยังได้เชิญผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจและท้องถิ่น มาให้ข้อมูล เช่น กรมปกครองท้องถิ่น ชี้แจงว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 1,400 แห่ง ที่ได้รายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีตัวนี้ คิดเป็น 11,490 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกัน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3,337 แห่งได้รายได้ลดลง คิดเป็น 13,218 ล้านบาท และองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีรายได้เท่าเดิม 294 แห่ง
แสดงให้เห็นว่า หากใช้ภาษีนี้ต่อไปท้องถิ่นจะมีรายได้ลดลงอย่างชัดเจน ส่วนเงินอุดหนุนที่รัฐบาลเตรียมไว้ หรือจัดสรรปันส่วนเงินเพิ่มเติมจากคณะกรรมการกระจายอำนาจ พบว่าไม่สามารถจัดได้ทันในปีนี้ ส่งผลกระทบร้ายแรงว่า ปีนี้ท้องถิ่นขนาดใหญ่หลายที่ขาดรายได้ตรงนี้ไป ขณะที่เงินอุดหนุนก็เข้าไปเสริมไม่เพียงพอ ซึ่ง อนุกมธ.ได้จัดทำรายงานนี้ขึ้นมา และเสนอต่อกมธ.โดยเห็นว่า ครม.จำเป็นต้องตรา พ.ร.ก. เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ออกไปก่อน เพื่อตระเตรียมความพร้อมให้มากกว่านี้
"เราไม่ได้มีจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ และยืนยันว่า มีวัตถุประสงค์ดีและหลักการถูกต้อง ต้องการเก็บฐานภาษีตัวใหม่ๆ ลดการถือครองที่ดินโดยไม่ใช้ประโยชน์ ต้องการเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น และเป็นธรรมก้าวหน้ามากขึ้น แต่เมื่อพบว่ามีปัญหา จึงได้นำเสนอเข้าสภาฯ เพื่อให้พิจารณาต่อไป"
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า อนุกรรมาธิการฯ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่าได้รับความเดือดร้อน โดยได้ทำการศึกษาและพบปัญหามากมาย เมื่อสองวันที่ผ่านมา มีพ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตราร้อยละ 50 สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด ที่ดินที่ตั้งโรงผลิตไฟฟ้า และที่ใช้เป็นเขื่อนและเกี่ยวเนื่องกับเขื่อน ลดภาษีร้อยละ 90 ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รอการขายของสถาบันการเงิน โครงการจัดสรรที่ดิน อาคารชุด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม
มีข้อสังเกตว่า การประกาศลดทั้งที่ยังไม่มีการประกาศใช้ แสดงถึงความไม่พร้อม และไม่สมบูณณ์ของกฎหมายฉบับนี้ หรือไม่ ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ต้องเผชิญปัญหาปากท้อง จึงเห็นสมควรให้ฝ่ายบริหาร ชะลอการบังคับใช้ โดยตราพ.ร.ก. ตาม มาตรา 174 ของรธน. และให้นำกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ และกฎหมายภาษีโรงเรือน และที่ดินมาบังคับใช้ไปก่อน
อย่างไรก็ตาม สมาชิกทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างอภิปรายสนับสนุนโดยเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นตัวอย่างของการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อนอย่างหนักในขณะนี้ และหน่วยงานรัฐเอง ก็ยังไม่มีความพร้อม เอื้อผู้มีรายได้สูงและบรรดาเจ้าสัวต่างๆ
นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส. ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่ให้มีการชะลอไว้ เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้อย่างไรก็ต้องมีการใช้แน่นอน แต่ต้องเตรียมการให้ดี เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเงินภาษีที่เก็บจากชาวบ้าน อะไรที่ไม่ชัดเจนต้องไม่ดำเนินการและเป็นธรรม จะต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจนในเนื้อหาสาระกับประชาชนผู้เสียภาษี ที่สำคัญกฎหมายนี้ ให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตระหนก เพราะมีคนรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ส่งเสริมนายทุน ให้คนรวยแล้วรวยอีก คนจนก็จนกระจาย หนี้สินครัวเรือนเต็มไปหมด
"ปัญหาการตีความในกฎหมายมองเล้วเป็นเรื่องตลก เช่น สวนสนุก กับบ้านผีสิง มีการตีความที่ต่างกันเพียงแต่มีคำว่า"บ้าน" คงเป็นไปไม่ได้ ที่จะให้คนจนกับคนรวยเสียภาษีเท่าๆ กัน ที่ดินรกร้างตอนนี้พากันไปปลูกต้นอะไรก็ได้ ให้ไม่รกร้าง เป็นการปลูกฝังสิ่งที่ไม่ดีงาม เพื่อให้หลุดพ้นจากกฎหมาย ดังนั้นต้องทำให้ชัดเจน ไม่มีข้อสงสัย ไม่อย่างนั้นจะเป็นความคับข้องใจ เกรงว่าจะมีคนฆ่าตัวตาย หนีปัญหาหนี้สินพะรุงพะรังเพิ่มขึ้น ขออย่าให้กฎหมายฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาให้กับประชาชน"
นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พลังประชารัฐ กล่าวว่า ตนคิดว่าการชะลอการใช้กฎหมายยังน้อยเกินไป ควรจะรื้อใหม่ทั้งฉบับเลย เพราะกฎหมายฉบับนี้ ผ่านโดย สนช. ไม่ได้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง สมควรต้องพิจารณาใหม่ เพราะตนดูแล้วไม่มีข้อดีเลย มีแต่ความไม่รอบคอบ มีแต่ความอยุติธรรมให้เกิดในสังคม แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการออกกฎหมายนี้ ขาดความยุติธรรม จึงต้องยกเลิก และเขียนขึ้นมาใหม่เป็น พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ปี 2563 แก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ แล้วมาเสนอเข้ามา เชื่อว่าสภายินดีจะให้ความร่วมมือ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ พร้อมแนบความเห็นของสมาชิกประกบไปพร้อมกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ เพื่อเสนอครม. ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น