xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ​ พอหายใจคล่อง!​ ธปท.ลดยาแรง​ LTV เพิ่มกำลังซื้อคอนโดฯ​ ได้​ 20% ตลาดเฟอร์นิเจอร์คึกคัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายรณดล นุ่มนนท์
ผลสืบเนื่องจากการบังคับใช้มาตรการการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value : LTV) ให้เข้มงวดขึ้นสำหรับการซื้อบ้านสัญญาที่ 2 และ 3 หรือบ้านที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวิธีการที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลือกฉีด "ยาแรง" กระตุกความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ลงมา เนื่องจาก ธปท. เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงสินเชื่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อบ้าน การพบสินเชื่อเงินทอนที่มีการขยายวงกว้างมากขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์ ขณะที่ ธปท. เห็นปริมาณซัปพลายคงค้างในที่อยู่อาศัยจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเภทคอนโดมิเนียม ที่มีการเปิดโครงการเป็นจำนวนมาก ราคาขายที่สูงเกินความเป็นจริงในตลาด ซึ่งเกินกว่ากำลังซื้อของตลาดในประเทศ ทำให้ต้องมุ่งไปเจาะลูกค้าต่างชาติ มีการจูงใจทางด้านราคาอสังหาฯ ที่จะปรับสูงขึ้น และเรื่องผลตอบแทนจากการปล่อยเช่า (ยิลด์)

ดังนั้น เมื่อ ธปท.เบรกอย่างแรง ทำให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัว เนื่องจากแรงกระทบจาก LTV ค่อนข้างรุนแรง สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มบ้านหลังที่ 2 ประกอบกับปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ลดฮวบไปกว่า 50% แน่นอน โครงการต่างๆ ที่พึ่งพา "Cash flow" จากการขายทั้งตรงและเหมายกโครงการก็โดนหางเลขอย่างจัง

ขณะที่กระทรวงการคลัง ได้เร่งฟื้นความเชื่อมั่นในภาคอสังหาฯ และสร้างการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนจีดีพี ของประเทศ และบรรเทาผลจากมาตรการ LTV ซึ่งมาตรการที่ถูกคลอดออกมาในช่วงปลายปี 2562 มีทั้งการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือรายการละ 0.01% โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” ซึ่งให้การสนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาท แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีแนวโน้มที่ภาคอสังหาฯ ในปี 2562-2563 ติดลบน้อยลง

ทั้งนี้ ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ประเมินปัจจัยบวกจากมาตรการข้างต้น (ยังไม่รวมปัจจัยบวก ล่าสุด ธปท.ผ่อนปรนมาตรการ LTV) คาดว่าจะทำให้จำนวนหน่วยน่าจะติดลบลดลงเหลือ -0.6% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศน่าจะ -2.2% ในปี 2562 เทียบกับปี 2561 หรืออาจจะไม่ติดลบเลย จากเดิมคาดว่าจะติดลบถึง -7.7% และ -2.7% ตามลำดับ ช่วยให้เกิดการดูดซับอุปทานไปได้อย่างดี โดยประมาณการว่าในครึ่งหลังของปี 2562 จะมีขายบ้านใหม่ได้ประมาณ 71,000 หน่วย และในปี 2563 จะมีการขายบ้านใหม่ได้ถึงประมาณ 166,000 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงประมาณ 20% ในแต่ละครึ่งปี และส่งผลให้อุปทานที่อยู่อาศัยในตลาดปีหน้าจะลดลงถึง 10% ในแต่ละครึ่งปี เมื่อเทียบกับการที่ไม่มีมาตรการ


ธปท.คลายล็อก LTV "บ้านหลังแรก" กู้ 110% ได้

มาตรการ LTV มีการบังคับใช้มาถึง 11 เดือน (เม.ย.62-ม.ค.63) ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ม.ค.63 ธปท.ได้แถลงข่าวด่วนในการปรับหลักเกณฑ์การใช้ LTV ซึ่งถือเป็น "ข่าวดี" ที่เข้ามาสร้างบรรยากาศให้แก่ตลาดอสังหาริมทรัพย์

เริ่มโดย นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกได้ง่ายขึ้น และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย หลังจากที่เคยปรับเกณฑ์ให้มีความผ่อนปรนกรณีกู้ร่วมไปแล้วก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562

สำหรับหลักเกณฑ์ LTV ที่มีการปรับใหม่ คือ บ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท สามารถกู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน (ไม่เกิน 100%) และยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าหลักประกัน สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย เช่น การตกแต่งบ้าน การซ่อมแซมหรือต่อเติม

ส่วนบ้านหลังที่ 2 ได้ทำการปรับเกณฑ์วางเงินดาวน์ลง แต่ยังมีการกำหนดระยะเวลาการผ่อนบ้านหลักแรกอยู่!

กล่าวคือ เงินดาวน์ลดลงเหลืออย่างน้อย 10% หากผ่อนหลังแรกไปแล้วอย่างน้อย 2 ปี และวางดาวน์อย่างน้อย 20% หากผ่อนหลังแรกยังไม่ถึง 2 ปี จากเดิมที่กำหนดระยะเวลาไว้ 3 ปี ส่วนบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป ต้องวางดาวน์ขั้นต่ำ 30%

ส่วนบ้านที่ราคาเกิน 10 ล้านบาท บ้านหลังแรก ให้วางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10% จากเดิม 20% และบ้านหลังที่ 2 ต้องวางดาวน์ 20% และหลังที่ 3 ขึ้นไปต้องวางดาวน์ 30% ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ทันที

"การที่ ธปท.ยังไม่ยกเลิกเพดาน LTV เนื่องจากที่ผ่านมา พบการกู้สัญญาที่ 2 เป็นการกู้เพื่อเก็งกำไรสูงกว่า 50% ซึ่งส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับสูงขึ้นไปด้วย กระทบต่อผู้ที่ต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยอย่างแท้จริง"

ขณะที่หลังการใช้มาตรการตั้งแต่ เม.ย.62 พบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ยังขยายตัวได้ โดยผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรกไม่ได้รับผลกระทบ สะท้อนจากจำนวนบัญชีสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 ยังขยายตัวได้ 5.6% ซึ่งราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอาคารชุด ทำให้ผู้กู้ที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงสามารถซื้อในราคาที่เหมาะสมขึ้น

หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนนั้น ทาง ธปท.ยังมองด้วยความกังวล เหตุผลเพราะพบเห็นว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาส 3 ปี 62 อยู่ที่ 79.1% และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งหนี้ครัวเรือนจะยังไม่ลดลงในปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ดังนั้น จะต้องหลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้ก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เปราะบาง

"ที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนขยายตัวจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคทุกประเภท ซึ่งเป็นผลจากทั้งการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยที่สูงขึ้น และพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มากขึ้น" นายรณดล กล่าวยอมรับ การแข่งขันของแบงก์มีผลต่อระดับหนี้ครัวเรือน

นอกจากนี้ พบว่าครัวเรือนไทยมีภาระหนี้ต่อเดือนสูง เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค ผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง และหากครัวเรือนเผชิญปัจจัยลบในอนาคต เช่น รายได้ลดลง จะเพิ่มโอกาสของการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากและใช้เวลา ต้องอาศัยความร่วมมือและการผลักดันจากทุกภาคส่วน โดยการเน้นนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของครัวเรือน โดยผลักดันการส่งเสริมความรู้และเสริมสร้างวินัยทางการเงินแก่ประชาชนโดยไม่ใช้จ่ายเกินตัวและให้ความสำคัญต่อการออม ซึ่งจะต้องเริ่มก่อนเป็นหนี้

ขณะที่ นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ให้ความเห็นว่า ยังไม่สามารถผลักดันการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะจากหนี้สินครัวเรือนที่สูงถึง 79% ของ GDP และหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ยังสูงถึง 220% ทำให้การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว แม้ว่ารัฐบาลจะมีการกระตุ้น และ ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ก็ตาม ซึ่งมองว่าจะช่วยดูดซับซัปพลายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดให้ลดลงได้เพียงเล็กน้อย

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต
อสังหาฯ ไม่เซอร์ไพรส์
ชงปลดล็อกบ้าน 10 ล.ดึงคนรวยใช้เงิน


นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) และนายกกิติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การผ่อนเกณฑ์ดังกล่าวของ ธปท.แทบจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้มีการปรับตัวดีขึ้น แต่เป็นสัญญาณที่ดีที่ ธปท.คิดทบทวนมาตรการ จากเดิมที่ยืนยันใช้มาตรการเดิมมาตลอด ซึ่งหวังว่าหลังจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการปรับลดลงของตลาดอสังหาฯ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยแล้ว จะทำให้ ธปท.ผ่อนเกณฑ์ให้มากกว่านี้เพื่อช่วยฟื้นตลาด

“ตลาดต้องการเม็ดเงินจากคนรวยมาช่วยซื้อ เพื่อกระตุ้นตลาดให้ฟื้นตัว ขณะที่ตลาดกลางล่าง ประสบปัญหาหนี้ครัวเรือน กู้ไม่ผ่าน ดังนั้น ไม่ควรออกกฎมาควบคุมไม่ให้คนรวยใช้เงิน”

ทั้งนี้ สิ่งที่ภาคเอกชนหวัง คือ ต้องการให้ ธปท.ปลดล็อกผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทให้เท่ากับบ้านหลังแรก และไม่จำกัดว่าต้องผ่อนบ้านหลังแรกไม่น้อยกว่า 2 ปี เพราะกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท มีสัดส่วนสูงถึง 30% ของตลาด หรือคิดเป็น 1.5-2 แสนล้านบาท

นายวสันต์ เคียงศิริ
สอดคล้องกับนายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า การใช้มาตรการ LTV ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ปัญหาเรื่องสินเชื่อเงินทอน ที่กังวลว่าจะก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจนั้นได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่หาก ธปท. ยังกังวลว่ามีจุดใดที่ควรจะเฝ้าระวัง ควรมีการติดตามเป็นกรณีไป ไม่ควรใช้ควบคุมทุกตลาด ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็ควรจะยกเลิกมาตรการ LTV ไป

“ตลาดอสังหาฯ ในขณะนี้ เปรียบเสมือนคนที่ป่วย และได้รับยาจากหมอจนหายขาดแล้ว แต่หมอยังจ่ายยาอยู่ การรับยาในขณะที่ร่างกายไม่ป่วยอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ดังนั้น เมื่อตลาดอสังหาฯ กลับสู่ภาวะปกติมาตรการ LTV ก็ควรได้รับการปลดลงไป”

นายธงชัย บุศราพันธ์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถือว่าไม่ช่วยอะไรเลย เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลไม่มีงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เม็ดเงินที่จะใส่ลงมาได้ต้องมาจากภาคเอกชน ดังนั้น รัฐบาลควรออกมาตรการเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือผู้มีรายได้สูง กลุ่มคนรวยให้นำเงินออกมาใช้จ่าย

นายฉัตรชัย ศิริไล
ธอส.พร้อมปฏิบัติตามมาตรการ ธปท.

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.พร้อมดำเนินการตามเกณฑ์ใหม่ของ ธปท.ทันที เพราะถือเป็นการปรับปรุงที่ช่วยให้ลูกค้าประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้รับประโยชน์โดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าหลักของ ธอส. ซึ่งถือเป็นผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง จะมีโอกาสได้รับวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด และยังถือเป็นการสนับสนุนให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้น จากการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะมีปริมาณมากยิ่งขึ้นได้ต่อไป

นายวิทย์ กุลธนวิภาส
ยกเลิกเกณฑ์ LTV-ดูแลค่าบาทจริงจัง

นายวิทย์ กุลธนวิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แคปปิตอล วัน เรียลเอสเตท จำกัด กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 มีแนวโน้มเติบโตอย่างคงที่ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีผลจากค่าเงินบาท และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน (เทรดวอร์) โดยทิศทางของตลาดขึ้นอยู่กับสถานะทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราจะทราบทิศทางที่ชัดเจนประมาณเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงของตลาดปีนี้ จึงไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น

ทั้งนี้ ตนมองว่า รัฐบาลควรที่จะแก้ไขอุปสรรรที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ การแก้ไขค่าเงินบาทอย่างจริงจัง และการที่ ธปท.ปรับเกณฑ์ LTV ก็อาจจะทำให้บรรยากาศพอดูดีขึ้นบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นจะเซอร์ไพรส์มากนัก เนื่องจากเป็นการปรับลดบางมาตรการ LTV ลง แทนที่จะประกาศยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าว

"การผ่อนมาตรการ LTV เหมือน ธปท.ยังแทงกั๊กอยู่ ไม่ลงให้สุดๆ ตอนนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์น่าเป็นห่วง เปรียบไปก็เหมือน คนป่วยหนัก ต่างจากช่วงเดือนเมษายนปี 2562 ที่เริ่มเป็นแค่เริ่มป่วย แต่ตอนนี้ล่วงเลยมาเกือบปี คนไข้กลายเป็นผู้ปวยติดเตียงแล้ว สิ่งสำคัญตอนนี้ หากนโยบายไม่ชัดเจน และยังมีการกั๊กๆอยู่ ผู้ที่ปฏิบัติ หมายถึง ธนาคารพาณิชย์ ก็ไม่กล้า ทำให้กู้ไม่ผ่านตามเกณฑ์อยู่ดี" นายวิทย์ กล่าว

จี้ ธปท.แทรกแซง ดบ.บ้านในไทย
ชี้แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

นายวิทย์ กล่าวว่า ธปท.ควรปรับระบบกลไกการเงินที่เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้มีความเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อในด้านที่อยู่อาศัยของไทยตลอดอายุสัญญาเฉลี่ยอยู่ที่ 5.25% (สัญญาสินเชื่อบ้านประมาณ 30 ปี) ถือว่าสูงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แม้แต่ลูกค้าชาวต่างชาติที่ซื้อบ้านในไทย ยังตกใจ ดังนั้น สิ่งสำคัญ รัฐบาลควรจะส่งผ่านเรื่องการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปยังธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อปล่อยกู้ไปในตลาดอินเตอร์แบงก์ มากกว่าจะกระจุกตัวอยู่ที่ ธอส.เพียงแห่งเดียว เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีกำลัง และเข้ามามีส่วนร่วมในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ให้เติบโตอย่างเป็นระบบ


"ธปท.ควรที่จะเข้ามาแทรกแซงเรื่องดอกเบี้ยบ้านมากกว่า เพราะปัจจุบันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากยังมีสเปรดที่กว้างอยู่ ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อที่ปลอดภัย มีหลักประกันที่สูงกว่าวงเงินกู้ แต่ละปี ราคาบ้านมีการปรับขึ้นต่อเนื่อง ไม่ใช่ปล่อยให้ธนาคารเอารัดเอาเปรียบลูกค้ารายย่อย"

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า แน่นอนเมื่อมีการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อ ต่อภาพรวมตลาดอสังหาฯ ที่กลับมาฟื้นตัวได้ แต่จะมากหรือน้อย ต้องจับตาดูที่ธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่ออีกครั้ง เนื่องจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารอยู่เหนือการควบคุมของ ธปท.

อนึ่ง ตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ปี 2561 อยู่ที่ 7.02 แสนล้านบาท (+10.2%) ปี 2562 ประมาณการอยู่ที่ 6.50 แสนล้านบาท (-7.4%) ปี 63 คาดมีตัวเลข 6.44 แสนล้านบาท (-0.9%)

ORI คาดเพิ่มกำลังซื้อคอนโดฯ ได้ 20%

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI กล่าวว่า การผ่อนเกณฑ์บ้านหลังที่ 1 และเวลาเหลือ 2 ปีนั้น จะช่วยให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดฯ กลับเข้าสู่ตลาดได้ถึง 20% ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนกลุ่มอสังหาฯ ปีนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่้องจากพฤติกรรมของลูกค้าที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 โดยเฉพาะในคอนโดฯ จะมีสัดส่วนถึง 70-80% ที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง การซื้อเพื่อปล่อยเช่ามีน้อยลงมาก รวมถึงการปรับลดสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ในส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สามารถคาดหวังการปล่อยกู้ที่ดีขึ้น

สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทฯ ในปี 63 นั้น ได้วางเป้าหมายที่จะมียอดขายที่ 29,500 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา มีตัวเลข Pre-sale ระดับเกิน 28,000 ล้าน โดยยังคงเปิดโครงการคุณภาพในระดับราคาเหมาะสมภายใต้แบรนด์ “The Origin” เป็นหลัก ควบคู่การพัฒนาแบรนด์ “NOBLE“ ขณะที่จะชะลอการเปิดโครงการระดับลักชัวรี แต่จะเพิ่มน้ำหนักรุกโครงการแนวราบแทนในเบื้องต้นจะเปิดโครงการแนวราบมูลค่า 8,000 ล้านบาท ทำเลแนวรถไฟฟ้าในอนาคต เช่น บางนา รามอินทรา ลำลูกกา และราชพฤกษ์ เป็นต้น

นางสาวกฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ
"อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์" คาดตลาดเฟอร์นิเจอร์คึกคัก

น.ส.กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปรับเกณฑ์ LTV ในบ้านหลังแรกที่ให้สามารถกู้ได้ 100% และสามารถขอกู้เพื่อการตกแต่งบ้านเพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าหลักประกัน เชื่อว่าจากมาตรการดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ดี ส่งผลดีต่อการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัย และสร้างความคึกคักให้แก่ตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการตกแต่งบ้านได้ง่ายขึ้น และสามารถยื่นกู้พร้อมกับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยในคราวเดียว ซึ่งทาง อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ มีสินค้าครอบคลุมเรื่องบ้านทั้งเฟอร์นิเจอร์ไซส์ใหญ่สำหรับบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ไซส์เล็ก เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม นอกจากนี้ ยังมีของตกแต่งบ้าน ของใช้ภายในบ้าน รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้ลูกค้าได้เลือกชอปครบจบในที่เดียว ทั้งนี้ เรามีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศรวม 31 สาขา
กำลังโหลดความคิดเห็น