xs
xsm
sm
md
lg

สภาฯชะลอใช้กม.ภาษีที่ดินฯ ชี้ปัญหาอื้อ เป็นไปไม่ได้คนจน-รวยเสียภาษีเท่ากัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประชุมสภาผู้แทนราษฏร (แฟ้มภาพ)
ประชุมสภาฯ พิจารณาปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ก่อนประสานเสียงชะลอใช้กม. เหตุก่อสารพัดปัญหาให้ปชช. ย้ำเป็นไปไม่ได้ที่คนจน-คนรวยเสียภาษีเท่ากัน

วันนี้ (23ม.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ได้พิจารณารายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เรื่องปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานกรรมาธิการฯกล่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการฯมีภาระหน้าที่สอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับด้านกฎหมายเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการชุดหนึ่งทำหน้าที่ทบทวนแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และศึกษาว่ามีกฎหมายใดที่มีปัญหาหรือไม่อย่างไร โดยได้ศึกษาผลกระทบของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมสภาดังกล่าว

นายปิยบุตรกล่าวว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ตราขึ้นเพื่อทดแทนการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน เพื่อให้ปรับปรุงฐานภาษี และคำนวณอัตราภาษีเป็นธรรมเหมาะสมยิ่งขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการทำประโยชน์จากที่ดินไม่ใช่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าหรือครอบครองเพื่อเก็งกำไร เป็นการบีบให้เจ้าของที่ดินที่มีจำนวนมากได้ปล่อยออกมา และให้เป็นแหล่งรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกมธ.สนับสนุนแนวทางนี้โดยพรบ.นี้ถือเป็นกฎหมายที่ดี หวังว่าจะจัดเก็บภาษีและถือครองที่ดินที่เป็นธรรม และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้เพิ่มกว่าเดิม แต่กลับมีผลกระทบในทางปฏิบัติตามมามากมาย

ซึ่งจากรายการผลการศึกษาพบว่า 1.บทบัญญัติหลายเรื่องมีความไม่ชัดเจน เช่นนิยามคำว่า”สิ่งปลูกสร้าง”ในมาตรา 5 หรือเรื่องการกำหนดฐานภาษีไม่ชัดเจน 2. การคำนวณภาษีไม่เป็นธรรมเช่นยกเว้นให้บ้านหลังแรกที่มีราคาไม่เกิน50 ล้านบาท 3.ผลกระทบต่อรายได้ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แทนที่จะได้รายได้เพิ่มขึ้นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยช่วงเริ่มต้นมีการประเมินว่าท้องถิ่นน่าจะได้ปีละประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อมีการประกาศใช้ไปมีการประเมินกันใหม่น่าจะเหลือรายได้เพียง4 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงกับเก็บเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน

นอกจากนี้อนุกรรมาธิการยังได้เชิญผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ และท้องถิ่น มาให้ข้อมูล เช่น กรมปกครองท้องถิ่นชี้แจงว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 1,400แห่งที่ได้รายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีตัวนี้ คิดเห็น11,490ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น3,337 แห่งได้รายได้ลดลงคิดเป็น13,218ล้านบาท และองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีรายได้เท่าเดิม 294 แห่ง แสดงให้เห็นว่าหากใช้ภาษีนี้ต่อไปท้องถิ่นจะมีรายได้ลดลงอย่างชัดเจน ส่วนเงินอุดหนุนที่รัฐบาลเตรียมไว้หรือจัดสรรปันส่วนเงินเพิ่มเติมจากคณะกรรมการระจายอำนาจพบว่าไม่สามารถจัดได้ทันในปีนี้ ส่งผลกระทบร้ายแรงว่าปีนี้ท้องถิ่นขนาดใหญ่หลายที่ขาดรายได้ตรงนี้ไป ขณะที่เงินอุดหนุนก็เข้าไปเสริมไม่เพียงพอ ซึ่งอนุกมธ.ได้จัดทำรายงานนี้ขึ้นมาและเสนอต่อกมธ. โดยเห็นว่าครม.จำเป็นต้องตราพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เพื่อชะลอการบังคับใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2562 ออกไปก่อนเพื่อตระเตรียมความพร้อมให้มากกว่านี้

“เราไม่ได้มีจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ และยืนยันว่ามีวัตถุประสงค์ดีและหลักการถูกต้อง ต้องการเก็บฐานภาษีตัวใหม่ๆ ลดการถือครองที่ดินโดยไม่ใช้ประโยชน์ ต้องการเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่นและเป็นธรรมก้าวหน้ามากขึ้น แต่เมื่อพบว่ามีปัญหาจึงได้นำเสนอเข้าสภาเพื่อให้พิจารณาต่อไป”

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า อนุกรรมาธิการฯได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่าได้รับความเดือดร้อน โดยได้ทำการศึกษาและพบปัญหามากมาย เมื่อสองวันที่ผ่านมา มีพระราชกฤษฏีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ50 สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด ที่ดินที่ตั้งโรงผลิตไฟฟ้า และที่ใช้เป็นเขื่อนและเกี่ยวเนื่องกับเขื่อน ลดภาษีร้อยละ90 ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รอการขายของสถาบันการเงิน โครงการจัดสรรที่ดิน อาคารชุด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม มีข้อสังเกตว่าการประกาศลดทั้งที่ยังไม่มีการประกาศใช้แสดงถึงความไม่พร้อม และไม่สมบูณณ์ของกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ต้องเผชิญปัญหาปากท้อง จึงเห็นสมควรให้ฝ่ายบริหารชะลอการบังคับใช้ โดยตราพระราชกำหนดตามมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญ และให้นำกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ และกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินมาบังคับใช้ไปก่อน

อย่างไรก็ตามสมาชิกทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างอภิปรายสนับสนุนโดยเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นตัวอย่างของการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อนอย่างหนักในขณะนี้ และหน่วยงานรัฐเองก็ยังไม่มีความพร้อม เอื้อผู้มีรายได้สูง เจ้าสัวต่างๆ

นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส. ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าเห็นด้วยที่ให้มีการชะลอไว้ เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้อย่างไรก็ต้องมีการใช้แน่นอน แต่ต้องเตรียมการให้ดี เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเงินภาษีที่เก็บจากชาวบ้าน อะไรที่ไม่ชัดเจนต้องไม่ดำเนินการและเป็นธรรม จะต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจนในเนื้อหาสาระกับประชาชนผู้เสียภาษี ที่สำคัญกฎหมายนี้ให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตระหนกเพราะมีคนรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ส่งเสรินายทุน ให้คนรวยแล้วรวยอีก คนจนก็จนกระจายหนี้สินครัวเรือนเต็มไปหมด

“ปัญหาการตีความในกฎหมายมองเล้วเป็นเรื่องตลก เช่นสวนสนุก กับบ้านผีสิง มีการตีความที่ต่างกันเพียงแต่มีคำว่า”บ้าน” คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนจนกับคนรวยเสียภาษีเท่าๆกัน ที่ดินรกร้างตอนนี้พากันไปปลูกต้นอะไรก็ได้ให้ไม่รกร้าง เป็นการปลูกฝั่งสิ่งที่ไม่ดีงามเพื่อให้หลุดพ้นจากกฎหมาย ดังนั้นต้องทำให้ชัดเจนไม่มีข้อสงสัยไม่อย่างนั้นจะเป็นความขับข้องใจเกรงว่าจะมีคนฆ่าตัวตาย หนีปัญหาหนี้สินพะรุงพะรังเพิ่มขึ้น ขออย่าให้กฎหมายฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาให้กับประชาชน”

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พลังประชารัฐ กล่าวว่าตนคิดว่าการชะลอการใช้กฎหมายยังน้อยเกินไป ควรจะรื้อใหม่ทั้งฉบับเลย เพราะกฏหมายฉบับนี้ผ่านโดยสนช. ไม่ได้สภาผู้แทนราษฏรที่มาจากการเลือกตั้ง สมควรต้องพิจารณาใหม่เพราะตนดูแล้วไม่มีข้อดีเลย มีแต่ความไม่รอบคอบ มีแต่ความอยุติธรรมให้เกิดในสังคม แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการออกกฎหมายนี้ ขาดความยุติธรรม จึงต้องยกเลิกและเขียนขึ้นมาใหม่เป็นพ.ร.บ.ภาษีที่ดินปี 2563 แก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ แล้วมาเสนอเข้ามา เชื่อว่าสภายินดีจะให้ความร่วมมือ

ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ พร้อมแนบความเห็นของสมาชิกประกบไปพร้อมกับข้อสังเกตของกรรมาธิการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น