แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน วันนี้ (11 ธ.ค.) คาดว่าจะมีการเสนอบอร์ดเพื่อขออนุมัติลงนามสัญญาความร่วมมือระหว่าง รฟม. กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาตั๋วร่วมเป็นระบบ 4.0 (ระบบเปิด) ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card)
การพัฒนาตั๋วร่วมเป็นระบบเปิดนั้นมีความล่าช้าเกือบ 2 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้บอร์ด รฟม.ได้มีข้อสังเกตกรณีการทำสัญญาจ้างระหว่าง รฟม. กับกรุงไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยไม่เปิดประมูลได้หรือไม่ มีปัญหาด้านข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง รฟม.ได้รายงานว่าการให้ธนาคารกรุงไทยดำเนินการโครงการปรับปรุงระบบตั๋วร่วมจะเป็นการดำเนินการระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน สามารถทำได้ตามกฎกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ ไม่มีการยืนยันว่าค่าจ้างกรุงไทยเป็นวงเงินที่เหมาะสมหรือไม่ และเป็นวงเงินที่ถูกกว่าการที่ รฟม.เปิดประมูลคัดเลือกให้มีการแข่งขันทั้งข้อเสนอและราคาหรือไม่ อีกทั้งธนาคารกรุงไทยถือเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ ประเด็นเหล่านี้บอร์ด รฟม.คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
การพัฒนาระบบตั๋วร่วม EMV มีวงเงินลงทุนกว่า 516 ล้านบาท โดยจ้างกรุงไทยในดำเนินการปรับปรุงระบบหลังบ้าน เคลียริ่งเฮาส์ ประมาณ 300 ล้านบาท ค่าลงทุนปรับปรุงหัวอ่านรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง, สายสีน้ำเงิน ประมาณ 216 ล้านบาท
ขณะที่ล่าสุดกระทรวงคมนาคม โดยคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้ปรับแนวทางเพื่อเร่งรัดการพัฒนาตั๋วร่วมระยะแรกภายใน 6 เดือน นี้ก่อน โดยให้ผู้ถือบัตรรถไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันทุกใบสามารถใช้รถไฟฟ้าได้ทุกสาย เช่น บัตรแรบบิทของบีทีเอส สามารถใช้ขึ้น MRT หรือแอร์พอร์ตลิงก์ ได้ หรือบัตร MRT Plus ของ รฟม.ใช้ขึ้นบีทีเอส, แอร์พอร์ตลิงก์ได้
ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งหารือกับผู้เกี่ยวข้อง คือ รฟม. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ในการปรับปรุงระบบหัวอ่าน (Reader) พื่อให้สามารถรองรับการใช้งานของบัตรข้ามระบบได้ และค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง ซึ่งการใช้บัตรข้ามระบบนั้นมีข้อกังวลในเรื่องข้อมูลในบัตรโดยสาร ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายจะต้องรักษาความลับของลูกค้าที่ใช้งานข้ามระบบด้วย
ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิท (รถไฟฟ้าบีทีเอส) ประมาณ 12 ล้านใบ ถือบัตร MRT plus ประมาณ 2 ล้านใบ ถือบัตรแมงมุมจำนวน 2 แสนใบ และบัตรแอร์พอร์ตเรลลิงก์อีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ บอร์ด รฟม.จะมีการวาระพิจารณาปรับปรุงมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าโดยไม่มีเงื่อนไขด้านเวลาใช้บริการ ตามนโยบายนายศักด์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ซึ่งจะเป็นการให้ส่วนลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงตลอดทั้งวัน จากเดิมที่จะลดให้เฉพาะช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ในวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) ช่วงเวลา 09.00-17.00 น. โดยเก็บค่าโดยสาร 14-20 บาท จากปกติ 14-42 บาทต่อเที่ยว