xs
xsm
sm
md
lg

เร่งปรับโมเดลตั๋วร่วมใน6เดือน BTS-MRTรับบัตรข้ามระบบได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“ก.คมนาคม” ปรับโมเดลเร่ง “ตั๋วร่วม” ช่วงแรก เล็ง 6 เดือนให้ใช้บัตรรถไฟฟ้าเดิมข้ามระบบกันได้เหมือน Easy Pass เผย BTS รับทราบพร้อมร่วมมือ ส่วน รฟม.อัพเกรด "แมงมุม 4.0" ยังอืด คาดต้องรออีก 18 เดือน เชื่อปรับระบบเดิมเร็วกว่า สั่ง สนข.หารือผู้ให้บริการ "BTS – รฟม.- แอร์พอร์ตลิงก์" ใน 2 สัปดาห์ คลี่ปมปรับปรุงหัวอ่าน-หักบัญชีหลังบ้าน

วานนี้ (31 ต.ค.) นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า จากการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วม และบัตรแมงมุม เพื่อให้ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/Master/Visa Card) พบว่า ยังมีความล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกประมาณ 18 เดือน ดังนั้นคณะกรรมการฯจึงมีแนวคิดในการเร่งรัดการใช้ระบบตั๋วร่วมให้ได้ก่อน โดยผ่านบัตรรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน 4 ราย ซึ่งพบว่ามีผู้ถือบัตรแรบบิท (รถไฟฟ้า BTS) ประมาณ 12 ล้านใบ, ถือบัตร MRT plus (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง) 2 ล้านใบ, ถือบัตรแมงมุม 2 แสนใบ และบัตรรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ อีกจำนวนหนึ่ง เป้าหมายให้ทุกบัตรที่มีอยู่นี้ สามารถใช้ข้ามระบบได้ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสะดวกมากขึ้น

ฝัน 6 เดือนใช้บัตรเดิมข้ามระบบได้

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งหารือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ใน 2 ประเด็น คือ 1. การปรับปรุงระบบหัวอ่าน (Reader) และระบบที่เกี่ยวข้องของแต่ละผู้ให้บริการ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานของบัตรข้ามระบบได้ ว่าจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน 2. ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเท่าไร และใครเป็นผู้รับชอบ โดยให้เวลา 2 สัปดาห์ สรุปรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ พิจารณาตัดสินใจต่อไป

“หากการปรับปรุงใช้เวลาประมาณ 6 เดือน และเปรียบเทียบกับค่าลงทุนแล้วคุ้มค่า จะเร่งให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้นผู้บริหารรถไฟฟ้า BTS ซึ่งมีผู้ถือบัตรรถไฟฟ้ามากที่สุด รับทราบหลักการ แนวทาง การใช้บัตรข้ามระบบ โดยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ในการให้ผู้ถือบัตรรถไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว สามารถใช้รถไฟฟ้าได้ทุกสาย เช่น บัตรแรบบิทใช้ขึ้น MRT หรือ แอร์พอร์ตลิงก์ ได้ ส่วน บัตร MRT Plus ของ รฟม. ใช้ขึ้น BTS หรือแอร์พอร์ตลิงก์ได้ เป็นต้น โดยไม่ต้องแยกซื้อบัตรแต่ละสาย เหมือนการที่ระบบทางด่วนและมอเตอร์เวย์ สามารถใช้บัตร Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บัตร M-Pass ของกรมทางหลวง ใช้ข้ามระบบกันได้” นายชัยวัฒน์ ระบุ

สั่ง สนข.ทำการบ้านปรับระบบ-หักบัญชี

ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงปัญหาของการดำเนินการด้วยว่า การใช้เวลาปรับปรุงระบบเดิมน่าจะเร็วกว่า ซึ่งนอกจากปรับหัวอ่านระบบเปิด (Open Loop) แล้ว จะมีระบบหักบัญชีหลังบ้านด้วย ซึ่ง สนข.ต้องไปทำการบ้าน โดยในส่วนระบบตั๋วร่วมแมงมุมที่ รฟม.อยู่ระหว่างร่วมมือกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) นั้น รฟม.จะต้องเร่งเสนอบอร์ดซึ่งระบบตั๋วร่วมแมงมุม เป็น National Common Ticketing System หรือระบบกลาง ที่บัตรใบเดียวขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกสาย เช่นกัน โดยใช้ผ่านบัตรเครดิต เดบิต ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่าปัจจุบันมีคนไทย ถือบัตรเครดิต เดบิต รวม 90 ล้านใบ และถือบัตรในระบบ พร้อมเพย์ e-Money อีกประมาณ 80 ล้านใบ เมื่อ รฟม.พัฒนาระบบตั๋วร่วมแมงมุม EMV เสร็จ จะเป็นอีกทางเลือกให้ประชาชน ส่วนบัตรรถไฟฟ้าเดิม ทั้งบัตรแรบบิท และ MRT plus ซึ่งเป็นบัตรแบบเติมเงิน ยังใช้งานได้เหมือนเดิม อยู่ที่ความสะดวก ซึ่งข้อมูลจากต่างประเทศที่มีการพัฒนาระบบบัตร EMV จะมีสัดส่วนประมาณ 70% ส่วนบัตรรถไฟฟ้าแบบเดิม ประมาณ 30% เนื่องจากบัตร 2 แบบ มีรูปแบบในการทำการตลาดที่ต่างกัน ขึ้นกับผู้ประกอบการแต่ละราย จะทำโปรโมชั่นอย่างไร โดยเฉพาะบัตรแบบเดิม จะมีการให้ส่วนลดได้หลากหลาย เช่น บัตรรายเดือน บัตรผู้สูงอายุ หรือบัตรสำหรับนักท่องเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น