xs
xsm
sm
md
lg

สั่งเร่งแจกบัตรแมงมุม 2 แสนใบ รฟม.ดีเดย์ ก.ค. 61 บัตรคนจนขึ้นรถไฟฟ้าได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คมนาคมเร่งตั๋วร่วม ดีเดย์ ก.ค. 61 นำร่องบัตรคนจนใช้ขึ้นรถไฟฟ้า “น้ำเงิน-ม่วง” ได้ ส่วนรถเมล์ 2,600 คัน และแอร์พอร์ตลิงก์ใช้ได้ ต.ค. 61 พร้อมสั่ง รฟม.แจกบัตรแมงมุม 2 แสนใบใน ต.ค. ขณะที่ระบบ EMV จะปรับปรุงเสร็จใช้ได้ ธ.ค. 62 เจรจาบีทีเอสดึงเปิดระบบให้สามารถใช้งานกับบัตรคนจนและบัตรแมงมุมได้ก่อน

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการ โดยได้นำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เห็นชอบแนวทางในการดำเนินการบัตร EMV Contactless Smart Card (Open Loop) ซึ่งระยะแรกจะเป็นการใช้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก่อน โดยในเดือน ก.ค. 2561 ใช้ได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง และในเดือน ต.ค. 2561 จะขยายให้ใช้กับรถเมล์ จำนวน 2,600 คัน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ นอกจากนี้จะเพิ่มบัตร MRT Plus และบัตรแมงมุม 2 แสนใบ ซึ่ง สนข.จะส่งมอบให้ รฟม.นำออกมาใช้งานต่อไป

ก่อนวันที่ 1 ก.ค.จะมีการประกาศให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนำบัตรที่มีไปดำเนินการจัดการเชื่อมข้อมูล หรือ Format ที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีน้ำเงินก่อน ส่วน แอร์พอร์ตลิงก์ที่จะเริ่มใช้เดือน ต.ค. ขณะนี้ได้รับงบปรับปรุง 140 ล้านบาทดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว โดยจะหารือกับ รฟม.เกี่ยวการรายละเอียดเทคนิค มาตรฐานบัตรและ มาตรฐานระบบเพื่อความชัดเจน รวมถึงค่าธรรมเนียม ซึ่งเบื้องต้นกำหนดที่ 0.8% ต่อ 1 Transection จากนั้นจะลงมือดำเนินการต่อไป ส่วนสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น รฟม.จะหารือกับเอกชนว่าจะปรับปรุงเพื่อให้สามารถนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรแมงมุมในมาตรฐานเดิมใช้ได้ก่อนหรือไม่ หรือจะปรับปรุงระบบเป็นมาตรฐาน EMV และใช้งานในเดือน ธ.ค. 2562 ทีเดียว  

นอกจากนี้ ในวันที่ 15-17 พ.ค. รฟม.จะหารือกับผู้ประกอบการทุกรายเกี่ยวกับเทคนิคระบบ EMV และข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทางธุรกิจ (Business Rule) เช่น อัตราค่าธรรมเนียม, ค่าใช้จ่าย, การส่งเงิน ฯลฯ เพื่อความชัดเจนในการปรับปรุง นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ รฟม.ไปพิจารณาถึงองค์กรบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing Company : CTC) เนื่องจากค่าบริหารจัดการระบบ EMV ปีละ 49-50 ล้านบาทลดลงถึง 3 เท่า จากระบบเดิมที่มีค่าบริหาร 150 ล้านบาทต่อปี และบทบาทและภาระขององค์กรฯ จะไม่ต้องขายบัตร หาลูกค้าทาง Non Transit ไม่ต้องทำการตลาดแล้ว ดังนั้น เมื่อค่าใช้จ่ายและขอบเขตงานลดลง อาจตั้งเป็นหน่วยธุรกิจภายใน รฟม.แทนแนวคิดตั้งบริษัทร่วมทุนฯ ก็ได้  

ทั้งนี้ รฟม.ได้ประเมินค่าปรับปรุงระบบเพื่อรองรับ EMV ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ม่วงและเขียว รวมทั้งสิ้น 218 ล้านบาท เนื่องจาก  EMV เป็นระบบเปิดทำให้มีค่าลงทุนต่ำกว่าระบบปิดแบบเดิมที่หัวอ่านจะต้องทำงานหนักเพราะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบยอดเงิน ตัดเงิน และบันทึก ส่วนแบบ EMV หัวอ่านจะบันทึกว่าบัตรที่มาแตะเป็นบัตรจริงหรือปลอม ใช้งานได้หรือไม่ ส่วนการคำนวณค่าโดยสารหรือตัดเงินเป็นหน้าที่ของระบบหลังบ้าน ซึ่งลงทุนประมาณ 240 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.จะลงทุนเพิ่มเติมจากศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง แต่ภาพรวมในการลงทุนต่ำกว่าระบบเดิม
 


กำลังโหลดความคิดเห็น