รฟม.สรุปการศึกษาแผนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนท์ ใน พ.ค.นี้ เพื่อเสนอบอร์ดพิจารณา พร้อมประเมินจำนวนผู้โดยสารใหม่ให้เป็นปัจจุบันภายใต้ปัจจัยโครงข่ายสนับสนุน เช่น การเปิดเดินรถ คาดรูปแบบ ใช้ PPP Net Cost รับสัมปทานก่อสร้างด้านตะวันตกและเดินรถตลอดสาย จากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาแผนการร่วมทุน (PPP)โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้ในเดือน พ.ค. เพื่อเห็นชอบในการก่อสร้างงานโยธา วงเงินค่าก่อสร้าง 85,288.54 ล้านบาท พร้อมแผนการร่วมทุน (PPP) การเดินรถสายสีส้มทั้ง ช่วงตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) และสีส้มตะวันตก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดโครงการใหม่ เช่น ตัวเลขผู้โดยสาร และตัวเลขด้านการเงิน เนื่องจากสมมติฐานด้านการเงินที่ รฟม.ใช้ประเมินโครงการเป็นฐานเดิมเมื่อ 10 ปีก่อน และขณะนี้กระทรวงการคลังได้ประสานให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ช่วยศึกษาสมมติฐานทางการเงินใหม่อีกด้วย
สำหรับจำนวนผู้โดยสาร ก่อนหน้านี้ได้ทำการประเมินว่าเมื่อเปิดบริการรถไฟฟ้าสีส้มทั้งสายทางจะมีผู้โดยสารปีแรกที่ 3 แสนคนต่อวัน แต่ประสบการณ์จากการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ซึ่งจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามคาดการณ์ สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงยังไม่เปิดให้บริการตามแผนเดิม ทำให้ต้องทบทวนการคาดการณ์ตัวเลขผู้โดยสารสายสีส้มใหม่เพื่อให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด
สำหรับแผนร่วมทุน PPP งานเดินรถนั้น มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น PPP ประเภท Net Cost คือ การให้เอกชนลงทุน บริหารโครงการ จัดเก็บรายได้ และแบ่งรายได้ให้รัฐ เนื่องจากภาคเอกชนจะมีศักยภาพด้านการลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่ารัฐ ซึ่งจะทำให้การลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะมีผู้รับงาน 1 ราย รับผิดชอบทั้งงานโยธา วางระบบ จัดหารถไฟฟ้า และเดินรถทั้งสายทาง (ส้มตะวันออกและตะวันตก) ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกับโครงการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง โดย รฟม.จะให้การอุดหนุนไม่เกินมูลค่างานโยธา ดังนั้นหากเอกชนรายใดเสนอขอรับการอุดหนุนน้อยที่สุดก็จะเป็นผู้ได้รับงานไป
“หากที่ประชุมบอร์ดอนุมัติ ขั้นตอนต่อไป รฟม.จะเสนอนำแผนการลงทุนไปยังกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีเวลาพิจารณา 60 วัน จากนั้นจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณา โดยโครงการนี้อยู่ในแผนการลงทุนตามมาตรการเร่งรัดโครงการร่วมลงทุนระหว่างกิจการในรัฐกับเอกชน (PPP Fast Track) ด้วย”