xs
xsm
sm
md
lg

ดัน 3 โปรเจกต์ยักษ์เข้าฟาสต์แทร็กวงเงินลงทุนรวม 4.06 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สคร. ดัน 3 เมกะโปรเจกต์วงเงินลงทุนรวม 4.06 แสนล้านบาท เข้ามาตรการ PPP Fast Track หวังช่วยกระตุ้นแผนลงทุนเดินหน้ารวดเร็ว ประเมิน ต.ค. 2561 เคาะเลือกเอกชนลุยโครงการ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ภายในปี 2561 จะมีการเสนอโครงการลงทุนภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณา จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม ประมาณ 4.06 แสนล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ มูลค่าการลงทุนรวม 8.06 หมื่นล้านบาท

ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดเวลาปรับปรุงรายงาน PPP แล้วเสร็จ และจะเสนอให้ รมว.คมนาคม พิจารณาและได้ข้อสรุปภายในเดือน เม.ย. 2561 และภายในเดือน ก.ค. คณะกรรมการ PPP จะมีการพิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้น ในเดือน ส.ค. นี้ คาดว่าจะสามารถเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ และภายในเดือน ต.ค. 2561 จะสามารถคัดเลือกบริษัทที่สนใจมารับเอกสารข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) เพื่อรับการคัดเลือกเป็นที่ปรึกษากำกับการดำเนินงานโครงการได้

2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก วงเงินลงทุน 1.31 แสนล้านบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเสนอรายละเอียดโครงการทั้งหมดให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบได้ภายในเดือน เม.ย. นี้ โดยระหว่างนี้คณะทำงานจะเร่งพิจารณารายละเอียดโครงการก่อนเสนอให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาในเดือน ก.ค. 2561 และจะเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือน ส.ค. นี้ โดยคาดว่าจะสามารถคัดเลือกเอกชนที่จะมาดำเนินโครงการได้พร้อมกับโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม ชะอำ

“ก่อนหน้านี้ ครม. ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งเจรจาตกลงกับเอกชนผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ เพื่อให้ได้ข้อสรุปในรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงร่วมกันของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ และสายสีม่วงใต้” นายเอกนิติ กล่าว

3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม มูลค่าการลงทุน 1.95 แสนล้านบาท คาดว่าจะสามารถเสนอให้ ครม. พิจารณาตามแผนมาตรการ PPP Fast Track ได้ภายในเดือน เม.ย. นี้ หลังจากนั้น จะเร่งเสนอให้ รมว.คมนาคม พิจารณา ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาอีกครั้ง และคาดว่าภายในเดือน ส.ค. นี้ จะสามารถเสนอ ครม. พิจารณาในรายละเอียดได้ โดยจะสามารถคัดเลือกบริษัทที่สนใจมารับเอกสารข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) เพื่อรับการคัดเลือกเป็นที่ปรึกษากำกับการดำเนินงานโครงการได้ภายในเดือน ต.ค. เช่นเดียวกัน

“ทั้ง 3 โครงการลงทุนขนาดใหญ่นั้น ตามกรอบการดำเนินงานของมาตรการ PPP Fast Track จะมีระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 9 เดือน โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้โครงการลงทุนเดินหน้าได้เร็วขึ้น โดยกระบวนการตามมาตรการ PPP Fast Track จะจบก็ต่อเมื่อได้รายชื่อเอกชนที่จะมาลงนามในสัญญาก่อสร้าง หลังจากนั้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างต่อไป” นายเอกนิติ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น