xs
xsm
sm
md
lg

คลังแยกเอกชนเช่าที่ราชพัสดุออกจากกฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รมว.คลัง” เผยแนวทางการร่างกฎหมายพีพีพีฉบับใหม่ จะแยกกฎหมายออกเป็น 2 ฉบับ โดยฉบับแรกจะเกี่ยวข้องกับการร่วมทุนรัฐ-เอกชน ตามโครงการปกติ ส่วนอีกฉบับจะเป็นเรื่องการให้เช่าที่ของรัฐ คาดเปิดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายใหม่ได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า พร้อมทั้งยังระบุแนวโน้มสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะขยับขึ้นได้ 15% จากปัจจุบันที่ต่ำเพียง 4% เหตุ รัฐบาลได้ผลักดันให้หลาย ๆ โครงการที่เคยหยุดชะงักให้สามารถเดินหน้าการลงทุนได้แล้ว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2017 ถึงความคืบหน้าในการร่าง พ.ร.บ. ร่วมทุนภาครัฐและเอกชน พ.ศ. ... (PPP) ว่า เป็นเรื่องที่ทราบกันว่า กฎหมายฉบับเดิมยังมีปัญหาในทางปฏิบัติค่อนข้างสูง กระทรวงการคลังจึงได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาหาแนวทางการในการปรับปรุงกฎหมายใหม่

โดยผลการศึกษาได้ให้กระทรวงการคลังแยกกฎหมาย PPP ออกเป็น 2 ฉบับ โดยฉบับแรกจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการร่วมทุนภาครัฐและเอกชนตามโครงการปกติ ซึ่งจะเน้นเรื่องการเฉลี่ยความเสี่ยงในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนภายใต้เงื่อนไขว่า ความโปร่งใสยังคงต้องมีอยู่ ขณะเดียวกัน ยังจะมีการแก้ไขกระบวนการพิจารณาการร่วมทุนให้มีความสะดวกมากขึ้น

ส่วนกฎหมายอีกฉบับนั้น จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้เช่าที่ของรัฐ เนื่องจากที่ปรึกษามองว่า การให้เช่าที่ดังกล่าวบางลักษณะเมื่อพิจารณาถึงธรรมชาติของโครงการการลงทุนแล้ว ถือว่าไม่เข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายร่วมทุนฯ เช่น การนำที่ดินของรัฐไปทำบ้านเพื่อเป็นอยู่อาศัยนั้นตามหลักแล้วจะถือเป็นเพียงการที่เอกชนของเช่าที่โดยทั่วไปจากรัฐบาล ยกเว้นการเช่าที่นั้น ได้มีข้อตกลงเรื่องรัฐจะร่วมลงทุน และจะมีการแบ่งปันรายได้กับเอกชนด้วยแล้ว ก็ให้ถือว่าการให้เช่าที่ดังกล่าวเป็นการให้เช่าที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดในกฎหมาย PPP

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้คาดหมายว่า ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า การร่างกฎหมายจะแล้วเสร็จเพื่อให้สามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป พร้อมทั้งยังย้ำว่า ร่างกฎหมายใหม่ที่จะออกมาในอนาคตนั้น จะดีกว่าการทำ PPP Fast Track ในปัจจุบัน ที่แม้จะร่นระยะเวลาการอนุมัติโครงการจาก 24 เดือนให้เหลือ 8 เดือนได้แล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่ายังต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้ เนื่องจากแนวทางในการร่างกฎหมาย PPP ใหม่นั้น จะมีต้นแบบมาจากแนวทางการทำ PPP ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากมีฐานการศึกษาในทางเดียวกัน

รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีการจัดอันดับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 49 ซึ่งถือว่าต่ำมาก เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการลงทุนจากภาครัฐเพียงแค่ 5% เมื่อเทียบมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) และสัดส่วนดังกล่าวก็ถือว่ายังต่ำกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐบาลมาเลเซีย ที่มีสูงถึง 15%

อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า หลังจากที่รัฐบาลปัจจุบันได้เริ่มหันกลับมาในโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่เคยหยุดชะงักลงในรัฐบาลก่อนหน้าจนถึงจุดที่ว่า หลาย ๆ โครงการที่รัฐบาลอนุมัติไปแล้ว ก็เริ่มมีการลงนามในสัญญา และบางโครงการก็เริ่มมีการเบิกจ่ายเงินลงทุนกันแล้วนั้น แนวโน้มการลงทุนของรัฐบาลไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง 15% ของ GDP
กำลังโหลดความคิดเห็น