กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ในที่สุด โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ก็เดินรถมาถึงสถานีหลักสอง บริเวณห้างเดอะมอลล์บางแคเสียที หลังจากรอคอยมานานถึง 8 ปี นับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2554
แม้ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ท่าพระ ยังต้องรอเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2563 แถมโครงการส่วนต่อขยายช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 มูลค่าเกือบ 22,000 ล้านบาท จะถูก รฟม. พับแผนลงชั่วคราว เพื่อรอประเมินจำนวนผู้โดยสารก็ตาม
แต่ในฐานะคนที่อยู่จังหวัดชายขอบกรุงเทพฯ บอกตามตรงว่า “ได้แค่นี้ก็ดีใจ...”
คิดว่าถ้าคนโซนบางแค หนองแขม อ้อมน้อย ทวีวัฒนา ลดการใช้รถส่วนตัว แล้วหันมาใช้รถไฟฟ้าให้ได้มากกว่าวันละ 1 ล้านคน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเห็นใจ ยอมเจรจาให้เจ้าของสัมปทานลงทุนส่วนต่อขยายเพิ่ม
อย่างน้อย รฟม. ก็สร้างอาคารจอดแล้วจร ที่สถานีหลักสอง คิดค่าจอดรถเฉพาะผู้ใช้รถไฟฟ้าถูกมาก 2 ชั่วโมง 10 บาท จอดสัก 20 ชั่วโมง คิดแค่ 100 บาท ถูกกว่านำรถไปจอดใจกลางเมือง บางแห่งคิดชั่วโมงละ 20-30 บาทเลยทีเดียว
ทุกวันนี้กางตัวเลขจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน นับตั้งแต่เปิดให้บริการส่วนต่อขยาย 5 สถานี พบว่าในเดือนสิงหาคม 2562 มีจำนวนผู้โดยสาร 325,000 เที่ยวต่อวัน เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 มีจำนวนผู้โดยสาร 319,000 เที่ยวต่อวัน
หากนับเฉพาะวันทำงาน เดือนสิงหาคม 2562 มีจำนวนผู้โดยสาร 378,000 เที่ยวต่อวัน เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 มีจำนวนผู้โดยสาร 374,000 เที่ยวต่อวัน เท่ากับว่าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นราว 4,000-6,000 เที่ยวต่อวันเท่านั้น
ถือว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายวันละ 1 ล้านเที่ยว ไม่จูงใจพอที่ รฟม.จะให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ลงทุนส่วนต่อขยายเพิ่มไปถึงสถานีพุทธมณฑล สาย 4 ตามที่วาดฝันเอาไว้
แม้หลายคนอาจจะรู้สึกขัดใจไปบ้าง แต่มองย้อนอีกที รฟม. กับ BEM คิดดีแล้วที่เป็นแบบนั้น
ขืนลงทุนต่อไป ทั้งที่ยังไม่รู้อนาคต เดี๋ยวจะเหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน ที่จำนวนผู้โดยสารยังไม่ถึง 1 แสนเที่ยวต่อวัน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนสร้างคอนโดติดรถไฟฟ้า พากันกุมขมับเพราะขายไม่ออก
ที่น่าสังเกตก็คือ ถนนเพชรเกษม โดยเฉพาะย่านเดอะมอลล์บางแค ใกล้กับสถานีปลายทางหลักสอง มีรถประจำทางผ่านมากกว่า 20 เส้นทาง แถมบางเส้นทางทับซ้อนหรือขนานกับแนวรถไฟฟ้าอีก
หากเปรียบเทียบค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พบว่าจากสถานีหลักสอง ถึงสถานีหัวลำโพง ค่าโดยสาร 40 บาท แพงกว่ารถประจำทางสาย 7 คลองขวาง-หัวลำโพง คิด 8 บาท และ ปอ.7 สมุทรสาคร-หัวลำโพง คิด 19 บาทเท่านั้น
ถ้าไม่นับเรื่องการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน แม้จะอ้างได้ว่าเป็นผู้โดยสารคนละกลุ่ม แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือเปลี่ยนมาเป็นนั่งรถเมล์แล้วต่อรถไฟฟ้า จำนวนผู้โดยสารคงจะกระเตื้องยาก
นอกช่วงเวลาเร่งด่วน (Off-peak) เราอาจจะได้เห็นบางสถานีช่วงไปทางบางแค เงียบเหงาก็เป็นได้
จากที่เคยใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมานานแม้จะไม่บ่อยนัก กระทั่งเปิดทดลองส่วนต่อขยายถึงสถานีท่าพระ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่าถ้าเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน ผู้โดยสารก็จะอัดแน่นเป็นปลากระป๋อง
ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะถ้าเป็นเส้นทางที่ผ่านย่านธุรกิจ และจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส อาทิ สถานีสุขุมวิท สถานีพระราม 9 สถานีเพชรบุรี สถานีสวนจตุจักร และสถานีสีลม ยังต้องรอขบวนถัดไป 2-3 ขบวนกว่าจะได้ขึ้น
นับตั้งแต่เปิดให้บริการปี 2547 มีรถไฟฟ้าทั้งหมด 19 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ บรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 886 คนเท่านั้น แม้บางขบวนจะมี 6 ตู้ก็ตาม ขณะนี้กำลังทยอยรับมอบขบวนรถใหม่อีก 35 ขบวน แต่ขบวนละ 3 ตู้ก็ยังคงไม่เพียงพอ
ไม่นับรวมปัญหารถเสียที่เกิดขึ้นเป็นระยะ บางครั้งผู้โดยสารต้องรอนานประมาณ 25-30 นาที แถมต้องมายืนอัดแน่นเป็นปลากระป๋อง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คนก็เริ่มเบื่อหน่าย กลับมาใช้รถส่วนตัวหรือระบบขนส่งมวลชนอื่นตามเดิม
จะเป็นไปได้ไหม ... ถ้าในอนาคตจะขยายขบวนรถ เป็นอย่างน้อยขบวนละ 4 ตู้ เพื่อรองรับระบายผู้โดยสารได้ทุกเวลาแม้ในชั่วโมงเร่งด่วน ไม่อย่างนั้นสุดท้ายคงแก้ปัญหา ด้วยการถอดเบาะรถไฟฟ้าตามเดิม
อย่างต่อมาคือเรื่องค่าโดยสาร แม้ปัจจุบันจะคิดตามจำนวนสถานี ตั้งแต่ 16-42 บาทต่อเที่ยว มองผิวเผินเหมือนจะไม่แพง แต่ถ้าบ้านอยู่โซนบางแค แต่ไปทำงานกลางใจเมือง เช่น สีลม สุขุมวิท เดินทางบ่อยครั้งจะรู้สึกว่าแพงเกินไป
ค่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 42 บาทต่อเที่ยว ไป-กลับวันละ 84 บาท เดินทางเฉพาะวันทำงาน เดือนหนึ่งมีประมาณ 20 วันทำการ คิดเป็น 40 เที่ยว เท่ากับต้องจ่ายถึง 1,680 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว
สมัยก่อน ที่ยังเรียกว่ารถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที เคยมีบัตรโดยสารชนิดจำกัดวัน เริ่มต้นที่ 1 วัน 120 บาท, 3 วัน 230 บาท และ 30 วัน 1,400 บาท แต่ได้ยกเลิกการขายเมื่อปี 2560
ต่อมา รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ออกโปรโมชั่นเติมเที่ยวโดยสาร แบบ 30 วัน จำกัดเที่ยว เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2560 เริ่มต้น 15 เที่ยว 450 บาท, 25 เที่ยว 700 บาท, 40 เที่ยว 1,040 บาท และ 50 เที่ยว 1,250 บาท
ปรากฎว่าเปิดตัวไม่นานก็ถูกระงับการขาย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ทุกวันนี้ยังต้องจ่ายค่าโดยสารอัตราปกติมานานถึง 2 ปี มีส่วนลดเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ 50% และนักเรียน นักศึกษา 10% เท่านั้น
จะเป็นไปได้ไหม ... ถ้าจะกลับมาขายเที่ยวโดยสาร แบบ 30 วัน เพื่อจูงใจให้ผู้โดยสารเดินทางบ่อยขึ้น อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็มีเที่ยวเดินทาง 30 วันจำหน่าย หรือลดค่าโดยสาร 1 บาทเมื่อจ่ายด้วยบัตรแรบบิท แล้วเขายังไม่รู้สึกว่าขาดทุน
อย่างสุดท้าย เห็นรถไฟฟ้าบีทีเอสพัฒนาช่องทางจำหน่ายบัตรโดยสาร เช่น การเติมเงิน เติมเที่ยวเดินทาง หรือจ่ายค่าโดยสารผ่านบัตรแรบบิท ที่ผูกกับบัญชีแรบบิท ไลน์เพย์ แล้วตัดเงินผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตที่มีเงินในบัญชีธนาคาร
หรือจะเป็นเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ สมัยก่อนต้องหยอดเหรียญเพียงอย่างเดียว สมัยนี้รองรับการซื้อตั๋วผ่านคิวอาร์โค้ด บนแรบบิทไลน์เพย์ หรือสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านมือถือทุกธนาคาร โดยไม่ต้องจ่ายด้วยเงินสด
อย่างน้อยเวลาที่เราลืมกระเป๋าสตางค์มาจากบ้าน ไม่มีเงินสดติดตัว ก็สามารถใช้มือถือสมาร์ทโฟนซื้อตั๋วโดยสาร แล้วเดินทางไปไหนมาไหนได้ เช่นเดียวกับการกดเงินไม่ใช้บัตร โดยใช้มือถือเพียงเครื่องเดียว
ย้อนกลับมารถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที เครื่องจำหน่ายเหรียญโดยสารรับเฉพาะเหรียญและธนบัตร กระทั่งติดตั้งเครื่องรุ่นใหม่ รองรับการเช็กยอดและเติมเงินลงบัตรโดยสาร (ขั้นต่ำ 100 บาท) ซึ่งเคยติดตั้งระบบเดียวกันที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงไปก่อนหน้านี้
จะเป็นไปได้ไหม ... ถ้าจะพัฒนาระบบออกเหรียญโดยสาร หรือเติมเงินลงในบัตรโดยสาร ให้เข้ากับเทคโนโลยีสังคมไร้เงินสด เพราะปัจจุบันธนาคารชั้นนำมีความพร้อมในการออกแบบระบบอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับจะเปิดทางหรือไม่เท่านั้น
อย่าไปยึดติดกับบัตรแมงมุม เพราะที่เคยบอกว่าจะเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ต ลิงก์ ปัจจุบันก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้จริง ไม่นับรวมองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หันมาออกบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับธนาคารกรุงไทยแยกต่างหากอีก
ในฐานะที่เป็นผู้โดยสารคนหนึ่ง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หวังว่า รฟม. และเจ้าของสัมปทานอย่าง BEM จะรับฟังและนำมาพัฒนา เพื่อจูงใจให้คนในพื้นที่ใกล้เคียงหันมาใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพิ่มมากขึ้น
บอกตามตรง ไม่อยากให้เสียของเหมือน “รถไฟฟ้าสายสีม่วง” ซ้ำรอยขึ้นมาอีก