กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
สำหรับคนที่มีชีวิตแบบ “เดือนชนเดือน” มักจะบ่นกันว่า มีเศษติดบัญชีไม่ถึง 100 บาท ถอนออกมาเป็นเงินสดไม่ได้ จะนำเงินที่มีอยู่ในบัญชีไปทำอะไรดี?
เศษเงินที่ว่านี้มีหลายสาเหตุ เช่น เงินเดือนที่ได้รับหักประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือบางรายที่รับงานพิเศษ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ทำให้เงินเข้าบัญชีที่ได้รับอาจจะมีเศษไม่ถึง 100 บาทติดมาด้วย
ไม่นับรวมกรณีหักค่าธรรมเนียมธนาคาร เช่น ค่าบัตรเดบิตรายปี ค่าถอนเงินผ่านเอทีเอ็มข้ามเขตหรือต่างธนาคาร จ่ายบิลผ่านหักบัญชีธนาคาร ฯลฯ ก็ทำให้ยอดเงินคงเหลือมีเศษไม่ถึง 100 บาทได้เช่นกัน
วิธีคลาสสิกในอดีตก็คือ เมื่อเงินในบัญชีไม่ถึง 100 บาท ก็ใช้วิธีเอา 100 ตั้ง ลบด้วยเศษเงินในบัญชี แล้วบวกด้วย 1 บาท ก่อนนำเงินจำนวนหลักร้อยพร้อม “ส่วนต่าง” ที่คำนวณได้ ไปฝากผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อให้ได้ครบ 100 บาท
ปัจจุบัน ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) มีเครื่องมือชำระเงินที่หลากหลาย เช่น บัตรเดบิต แอปพลิเคชันธนาคาร ฯลฯ ทำให้ในชีวิตประจำวันเราแทบไม่ต้องใช้เงินสดในการชำระเงินอีกเลย
เศษเงินในบัญชีสามารถนำออกมาใช้ได้หลายอย่าง ส่วนวิธีการ อธิบายพอสังเขปดังต่อไปนี้
1. เอาไปซื้อของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (ยอดใช้จ่ายขั้นต่ำ 20 บาทขึ้นไป) ร้านสะดวกซื้อยอดนิยมแห่งนี้ ปกติแล้วถ้าใช้บัตรเครดิตเฉพาะ VISA, MasterCard และ UnionPay ชำระแทนเงินสด ต้องมียอดใช้จ่ายขั้นต่ำ 100 บาทขึ้นไป
แต่เราสามารถใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีธนาคารได้ เฉพาะบัตร VISA และ MasterCard โดยผูกบัตรในแอปฯ “TrueMoney Wallet” เพียงครั้งเดียว แล้วนำไปชำระเงิน ระบบจะตัดเงินจากบัญชีธนาคารที่ผูกกับบัตรเดบิตโดยอัตโนมัติ
วิธีการผูกบัญชี เข้าไปที่เมนู “จ่ายเงิน” เลือกคำว่า “เปลี่ยน” แล้วเลือก “เพิ่มบัตรเครดิต/เดบิต” กรอกข้อมูลบัตรเดบิต ระบบจะทดลองตัดเงิน 20 บาท แล้วคืนให้ทันที สามารถสลับกันใช้ระหว่างเงินในวอลเลทกับบัตรเดบิตได้
ข้อดีก็คือ ถ้าเป็นลูกค้าทรูมูฟ เอช จะได้คะแนนสะสม True Point ทุก 25 บาท ได้ 1 คะแนน แต่ข้อควรระวังคือ ก่อนชำระเงินให้สังเกตในเมนู “จ่ายเงินร้านค้า” ว่าเป็น บัตรเครดิต/เดบิต ก่อนให้พนักงานสแกนคิวอาร์โค้ดทุกครั้ง
2. เอาไปขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส (ขั้นต่ำ 15, 16 บาท) ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสรับชำระผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) แก่ผู้โดยสารที่ซื้อบัตรโดยสารแบบเที่ยวเดียว โดยใช้แอปฯ โมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking) ที่รองรับได้ทุกธนาคาร
วิธีการก็คือ เลือกสถานีปลายทาง ระบบจะแสดงราคา จำนวนตั๋ว เลือกสแกนคิวอาร์โค้ด (THAI QR PAYMENT) เปิดแอปฯ สแกนคิวอาร์โค้ดลงไป กดยืนยันบนหน้าจอมือถือ ระบบจะจ่ายตั๋วให้อัตโนมัติเมื่อทำรายการสำเร็จ
ถ้าเรามีเงินในบัญชีไม่พอกับค่าโดยสาร เราสามารถเลือกซื้อบัตรโดยสาร 1 สถานี ในราคา 15 หรือ 16 บาท แล้วเมื่อถึงสถานีปลายทาง ให้ติดต่อห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารเพื่อชำระค่าส่วนต่าง ก่อนสอดบัตรออกจากระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสได้
สำหรับคนที่ใช้บริการแรบบิท ไลน์ เพย์ (Rabbit LinePay) ที่ผูกกับบัตรแรบบิท สามารถเปลี่ยนวิธีการชำระเงิน จากกระเป๋าเงิน เป็นบัตรเดบิตที่ผูกกับแรบบิท ไลน์ เพย์ เพื่อชำระค่าโดยสารได้ โดยหักจากบัญชีธนาคารที่ผูกกับบัตรเดบิต
3. เอาไปจ่ายค่ารถเมล์ (ขึ้นอยู่กับราคาค่าโดยสาร) ปัจจุบัน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย อัพเกรดเครื่องแตะบัตร EDC บนรถประจำทาง ขสมก. 3,000 คัน รองรับชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด
โดยปกติแล้ว ถ้าบัตรเดบิตมีสัญลักษณ์คอนแทคเลส (Contactless) ซึ่งมีเฉพาะบัตรรุ่นใหม่ สามารถจ่ายค่ารถเมล์ได้ทันที ระบบจะตัดเงินจากบัญชีธนาคารที่ผูกกับบัตรเดบิตโดยอัตโนมัติ
แต่ถ้าจะให้การใช้งานเสถียรที่สุด แนะนำให้ซื้อ “บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก.” ในราคา 50 บาท สามารถเติมเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่อยู่ด้านหลังบัตร ได้ตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
(แนะนำสำหรับผู้ใช้แอปฯ SCB Easy ธนาคารไทยพาณิชย์ หลังเติมเงินสำเร็จ ให้ติดดาวแล้วตั้งชื่อ “เติมเงินบัตร ขสมก” เพื่อบันทึกเป็นรายการโปรด เติมเงินครั้งต่อไปก็เข้าไปที่เมนู “จ่ายบิล” จะแสดงรายการโปรดโดยไม่ต้องควักบัตรอีกต่อไป)
สำหรับวิธีการเช็กยอดเงินในบัตรโดยสาร นอกจากพนักงานเก็บค่าโดยสารจะแจ้งยอดเงินคงเหลือแล้ว สามารถเช็กยอดได้ที่ตู้เอทีเอ็มกรุงไทย แต่ต้องนำบัตรโดยสาร พร้อมบัตรประชาชน ไปขอรหัส 6 หลัก ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาก่อน
เมื่อผ่านขั้นตอนการขอรหัส และเปลี่ยนรหัสจากธนาคารเรียบร้อยแล้ว เมื่อทำรายการครั้งต่อไปเลือกเมนู “ถามยอด” เลือก “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” จะแสดงเงินคงเหลือในบัญชี และเงินคงเหลือที่ใช้ได้
4. เอาไปเติมเงินมือถือ (ขั้นต่ำ 5, 20 บาท ขึ้นอยู่กับเครือข่าย) สำหรับคนที่ใช้มือถือระบบเติมเงิน หรือซิมเติมเงิน นำเศษเงินในบัญชีไปเติมเงินมือถือได้ ผ่านช่องทางออนไลน์ ใช้บัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีธนาคาร
• เครือข่ายเอไอเอส วันทูคอล เติมเงินขั้นต่ำ 5 บาท ได้ที่แอปฯ My AIS
• เครือข่ายดีแทค เติมเงินขั้นต่ำ 20 บาท ได้ที่แอปฯ dtac และเว็บไซต์ดีแทค
• เครือข่ายทรูมูฟ เอช เติมเงินขั้นต่ำ 20 บาท ได้ที่แอปฯ True iServices
ข้อดีก็คือ เติมเงินผ่านช่องทางออนไลน์ รับวันใช้งาน 30 วัน สะสมวันใช้งานได้สูงสุด 365 วัน และไม่บวกค่าบริการเพิ่ม เมื่อเทียบกับตู้เติมเงินที่มักจะบวกค่าบริการ 1-3 บาทต่อครั้ง
5. เอาไปรูดซื้อของตามร้านค้าที่ไม่มีขั้นต่ำ ปัจจุบันมีห้างสรรพสินค้า ร้านค้าชั้นนำ ร้านฟาสต์ฟู้ด เช่น แมคโดนัลด์ และร้านสะดวกซื้อ เช่น แฟมิลี่มาร์ท ลอว์สัน 108 ฯลฯ สามารถนำบัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีธนาคาร ชำระเงินได้โดยไม่มีขั้นต่ำ
หรือหากไม่กล้าเผชิญหน้ากับแคชเชียร์ ยังมีตู้ให้บริการอัตโนมัติ เช่น ตู้กดเครื่องดื่มที่มีหน้าจอ รับชำระเงินทั้งบัตรเดบิตแบบคอนแทคเลส หรือคิวอาร์โค้ดผ่านโมบายแบงกิ้งของทุกธนาคาร
6. เอาไปฝากในบัญชีที่ดอกเบี้ยสูงกว่า สำหรับคนที่เย็นให้พอ รอให้ได้ อาจจะนำเศษเงินในบัญชีโอนไปยังบัญชีที่ได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา โดยส่วนมากจะเป็นบัญชีออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ มีให้เลือกหลายธนาคาร
7. เอาไปซื้อสลาก ธ.ก.ส. (ขั้นต่ำ 20 บาท) สำหรับคนที่ต้องการเสี่ยงโชคแบบไม่กินทุน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำหน่าย “สลากออมทรัพย์เกษตรยั่งยืน” หน่วยละ 20 บาท
สลากประเภทนี้ ออกรางวัลทุกวันที่ 16 ของทุกเดือน (ซื้อได้ทุกวันที่ 17 ของเดือน ถึงเวลา 23.00 น. วันที่ 15 ของเดือนถัดไป) อายุสลาก 2 ปี (24 งวด) รางวัลสูงสุด 2 ล้านบาทต่องวด ฝากครบ 2 ปีได้ดอกเบี้ย 0.20 บาทต่อหน่วย
วิธีการซื้อสลาก ต้องไปลงทะเบียนโดยเปิดบัญชี และสมัครแอปฯ “ธ.ก.ส. A-Mobile” ก่อนเพียงครั้งเดียว จากนั้นทำการซื้อสลากผ่านแอปฯ โดยโอนเงินเข้าบัญชี ธ.ก.ส. ที่มีอยู่ในแอปฯ ก่อน แล้วซื้อสลากผ่านแอปฯ ได้เลย
ข้อเสียของสลาก ธ.ก.ส. คือ รางวัลไม่ค่อยเร้าใจนักเสี่ยงโชค เมื่อเทียบกับสลากกินแบ่งรัฐบาล อีกทั้งไม่สามารถไถ่ถอนสลากได้ก่อนกำหนด ต้องถือยาวไป 2 ปี ถึงจะได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติ
8. เอาไปลงทุน บริษัทหลักทรัพย์บางแห่งที่อยู่ในเครือธนาคารชั้นนำ นอกจากจะเปิดบัญชีหุ้นฟรี ไม่มีค่านายหน้าขั้นต่ำในการซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชี Cash Balance แบบเรียลไทม์
คนที่มีบัญชีหุ้นอยู่แล้ว ถ้าบริษัทหลักทรัพย์ใดไม่จำกัดโอนเงินขั้นต่ำ ก็สามารถนำเศษเงินในบัญชีโอนไปใส่บัญชี Cash Balance เพื่อรอซื้อ-ขายหุ้นได้ โดยเงินสดในบัญชี บริษัทหลักทรัพย์จะมีดอกเบี้ยให้ เหมือนฝากเงินในบัญชีธนาคาร
การลงทุนอีกประเภทหนึ่งคือ “กองทุนรวม” มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบางแห่ง เปิดให้ซื้อขายบางกองทุนได้ในราคา 1 บาท แต่การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน จึงมีความเสี่ยงอาจจะไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน
9. เอาไปบริจาค (แล้วแต่ศรัทธา) ปัจจุบัน กรมสรรพากร ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (E-Donation) ให้ศาสนสถาน สถานศึกษา โรงพยาบาล และองค์กรสาธารณกุศล รับบริจาคผ่านคิวอาร์โค้ด
สามารถนำเศษเงินในบัญชีไปบริจาคได้ โดยสแกนคิวอาร์โค้ดของหน่วยรับบริจาค ผ่านโมบายแบงกิ้งทุกธนาคาร ถ้าจะใช้สิทธิลดหย่อน เลือก “ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้แก่กรมสรรพากร”
เราสามารถตรวจสอบการบริจาคผ่านช่องทาง E-Donation ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร (edonation.rd.go.th) และสามารถนำข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ ไปใช้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
ถ้านึกไม่ออกว่าจะไปบริจาคที่ไหน เข้าไปที่ “เว็บไซต์ปันบุญ” ธนาคารทหารไทย (TMB) (www.punboon.org) หรือเว็บไซต์ “QR สาธุ” ธนาคารออมสิน (www.gsb.or.th/Mymo/GSBQR-e-Donation.aspx)
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงไอเดียที่พอนำไปประยุกต์ใช้ได้ แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือน การมีเงินติดบัญชีเหลือแค่นี้ อาจมีผลต่อรายการเดินบัญชี (Statement) เราคงไม่อยากได้ยินคำว่า “สเตทเมนต์ไม่สวย” เวลาไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
แต่ถ้าไม่ซีเรียสกับเรื่องนี้ ลองนำวิธีที่กล่าวมาข้างต้นไปใช้กันดู ได้ผลหรือไม่อย่างไรก็บอกกล่าวกันบ้าง