กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ทุกวันนี้ธนาคารแต่ละแห่ง มักจะแนะนำให้ลูกค้าใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะธนาคารบนมือถือ (Mobile Banking) หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่กำลังแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง คือ บัญชีออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์
ธนาคารกสิกรไทย เป็นรายล่าสุดที่ออกผลิตภัณฑ์ “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์” (K-eSavings) ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการปัดฝุ่นบัญชีออมทรัพย์แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก ให้มาอยู่ในช่องทางแอปพลิเคชัน K PLUS
พร้อมเปิดตัวช่องทางยืนยันตัวตนแบบใหม่ผ่าน “จุดยืนยันตัวตน K-Check ID” โดยไม่ต้องรอพนักงานสาขา ด้วยการติดตั้งเครื่องคีออสและเครื่องอีดีซี ในสาขาของธนาคาร 380 แห่ง ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี และไปรษณีย์ไทยบางจังหวัด
ถ้าเป็นลูกค้ากสิกรไทยอยู่แล้ว อาจจะไม่รู้สึกตื่นเต้น เพราะลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชัน K PLUS กว่า 11 ล้านราย สามารถเปิดบัญชีผ่านแอปฯ ได้ทันทีโดยไม่มีขั้นต่ำ และไม่ต้องยืนยันตัวตนอีก โดยจะได้รับเลขที่บัญชีธนาคาร 10 หลัก
แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ลงมาทำสงครามดอกเบี้ยเงินฝาก สำหรับลูกค้ารายย่อย เพื่อส่งเสริมการออม โดยมีความยืดหยุ่นที่สามารถถอนเงินไว้ใช้ยามจำเป็น (หรือไม่จำเป็นก็ได้ เพราะธนาคารไม่ได้ถาม) ได้ทันทีโดยไม่ติดเงื่อนไข
ยอดเงินฝากไม่เกิน 1 แสนบาทแรก รับดอกเบี้ยสูงถึง 1.5% ต่อปี ตกเดือนละประมาณ 125 บาท จ่ายดอกเบี้ยเดือนมิถุนายน และธันวาคมของทุกปี แต่ยอดฝากส่วนเกิน เท่ากับบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาทั่วไป อยู่ที่ 0.5% ต่อปี
จึงเหมาะสำหรับคนที่ต้องการพักเงินก้อนจำนวนหนึ่ง หรือสะสมเงินเก็บเอาไว้ก่อน เพื่อรอจังหวะเอาไปใช้อย่างอื่น อาทิ เก็บเงินไปเที่ยว ซื้อของราคาแพง รอชำระหนี้ หรือลงทุนอย่างอื่น เช่น ซื้อทองคำ หุ้น กองทุนรวม ฯลฯ
อันที่จริงบัญชีออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ ถูกพัฒนามาจากบัญชีออมทรัพย์แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก แต่ที่ทำระบบเป็นเรื่องเป็นราวก็คือ ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี ได้ออกผลิตภัณฑ์ “บัญชี ME ฝากไม่ประจำ” เมื่อเดือนมกราคม 2555
ขณะนั้น ME ได้ทำระบบแยกมาจากธนาคารหลัก เน้นให้ลูกค้าทำรายการด้วยตัวเองผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดอกเบี้ยที่สูงกว่า แต่สมัยนั้นยังต้องทำรายการผ่านเว็บไซต์ mebytmb.com ก่อนที่จะมีแอปพลิเคชันเมื่อปี 2559 นี่เอง
ปัจจุบันเรียกว่า “บัญชี ME SAVE” สำหรับยอดเงินฝากไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้ดอกเบี้ย 1.4% ต่อปี แต่ถ้ายอดเงินฝากมากกว่าถอนจะได้ดอกเบี้ย 1.7% ส่วนเกิน 10 ล้านบาท ให้ดอกเบี้ย 0.5% จ่ายดอกเบี้ยสิ้นเดือนมิถุนายนและธันวาคม
หลังจากนั้นแต่ละธนาคาร ต่างก็ออกผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันอย่างต่อเนื่อง เน้นทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันเป็นหลัก สามารถโอนเงินสลับกันระหว่างบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา กับบัญชีออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงกว่าได้
เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ มีผลิตภัณฑ์ “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ อีซี่” แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก เปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy ที่มียอดผู้ใช้งานอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านราย เป็นรองก็เพียงแค่ K PLUS ของธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น
ถ้าลูกค้ามีแอปฯ SCB Easy อยู่แล้ว เปิดบัญชีง่ายๆ เพียงแค่มีเงินในบัญชีออมทรัพย์เดิมขั้นต่ำ 500 บาท ซึ่งเลขที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์อีซี่ จะอ้างอิงจากรหัสสาขาเดิม ถอนเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องคงยอดเงินในบัญชี
ปัจจุบัน ยอดเงินฝาก 5 ล้านบาทแรก ให้ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี ส่วนที่เกิน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกวันที่ 25 มิถุนายน และ 25 ธันวาคมของทุกปี สามารถทำรายการโอนเงิน และถอนเงินไม่ใช้บัตรได้
ธนาคารธนชาต มีผลิตภัณฑ์ “บัญชีออมทรัพย์ e-Savings” ควบคู่กับแอปพลิเคชัน Thanachart Connect แต่ต้องมีบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารอยู่แล้ว เช่น บัญชีออมทรัพย์มีระดับ บัญชีฟรีเว่อร์ไลท์ และต้องไปเปิดบัญชีที่สาขาก่อน
ปัจจุบันยอดเงินฝาก 1 ล้านบาทแรก ให้ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยเดือนมิถุนายน และธันวาคมของทุกปี แต่มีเงื่อนไขคือ ต้องคงยอดเงินในบัญชี 1,000 บาท จะถอนออกไม่ได้
ธนาคารทิสโก้ มีผลิตภัณฑ์ “บัญชีออมทรัพย์ TISCO My Savings” เมื่อทำรายการผ่านแอปพลิเคชัน TISCO เหมาะสำหรับคนที่มีเงินก้อนไปฝาก เพราะยอดฝากตั้งแต่ 30,000-100,000 บาท ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 2% ต่อปี
แต่ถ้าฝากต่ำกว่า 30,000 บาท ให้ดอกเบี้ยเพียง 0.15% ฝากมากกว่า 100,000-500,000 บาท ดอกเบี้ย 1.45% ต่อปี และส่วนที่เกิน 500,000 บาทขึ้นไป ให้ดอกเบี้ยเพียง 0.25% เปิดบัญชีขั้นต่ำ 1,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยทุกวันที่ 25 ของเดือน
เข้าสู่ปี 2562 ธนาคารยูโอบี ออกบริการธนาคารรูปแบบใหม่ที่ชื่อ “TMRW” (ทูมอร์โรว์) ผ่านแอปพลิเคชัน TMRW TH แยกเป็นบัญชี TMRW Everyday พ่วงบัตรเดบิต และบัญชี TMRW Savings ที่อยู่ในเมนู City of TMRW
โดยบัญชีเพื่อออม “TMRW Savings” ให้ดอกเบี้ย 1.6% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่เงื่อนไขก็คือต้องโอนเงินจากบัญชี TMRW Everyday เท่านั้น สูงสุดไม่เกิน 1 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3,000 บาทต่อวัน จึงเหมาะสำหรับคนที่มีวินัยในการออมอย่างยิ่ง
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ออกผลิตภัณฑ์ “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ดิจิทัล ซีไอเอ็มบี ไทย” แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก ผ่านแอปพลิเคชัน myCIMB ที่ลูกค้าฮือฮาก็คือสมัครบัตรเดบิตฟรี ถอนเงินทุกตู้ก็ฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียมทั้งแรกเข้าและรายปี
ช่วงแนะนำถึง 30 กันยายน 2562 ยอดเงินฝากตั้งแต่ 500-100,000 บาท ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 2% ต่อปี ส่วนที่เกิน ดอกเบี้ย 0.4% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่มีเงื่อนไขคือ ถ้ายอดเงินในบัญชีต่ำกว่า 500 บาท จะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้
การเปิดบัญชีออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งที่ควรพิจารณานอกจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง คือ “ความสะดวกในการใช้บริการ” เพราะปัจจุบันถ้าเพิ่มบัญชีในแอปพลิเคชันแล้ว สามารถโอนเงินระหว่างบัญชีตัวเองในธนาคารเดียวกันได้ฟรี
บางคนอาจจะรับเงินเดือนผ่านธนาคารนั้นๆ อยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา ดอกเบี้ย 0.25-0.5% เท่านั้น ก็เลือกที่จะโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน ไปยังบัญชีออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงกว่า
แต่หากเลือกที่จะฝากเงินต่างธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารที่เราไม่ได้ใช้ประจำ แม้ปัจจุบันจะโอนเงินเงินต่างธนาคารผ่านแอปพลิเคชันได้ฟรีก็ตาม แต่ก็ต้องพิจารณาให้แน่ใจว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตอบโจทย์ตัวเองได้จริง
ที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ “ค่ารักษาบัญชี” ส่วนใหญ่หากบัญชีไม่มีการเคลื่อนไหวมากกว่า 1 ปี และมียอดเงินคงเหลือน้อยกว่า 2,000 บาท จะถูกหักค่ารักษาบัญชีเป็นประจำทุกเดือน จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่ แล้วออมเงินให้ได้สม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม บัญชีเหล่านี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีสินทรัพย์จำนวนมาก เพราะมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท จึงเลือกที่จะกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนอย่างอื่น
แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือน แตกต่างจากเศรษฐี เพราะคนที่จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาทต่อปี จะต้องมีเงินในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาท จึงจะเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% เพราะฉะนั้นถ้ารายรับไม่กี่หมื่น ก็ไม่ต้องไปคิดมากให้ปวดหัว
วัตถุประสงค์ของบัญชีออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากจะจูงใจให้ลูกค้าหันมาใช้โมบายแบงกิ้งแทนสาขาของธนาคารแล้ว ยังเป็นเครื่องมือการออมที่ใกล้ตัว ง่าย สะดวก และปลอดภัยที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าจะลงมือออมเงินหรือไม่ก็เท่านั้น
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า การออมเงินยิ่งทำช้าเท่าไหร่ เป้าหมายในชีวิตก็ยิ่งห่างไกลออกไปเท่านั้น จึงควรออมอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างวินัย และอย่าเพิ่งคิดลงทุนถ้าไม่มีเงินออมมากพอ