กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ทราบมาจากเพจ Thai-Cashless-Society สังคมไทยไร้เงินสด ว่า มีบัญชีธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย อยู่ตัวหนึ่ง ดอกเบี้ย 2% แถมได้บัตรเดบิตฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี
บัญชีนี้มีชื่อว่า “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ดิจิทัล ซีไอเอ็มบี ไทย” (CIMB THAI Digital Savings) ให้บริการไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา เมื่อฝากเงินตั้งแต่ 500-100,000 บาท รับดอกเบี้ย 2% ต่อปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562
ทีแรกนึกว่าตาฝาด เพราะแทบทุกธนาคารมักจะฟรีเฉพาะค่าธรรมเนียมแรกเข้า (ออกบัตรใหม่ครั้งแรก) และค่าธรรมเนียมรายปี เฉพาะปีแรกเท่านั้น ปีต่อไปเสียค่าธรรมเนียม 200-400 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับประเภทของบัตร
แต่พอไปอ่าน อัตราค่าธรรมเนียมของธนาคารฯ ที่ประกาศล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 พบว่า “ไม่คิดค่าบริการ” ทั้งค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปีจริงๆ
พร้อมกันนี้ ยังประกาศไม่คิดค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีออมทรัพย์ Beat Savings สำหรับลูกค้าเอไอเอส จากที่ก่อนหน้านี้หักเงินเพื่อคิดค่าธรรมเนียมรายปี 300 บาทมาตลอด แต่ต้องเป็นบัตรที่รองรับมาตรฐานชิปการ์ดไทยเท่านั้น
จริงๆ แล้ว ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารไทยรายแรกที่ใช้บัตรเดบิตระบบวีซ่า เพย์เวฟ (VISA Paywave) ให้บริการเมื่อปี 2558 ก่อนที่สังคมไร้เงินสดจะเข้ามามีบทบาทในอีก 2-3 ปีต่อมา แต่ละธนาคารจึงออกบัตรคอนแทคเลส (Contactless) กันหมด
เห็นอย่างนี้แล้ว ลองหาเวลาเปิดบัญชี และบัตรเดบิตแบบ “ฟรีค่าธรรมเนียม” กันดู ...
การเปิดบัญชีดิจิทัล เซฟวิ่ง ของซีไอเอ็มบี ไทย ถ้าเป็นลูกค้าธนาคารนี้อยู่แล้ว สามารถเปิดบัญชีได้ผ่านแอปพลิเคชัน “myCIMB” และสมัครบัตรเดบิตได้ที่เว็บไซต์ digital.cimbthai.com โดยจะจัดส่งบัตรทางไปรษณีย์ภายใน 1 สัปดาห์
แต่ถ้าใครไม่มีบัญชีธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มาก่อน หรือเคยมีแต่ถูกลบออกจากระบบไปแล้ว สามารถเปิดบัญชีได้ที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขา ใช้เฉพาะบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่มีขั้นต่ำในการเปิดบัญชี (0 บาท)
ปัจจุบัน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มีสาขาให้บริการประมาณ 70 สาขา ต่างจังหวัดอาจจะหายาก แต่ในกรุงเทพฯ มีสาขาที่เปิดบริการทุกวันตามศูนย์การค้า เช่น เซ็นทรัลพลาซา เดอะมอลล์ ฟิวเจอร์พาร์ค แฟชั่นไอส์แลนด์ เมกาบางนา ฯลฯ
เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนไปเปิดบัญชีที่ สาขาสยามพารากอน ชั้น 5 บริเวณโซนคิดซาเนีย (KidZania) เพราะรีวิวจากเพจข้างต้น เกรงว่าหากเปิดบัญชีที่สาขาอื่น อาจพบพนักงานที่ไม่เข้าใจผลิตภัณฑ์ (ซึ่งเคยโดนมาแล้วกับธนาคารอื่น)
เราบอกกับพนักงานว่าจะเปิดบัญชีดิจิทัล พนักงานก็กดบัตรคิว แล้วให้ไปนั่งรอที่เก้าอี้ สังเกตเห็นลูกค้าทยอยมาเปิดบัญชีดิจิทัล เซฟวิ่ง อย่างไม่ขาดสาย ทำให้ใช้เวลารอนานสักหน่อย ระหว่างนั้นก็นั่งอ่านหนังสือพิมพ์บนโต๊ะไปพลางๆ
สักพักก็ถึงคิว พนักงานก็จะให้กรอกแบบฟอร์มเล็กๆ เช่น เบอร์มือถือ อีเมล อาชีพ รายได้ต่อเดือน ที่อยู่ที่ทำงาน ที่อยู่ที่บ้าน แล้วก็ส่งให้พนักงาน ก่อนจะกลับไปนั่งรอ ใช้เวลารอพนักงานคีย์ข้อมูลประมาณ 10 นาที ก็จะนำเอกสารมาให้เซ็น
สิ่งที่จะได้ติดไม้ติดมือกลับไป ได้แก่ บัตรเดบิตในซอง (ไม่มีรหัสบัตร) ใบเปย์อิน ขีดไฮไลท์เลขที่บัญชีให้ และเอกสารเปิดเผยข้อมูลขั้นต่ำ (Sale Sheet) ไม่มีสมุดคู่ฝาก แต่จะส่ง e-Statement ให้กับลูกค้าทางอีเมลทุกเดือน
แนะนำว่า หลังเปิดบัญชีไปแล้ว ควรจดเลขที่บัญชีเก็บไว้ หรือตั้งค่า “รายการโปรด” จากแอปพลิเคชันธนาคารอื่น เพื่อโอนเงินมายังบัญชีนี้ได้ฟรี เพราะในแอปฯ myCIMB ไม่ได้แสดงผลเลขที่บัญชีทั้งหมด
พนักงานบอกว่า ช่วงนี้มีคนมาเปิดบัญชีดิจิตอลกันเยอะ ทั้งนักศึกษา พนักงานบริษัท ทราบมาว่าหลังจากรีวิวเพจนี้เผยแพร่ ก็เริ่มมีผู้คนตามไปเปิดบัญชีจำนวนมาก กระทั่งพบว่าบางสาขาบัตรหมดไปแล้ว
ถึงกระนั้น พนักงานเองก็เพิ่งทราบว่า มีการรีวิวผ่านโซเชียลมีเดียด้วย ถือว่าเป็นกลยุทธ์ “ปากต่อปาก” ที่ได้ผล
แต่ไม่รู้ว่าหลังจากวันที่ 30 กันยายน 2562 ไปแล้ว ลูกค้าที่เปิดบัญชีใหม่นับจากนั้นมา จะยังฟรีค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตตลอดชีพ (หรือตลอดอายุบัตร) หรือเปล่า เพราะดูเหมือนว่าโปรโมชั่นนี้แรงจนน่าเป็นห่วง
วิธีเปิดใชับัตรเดบิตทำได้ 2 วิธี คือ ผ่านเว็บไซต์ digital.cimbthai.com ซึ่งสะดวกที่สุด อีกวิธีหนึ่งโทร.ไปที่ 02-626-7777 กด 3 กด 1 กดหมายเลขบัตร 16 หลัก ตอบคำถามยืนยันตัวตน รอรับรหัสผ่าน SMS แล้วไปเปลี่ยนรหัสใหม่ที่ตู้เอทีเอ็ม
สำหรับอัตราดอกเบี้ย ตั้งแต่ 500-100,000 บาท ได้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี (ฝาก 1 แสนบาท ได้ดอกเบี้ยเดือนละประมาณ 160 บาทเศษ) ส่วนที่เกิน 1 แสนบาท ได้ดอกเบี้ย 0.40% จ่ายดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน
ถ้ามียอดเงินคงเหลือต่ำกว่า 500 บาท ธนาคารจะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ ถ้าบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกิน 1 ปี และมียอดเงินคงเหลือต่ำกว่า 2,000 บาท จะคิดค่ารักษาบัญชี 50 บาทต่อเดือน จนกว่าเหลือ 0 บาทจะปิดบัญชีอัตโนมัติ
ส่วนบัตรเดบิต Digital Savings (รองรับมาตรฐานชิปการ์ดไทย) ไม่มีชื่อหน้าบัตร อายุบัตร 5 ปี สามารถถอนเงินสดได้สูงสุด 100,000 บาทต่อวัน และสูงสุดวันละ 8 ครั้ง ถอนเงินสดและสอบถามยอดทุกตู้ทั่วประเทศฟรีไม่จำกัดจำนวน
ใช้รูดซื้อสินค้าและบริการ ตามร้านค้าที่รับบัตร VISA และช้อปออนไลน์ รวมทั้งรองรับ VISA Paywave สำหรับร้านอาหาร ฟาสฟู้ด และรถประจำทาง (เฉพาะสาย 510 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)
ถ้าไปประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ถอนเงินและสอบถามยอดฟรีที่ตู้เอทีเอ็มกลุ่มซีไอเอ็มบี ไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ถ้าธนาคารอื่นคิด 100 บาทต่อครั้ง ส่วนการใช้จ่ายในต่างประเทศ ยังคิดค่าธรรมเนียมแปลงสกุลเงิน 2.5%
ตู้เอทีเอ็มซีไอเอ็มบีในมาเลเซียค่อนข้างหาง่าย เช่นเดียวกับที่อินโดนีเซีย แต่ถ้าไปสิงคโปร์มีที่ราฟเฟิลส์ เพลส และถนนออร์ชาร์ด ส่วนที่กัมพูชามีในกรุงพนมเปญประมาณ 20 เครื่อง นอกนั้นมีที่พระตะบอง กำปงจาม สีหนุวิลล์ และเสียมเรียบ
ส่วนแอปพลิเคชั่นมือถือ myCIMB ใช้เช็กยอด โอนเงินฟรีทุกธนาคาร และยังเชื่อมโยงระบบซื้อขายกองทุนรวมด้วย วิธีสมัครคือใช้รหัสบัตรเดบิต 16 หลัก และรหัส ATM 6 หลักในการสมัคร ข้อเสียคือ ยังไม่รองรับการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด
อย่างไรก็ตาม หากฝากเงินที่สาขาต่างจังหวัดยังเสียค่าคู่สาย 20 บาท ยกเว้นฝากผ่านเครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติ (CDM) ข้ามเขตสำนักหักบัญชีได้ฟรี รวมทั้งฝากเงินได้ที่ไปรษณีย์ไทย สูงสุด 50,000 บาทต่อรายการ หรือ 100,000 บาทต่อวัน
ทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เพื่อแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) รับฝาก ถอนเงินสด หลังเป็นพันธมิตรเปิดสาขาในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นมา 2 ปี หากทำได้จริงจะสามารถฝาก-ถอนเงินได้ง่ายขึ้น
ข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า นอกจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่มีบัตรเดบิตฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีตลอดอายุบัตรแล้ว ยังมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทิสโก้
แต่เมื่อศึกษาข้อมูลพบว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีบัตรกรุงศรี เดบิต โน แอนนวล ฟี (No Annual Fee) แต่มีเงื่อนไขคือ ต้องมียอดเงินฝากคงเหลือไม่ต่ำกว่า 15,000 บาททุกเดือน และต้องสมัคร SMS Banking เดือนละ 19 บาทต่อบัญชี
ขณะที่ธนาคารทิสโก้ มีบัตรเดบิต TPN (Thai Payment Network) ใช้ได้เฉพาะในประเทศไทย ให้บริการเฉพาะลูกค้าบัญชีซุปเปอร์ออมทรัพย์ และบัญชีกระแสรายวันพิเศษ ซึ่งต้องมียอดเงินฝากคงเหลือไม่ต่ำกว่า 100,000 บาททุกเดือน
นอกนั้นจะเป็นของลูกค้ากลุ่มเวลธ์ (มีสินทรัพย์กับธนาคารมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเฉพาะ ขออนุญาตไม่พูดถึงตรงนี้ เช่นเดียวกับบัญชีเงินฝากพื้นฐาน ที่สงวนไว้เฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น
ส่วนบัตรเดบิตที่จ่ายเฉพาะค่าธรรมเนียมออกบัตร อาทิ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มี บัตรกรุงศรี เดบิต ออล เอทีเอ็ม (All ATMs) ค่าธรรมเนียม 480 บาท ใช้ได้ 3 ปี แต่ก็ต้องสมัคร SMS Banking เดือนละ 19 บาทต่อบัญชีอยู่ดี
ธนาคารทหารไทย มีบัตรเดบิต ทีเอ็มบี ไลท์ (TMB Lite) ค่าธรรมเนียม 500 บาท ใช้ได้ 5 ปี ฟรีเฉพาะธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มของทีเอ็มบีเท่านั้น แต่ถ้ากดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารอื่น เสียค่าธรรมเนียม 10-20 บาท ตั้งแต่ครั้งแรก
ส่วนผลิตภัณฑ์ยอดนิยม บัตรเดบิต ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี (TMB All Free) ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 500 บาท รายปี 350 บาท แต่ถ้ามียอดใช้จ่ายสะสม 15,000 บาทขึ้นไปต่อปีจะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ หรือลูกค้าบัตรเครดิตและซื้อกองทุนตามเงื่อนไข
แม้อาจมองว่า เดี๋ยวนี้แอปพลิเคชันมีบริการกดเงินไม่ใช้บัตรกันแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังจำเป็นต้องใช้บัตรเดบิตในการถอนเงิน หรือใช้จ่ายแทนเงินสด บัตรเดบิตฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้นับร้อยบาทต่อปี
อีกทั้งธนาคารฯ อาจมองว่า ยังสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีบัญชีมาก่อน ผลักดันให้ลูกค้าต่อยอดไปใช้บริการทางการเงินอื่นๆ ของธนาคารเพิ่มเติม ชดเชยจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่างๆ ได้อีกด้วย