xs
xsm
sm
md
lg

“บัตรพรีเพด” รูดจ่ายเมืองนอกดีจริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ช่วงนี้สองธนาคารชั้นนำอย่าง “กสิกรไทย” และ “ไทยพาณิชย์” ต่างแข่งกันออกบัตรเติมเงิน (Prepaid Card) สำหรับใช้จ่ายที่ต่างประเทศแทนเงินสด ไม่เสียค่า FX Rate หรือค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5%

นอกจากจะเปิดให้สมัครบัตรได้ฟรีผ่านแอปพลิเคชัน โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า แถมส่งบัตรฟรีทางไปรษณีย์ถึงบ้านแล้ว ยังอัดแน่นด้วยโปรโมชั่นแก่ผู้สมัครและใช้จ่ายผ่านบัตร ชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมใครอีกด้วย

ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบัตร “พลาเน็ต เอสซีบี” (PLANET SCB) แลกเงินต่างประเทศได้เรทดีเท่าร้านแลกเงิน รองรับ 13 สกุลเงิน ทำรายการผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy รูดใช้จ่ายที่ร้านค้าหรือช้อปออนไลน์ที่รับบัตร VISA ได้ทั่วโลก

ส่วนธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ ยู เทคโนโลยี กรุ๊ป สตาร์ทอัพฟินเทคจากสิงคโปร์ ออกบัตร “ยูทริป” (YouTrip) พร้อมกับแอปพลิเคชัน YouTrip กระเป๋าเงินดิจิทัลในรูปแบบ Multi-Currency Travel Wallet แลกเงินล่วงหน้าได้ 10 สกุลเงิน

การทำรายการผ่านบัตรยูทริป จะแยกออกจากแอปพลิเคชัน K PLUS ที่มีผู้ใช้งานราว 11 ล้านคนต่างหาก เพื่อไม่ให้แออัดเกินไป แต่ก็เชื่อมโยงข้อมูลกันในขั้นตอนการสมัครบัตร และการเติมเงินจากบัญชีลงในบัตร

ยังมีโปรโมชั่นแรงที่สุดแห่งปี เมื่อใช้จ่ายครั้งแรกผ่านบัตรยูทริป เท่าไหร่ก็ได้ไม่มีขั้นต่ำ รับเงินโบนัส 200 บาท สำหรับ 50,000 คนแรก ทำเอาผู้คนดาวน์โหลดและสมัครบัตร เฉพาะวันแรกหลังเปิดตัวมากกว่า 16,000 ราย

ว่ากันว่า บางคนแค่ใช้จ่ายผ่านบัตรเพียง 1 บาท ก็เตรียมรับเงินเข้าบัญชี 200 บาทได้แล้ว!

ภาพ : KBANK
ก่อนหน้านี้เห็นกสิกรไทยออกบัตรเดบิตเจอร์นี (Journey) ให้เข้ามิราเคิล เลาจน์ ฟรี 1 สิทธิ์ต่อปีปฏิทิน ไทยพาณิชย์ก็เลยออกโปรโมชั่น ให้แลกเงินผ่านแอปฯ 5,000 บาท 1,000 คนแรกของเดือน ฟรีบัตรกำนัลมิราเคิล เลาจน์ เกทับกันเสียเลย

แถมยังให้เครดิตเงินคืน สูงสุด 1,000 บาท แก่ผู้ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรสกุลเงินต่างประเทศตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป 4,000 คนแรก ถ้าใครใช้จ่ายสูงสุด (Top Spender) ลุ้นบินฟรีญี่ปุ่น พร้อมเงินติดกระเป๋า 10,000 บาทอีกด้วย

ฟากของธนาคารกรุงไทย ที่ออกบัตร “กรุงไทย ทราเวล การ์ด” (Krungthai Travel Card) มานานเกือบ 2 ปีก็เลยเกทับ รับเครดิตเงินคืนง่ายๆ เมื่อใช้จ่ายที่ญี่ปุ่น 4,000 บาทขึ้นไปรับ 400 บาท ใช้จ่ายประเทศอื่นๆ รับ 300 บาท 2,000 คนแรก

แม้บัตรกรุงไทย ทราเวล การ์ด จะต้องออกบัตรและนัดรับบัตรที่สาขา ไม่มีส่งไปรษณีย์ถึงบ้าน แต่ฟรีค่าธรรมเนียมถึง 31 มกราคม 2563 ส่วนบัตรพลาเน็ต เอสซีบี สมัครฟรีถึง 31 ธันวาคม 2562 บัตรยูทริป ฟรีค่าธรรมเนียมถึง 31 ตุลาคม 2563

บางคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อมีผลิตภัณฑ์บัตรเดบิต (Debit Card) บางธนาคาร ที่รูดจ่ายเมืองนอกไม่ชาร์จค่า FX Rate 2.5% อยู่แล้ว ทำไมถึงต้องออกบัตรพรีเพดอีก?


บัตรพรีเพด (Prepaid) เป็นบัตรเติมเงินที่ผูกกับตัวบัตร หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ลูกค้าต้องเติมเงินลงไปในบัตรก่อนจึงจะใช้งานได้ แตกต่างจากบัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน สามารถรูดจ่ายได้เลย

บางคนอยากถือเป็นบัตรเดบิต เพราะไม่อยากค้างเงินไว้ในบัตรหรืออี-วอลเลต แต่ก็มีความเสี่ยงสูง เมื่อบัตรสูญหายหรือถูกขโมย หากอายัดบัตรไม่ทัน คนร้ายก็จะใช้จ่ายผ่านบัตรกระทั่งเงินในบัญชีหมดเกลี้ยง!

การออกบัตรพรีเพดสำหรับใช้จ่ายที่ต่างประเทศ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เพิ่มความสะดวก ปลอดภัย แยกจากบัญชีธนาคารต่างหาก เมื่อต้องการใช้จ่ายก็แค่เติมเงินลงในบัตร แลกเงินตามสกุลที่ต้องการเพื่อใช้จ่ายที่ประเทศนั้นๆ ในอัตราพิเศษ

อีกทั้งเมื่อพบอัตราแลกเปลี่ยนที่เราพอใจ สามารถแลกเงินสกุลต่างประเทศที่ต้องการ เก็บไว้ในบัตรหรืออี-วอลเลตก่อนได้ แตกต่างจากบัตรเดบิตที่ต้องรูดจ่ายในอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ทำรายการ

นอกจากนี้ บัตรพรีเพดทั้ง 3 ธนาคาร เป็นบัตรที่มีสัญลักษณ์ “คอนแทคเลส” (Contactless) สามารถใช้กับระบบขนส่งมวลชนต่างประเทศที่รองรับได้ โดยไม่ต้องซื้อบัตรโดยสารแต่อย่างใด เช่น ใช้แทนบัตรอีซี่ลิงก์ (EZ-LINK) ประเทศสิงคโปร์

บัตรนี้มีข้อจำกัดบางประการ คือ อายุการใช้งานที่สั้นกว่า เพียงแค่ 2-3 ปี ไม่สามารถกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มในประเทศไทยได้ (เพราะไม่ใช่บัตรเดบิต) แต่สามารถซื้อสินค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ต่างประเทศ ด้วยสกุลเงินที่บัตรรองรับเท่านั้น

ส่วนบัตรพลาเน็ต เอสซีบี และบัตรยูทริป สามารถใช้จ่ายผ่านร้านค้า และเว็บไซต์ในประเทศไทยได้ โดยสกุลเงินบาทจะหักจากยอดเงินในบัตร หรืออี-วอลเลตที่ยังไม่ถูกแลกเป็นสกุลเงินต่างประเทศก่อนเป็นอันดับแรก

สิ่งที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่งก็คือ เงินสกุลต่างประเทศ รวมทั้งสกุลเงินบาทที่อยู่ในบัตรพรีเพดเหล่านี้ จะไม่ได้รับดอกเบี้ย แตกต่างจากบัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา แต่ดอกเบี้ยน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ

ภาพ : Krungthai Care
เท่าที่ศึกษาจากคนที่ใช้งานจริงพบว่า บัตรพรีเพดเหล่านี้มีปัญหาพอสมควร เมื่อต้องแลกเงิน หรือเติมเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารโดยตรง ย่อมทราบกันดีว่า ช่วงปลายเดือนระบบมักจะล่าช้าและล่มบ่อยครั้ง

อย่างต่อมา คือ แต่ละร้านค้าที่ต่างประเทศมีวิธีเรียกเก็บเงินไม่เหมือนกัน เช่น ปั๊มน้ำมัน หรือบัตรทางด่วน มักจะหักเงินในบัตรเพื่อกันวงเงินไว้ ก่อนที่จะเรียกเก็บยอดที่แท้จริงกับธนาคาร ถ้ายอดไม่ถึงก็จะคืนเงินส่วนต่างแล้วแต่ร้านค้ากำหนด

แต่ถ้ายอดที่แท้จริงเกินกว่าวงเงินที่กันไว้ ธนาคารจะหักเงินจากบัตร ถ้าลูกค้าบางรายแลกเงินบาทโอนกลับเข้าบัญชีไปแล้ว ธนาคารหักเงินจากยอดในบัตรไม่ได้ ก็จะส่งจดหมายแจ้งผู้ถือบัตรเพื่อเรียกเก็บยอดใช้จ่ายตามที่ร้านค้าแจ้งมา

เพราะฉะนั้น จึงมีคำแนะนำจากคนที่เคยถูกธนาคารเรียกเก็บยอดใช้จ่ายว่า หลังกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว ควรคงเงินไว้ในบัตรพรีเพดอย่างน้อย 7-14 วัน ก่อนทำการแลกเงินและโอนกลับเข้าบัญชีธนาคาร

อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ใช้งานจริงพบเป็นประจำก็คือ รูดบัตรที่ร้านค้าแล้วไม่อนุมัติรายการ แต่พบว่าถูกตัดยอดเงินไปแล้ว อาจเกิดจากการสื่อสารขัดข้อง ระหว่างธนาคารส่งข้อมูลมาที่ร้านค้า แนะนำให้รีบแจ้งธนาคารทันที

นอกจากนี้ ยังพบปัญหากดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มต่างประเทศไม่ได้ แม้จะมีสัญลักษณ์รองรับก็ตาม ถ้าไม่ได้ปิดการใช้งาน ก็อาจจะเกิดจากการสื่อสารขัดข้อง แต่การกดเงินสดมีค่าธรรมเนียมทั้งธนาคารฝั่งไทย และธนาคารที่ต่างประเทศ

เพราะฉะนั้น การเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ควรพกเงินไว้ ด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ควรแบ่งควบคู่กันไป เช่น ธนบัตรสกุลต่างประเทศส่วนหนึ่ง บัตรพรีเพดอีกส่วนหนึ่ง รวมทั้งพกบัตรเดบิตกับบัตรเครดิตไว้เผื่อฉุกเฉินไปด้วย


สิ่งที่ต้องระวังในการใช้งานก็คือ เก็บรักษาบัตรไว้กับตัว และเนื่องจากเป็นบัตรแบบคอนแทคเลส อาจจะหาอุปกรณ์ใส่บัตรโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการจับสัญญาณ RFID จากกลุ่มมิจฉาชีพขโมยข้อมูลในบัตรไปปลอมแปลงเสียเอง

ที่สำคัญ บัตรใบนี้เสมือนมีเงินสดอยู่ในตัว หากพบว่าบัตรสูญหาย ให้รีบปิดการใช้งานบัตรทันที เพราะมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินในบัตร ก่อนอายัดและออกบัตรใหม่ โดยธนาคารอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม

ถ้าถามว่าบัตรพรีเพดการ์ดใบไหนดีที่สุด ควรเริ่มต้นควรพิจารณาจาก “ค่าธรรมเนียม” ก่อน ช่วงนี้ทั้งสามธนาคารออกบัตรใหม่ฟรีทั้งหมด แต่เนื่องจากอายุบัตรเพียงแค่ 2 ปี หรือ 3 ปี บางธนาคารจึงไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี

แต่อย่าเพิ่งปักใจเชื่อโฆษณาว่า “ฟรีค่าธรรมเนียมออกบัตร ค่าธรรมเนียมรายปี” ควรศึกษาอัตราค่าธรรมเนียมจากธนาคารโดยตรง เพราะเผลอๆ ปีหน้าอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปีก็ได้ ถึงตอนนั้นอาจมีบางคนยกเลิกใช้บัตรไปเลยก็มี

ที่สุดแล้ว หากได้ลองใช้งานไปเรื่อยๆ จะค้นพบด้วยตัวเองว่า บัตรใบไหนเหมาะกับการใช้งานต่างประเทศสำหรับเรามากที่สุด เหมือนทุกวันนี้เราพกบัตรเดบิตกันน้อยลง เพราะไม่อยากแบกรับค่าธรรมเนียมรายปีนั่นเอง

หมายเหตุ : ธนาคารผู้ออกบัตรทุกแห่ง กำหนดห้ามใช้งานบัตรพรีเพดผิดวัตถุประสงค์ของบัตร เช่น การเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน ควรใช้บัตรเพื่อใช้จ่าย ซื้อ-ขายสินค้าและบริการเท่านั้น หากฝ่าฝืนผู้ให้บริการจะสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกบัตร และอาจเรียกเก็บค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น