กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
หลังจากที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ขยายโครงการรับชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสดบนรถโดยสารของ ขสมก.ทุกคัน รวมกว่า 3,000 คัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ดูเหมือนว่ายังคงขลุกขลักพอสมควร
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เราเคยรีวิว “บัตร ขสมก.คอนแทคเลส พรีเพด” มาตั้งแต่ ขสมก. ทดสอบการชำระค่าโดยสารโดยไม่รับเงินสด นำร่องสาย 510 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2562
กระทั่ง ขสมก. นำมาใช้จริงกับรถเมล์ทุกคัน ทีแรกมีคนดรามากันใหญ่ เพราะเข้าใจว่า รถเมล์ ขสมก. จะไม่รับเงินสด ภายหลังพบว่าเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการจ่ายค่ารถเมล์เท่านั้น
ใครสะดวกใช้เงินสดเหมือนเดิมก็ใช้ไป ใครมีบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ก็ใช้บัตรแตะที่เครื่องเพื่อจ่ายเพียงแค่นั้น
นอกจากบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. แล้ว บัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส เช่น VISA PayWave ยังชำระค่าโดยสาร ขสมก. ได้ โดยรายการใช้จ่ายจะระบุว่า “BMTA ZONE … GRO” (ตามเขตการเดินรถที่ 1-8)
แต่ก็กลัวว่าระบบจะไม่เสถียร ตัดสินใจใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. อย่างเดียวไปเลยดีกว่า
สำหรับคนที่ใช้บัตรโดยสารล่วงหน้ารายสัปดาห์และรายเดือนเป็นบัตรกระดาษ ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นบัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์แบบบัตรแข็งแล้ว ซื้อบัตรเพียงครั้งเดียว แล้วเติมเงินตามรอบผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อใช้งาน
ระบบนี้ดีกว่าบัตรโดยสารล่วงหน้าแบบกระดาษ เพราะจะต้องถูกพนักงานเก็บค่าโดยสารนำบัตรไปตรวจสอบที่เครื่อง EDC ทุกครั้ง ต่างจากเมื่อก่อนมีคนปลอมแปลงบัตรโดยสารล่วงหน้าแบบกระดาษเพื่อขึ้นรถเมล์ฟรี ซึ่งมีคนทำแบบนี้หลายราย
ที่เห็นแล้วสงสารก็คือ “พนักงานเก็บค่าโดยสาร” เพราะเครื่อง EDC ที่ธนาคารกรุงไทยให้ ขสมก. กว่า 3,000 เครื่องมาตั้งแต่ต้นปี มีขนาดใหญ่เทอะทะและหนักมาก ต้องหิ้วสะพายคู่กับถือกระบอกตั๋วตลอดทั้งวัน การทำงานไม่สะดวก
ยิ่งพนักงานที่เจอ อายุอานามไม่ใช่น้อยๆ นึกเป็นห่วงว่า หากไม่คิดจะเปลี่ยนเครื่อง EDC ออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด มีน้ำหนักเบากว่านี้ ใช้งานได้ยาวนาน เกรงว่าจะเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น อาการกระดูกสันหลังคดเสียก่อน
ครั้นจะให้เป็นระบบ e-Ticket ติดตั้งเครื่องแตะบัตรแบบคราวที่แล้ว ซึ่ง ขสมก.ยกเลิกสัญญาไป ก็อาจจะต้องเจอ “คนหัวหมอ” ทำเนียนไม่แตะบัตรอีก ทั้งที่การหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าโดยสาร ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
การมีพนักงานเก็บค่าโดยสารถือว่ามีประโยชน์ ในยามที่สังคมไทยทุกวันนี้มีแต่คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น
ผลสำรวจจาก “กรุงเทพโพลล์” ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ น่าสังเกตว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เกินครึ่งทราบว่า ขสมก. เริ่มรับชำระค่ารถเมล์แบบไร้เงินสดเต็มรูปแบบทุกคัน ส่วนมากทราบจากข่าวผ่านสื่อหลักและสื่อโซเชียล
แต่ส่วนใหญ่เกือบ 90% ยังคงจ่ายค่ารถเมล์ด้วยเงินสด มีเพียง 5% ที่ใช้บัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เปลี่ยนมาจากบัตรโดยสารล่วงหน้าแบบกระดาษ ส่วนคนที่ใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) เพียง 1.4% เท่านั้น
แม้ความเห็นจากผลสำรวจส่วนใหญ่มองว่าสะดวก ไม่ต้องพกเหรียญหรือหาเหรียญไว้จ่ายค่ารถเมล์ แต่ส่วนใหญ่กังวลระบบล่ม สัญญาณมีปัญหาขณะเก็บเงิน รวมทั้งคนยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีใช้งาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
อีกทั้งยังมองว่า พนักงานเก็บเงิน หรือ “กระเป๋ารถเมล์” ยังคงมีความจำเป็นสำหรับสังคมไทย
อ่านประกอบ : คนกรุงเกินครึ่งเล็กน้อยรู้รถเมล์รับค่าโดยสารแบบ“ไร้เงินสด” หวั่นระบบล่ม/สัญญาณหาย
คนที่ชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด อาจมีประสบการณ์แตกต่างกัน แต่สำหรับผู้เขียน ในรอบเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ตัดสินใจใช้บัตรโดยสารอิเล็กรอนิกส์ ที่ซื้อมาตั้งแต่นำร่องสาย 510 มาใช้แทนเงินสด เพราะอยากจะพิสูจน์จริงว่าเป็นอย่างไร
สัปดาห์แรกที่นำบัตรมาใช้ พบว่าพนักงานส่วนหนึ่งเข้าใจการชำระเงินผ่านเครื่อง EDC เพราะโดยปกติจะรับชำระค่าโดยสารผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่รัฐบาลให้วงเงินค่าโดยสารรถเมล์ และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือนอยู่แล้ว
แต่บางสายพบว่าเครื่อง EDC ยังไม่อัพเกรดซอฟท์แวร์ พอยื่นบัตรจ่ายค่ารถเมล์ พนักงานบอกว่าใช้ไม่ได้ บางคนใจดีบอกว่า “ไม่ต้องจ่าย เพราะเป็นความผิดขององค์การฯ” เราต้องคะยั้นคะยอขอจ่ายเงินสดเพราะไม่อยากให้พนักงานขาดรายได้
ผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ เครื่อง EDC ถึงทยอยอัพเกรดซอฟท์แวร์จนครบทุกคัน
ปัญหาต่อมาคือ สับสนว่าเมื่อไหร่จะได้จ่าย ปกติพนักงานเก็บค่าโดยสารหลายคนเดินถือกระบอกรถเมล์ด้วย สะพายเครื่อง EDC ไปด้วยก็ไม่เท่าไหร่ ซึ่งก็แอบสงสารเหมือนกันเพราะเครื่องที่ธนาคารกรุงไทยให้มามีขนาดที่ใหญ่มาก
แต่ถ้าพนักงานนำเครื่อง EDC ไว้ที่หน้ารถ เราต้องรอพนักงานเก็บค่าโดยสารคนอื่นด้วยเงินสดให้หมดก่อน ตอนนั้นเรากังวลเสียเองว่า เราจะกลายเป็นว่าชักดาบค่าโดยสาร (โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ) หรือเปล่า?
ผ่านไปสักพัก พนักงานถึงหยิบเครื่อง EDC จากหน้ารถ ไล่แตะบัตรผู้โดยสารทีละคน รวมทั้งผู้เขียนจนครบ เราต้องคอยบอกพนักงานว่าขึ้นมาจากไหน เพื่อให้พนักงานคิดค่าโดยสารให้ถูกต้องตามระยะทาง
อีกปัญหาหนึ่งที่อยากจะฝากไปถึงธนาคารกรุงไทยก็คือ เมื่อไหร่จะสามารถเช็กยอดเงินคงเหลือในบัตรผ่านมือถือ แอปพลิเคชัน หรือช่องทางออนไลน์ โดยพัฒนาระบบบริการตัวเอง (Self service) ให้ผู้ใช้บัตรสะดวกมากขึ้นกว่านี้
ทุกวันนี้เวลาจะเช็กยอดมีแค่สองวิธี คือ พนักงานเก็บค่าโดยสารต้องคอยบอกว่าเหลือกี่บาท ซึ่งหลายคนก็ไม่ค่อยจะบอก กับเอาบัตรไปให้ธนาคารกรุงไทยลงทะเบียนเพื่อขอรับรหัสผ่าน 6 หลัก นำไปเช็กยอดผ่านตู้เอทีเอ็มกรุงไทยซึ่งยุ่งยาก
ต่อให้อ้างว่ามีตู้เอทีเอ็มกรุงไทยนับพันเครื่องทั่วประเทศ แต่ก็ต้องค้นหาตู้เอทีเอ็ม เสียเวลาทำรายการอยู่ดี
แอปพลิเคชัน “Krungthai NEXT” มีเพียงแค่บริการด้านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรกรุงไทย TRAVEL CARD เท่านั้น แต่บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งบัตร E-Money เช่น กรุงไทยพร้อมจ่าย ไม่สามารถเพิ่มเข้าไปในแอปพลิเคชันได้
ส่วนการเติมเงินลงในบัตร แม้จะมีพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด (PromptPay QR Code) อยู่ด้านหลังบัตร แต่เวลาเติมเงินก็ต้องหยิบบัตรขึ้นมาสแกน จะเติมเงินผ่านแอปพลิเคชันโดยตรงแบบไม่ต้องควักบัตรออกมาก็ทำไม่ได้
เปรียบเทียบกับแอปพลิเคชัน SCB EASY ธนาคารไทยพาณิชย์ ในหน้ารวมบัญชี นอกจากจะมีเมนูบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มแล้ว ยังมีเมนูบัตรเติมเงิน ที่สามารถเช็กยอดได้ทั้งบัตร SCB M PREPAID และบัตร PLANET SCB
ที่เหลือเชื่อก็คือ ตอนที่นำบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. ไปสแกนคิวอาร์โค้ดที่แอปฯ SCB EASY เพิ่อเติมเงิน ยังสามารถ “กดติดดาว” หลังเติมเงินเพื่อบันทึกรายการโปรด ไว้เติมเงินลงในบัตรครั้งต่อไปผ่านเมนู “จ่ายบิล” ได้อีกด้วย
ธนาคารกรุงไทยน่าจะใช้แอปฯ “Krungthai NEXT” หรือ “เป๋าตัง” ที่ผูกกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กับกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาต่อยอดกับบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. ไม่จำเป็นต้องพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ให้ยุ่งยากโดยใช่เหตุ
เวลาที่แต่ละค่ายเปิดตัวแอปพลิเคชันทีไร คิดในใจว่า บริการต่างๆ รวมอยู่ในแอปฯ เดียวกันไม่ได้หรือไง จะออกแอปฯ อะไรอีกเยอะแยะ หนักเครื่องชิบหาย ไม่สงสารคนที่ใช้มือถือสเปกต่ำ ประเภท RAM 1 GB, ROM 8 GB ราคาถูกบ้างเลยหรือ?
ส่วนปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ เป็นที่ทราบกันดีว่ารถร่วมบริการ ใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. ไม่ได้ ปรากฎว่ามีผู้ประกอบการเดินรถรายใหม่ คือ “สมาร์ทบัส” ใช้รถโดยสารสีฟ้า คล้ายกับรถเอ็นจีวีของ ขสมก. อีกต่างหาก
เหตุที่สีรถคล้ายกัน เพราะเป็นรถที่ซื้อมาจากบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ซึ่งเคยชนะประมูลโครงการรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. มาก่อน แต่ถูกบอกเลิกสัญญา เพราะมีปัญหาการนำเข้ากับทางกรมศุลกากรจนส่งมอบรถไม่ทัน
ปัจจุบัน “สมาร์ทบัส” นำรถเข้ามาให้บริการบางเส้นทาง เช่น สาย 104 ปากเกร็ด-หมอชิต 2, สาย 150 ปากเกร็ด-บางกะปิ, สาย 52 ปากเกร็ด-บางซื่อ, สาย 147 วงกลมเคหะธนบุรี-บางแค และสาย 167 เคหะธนบุรี-สถานีรถไฟฟ้าลุมพินี
คนที่สับสนกับสีรถเมล์แล้วรีบขึ้นโดยไม่ทันสังเกต พอทราบว่าเป็นรถร่วมบริการ ก็ใช้บัตรไม่ได้ตามระเบียบ
อย่างไรก็ตาม จากการใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. มาเกือบ 1 เดือน รู้สึกว่าสะดวกรวดเร็ว เพราะไม่ต้องควักเหรียญขึ้นมาจ่าย ไม่ต้องจ่ายธนบัตรแล้วรับเงินทอนเป็นเหรียญให้หนัก ไม่ต้องพกเงินสดในกระเป๋าสตางค์จำนวนมาก
ทุกวันนี้เวลาเดินทางในกรุงเทพฯ จะใช้สารพัดบัตรแตะแล้วจ่ายแทนเงินสด ทั้งบัตรแรบบิท บัตรเอ็มอาร์ที บัตรแอร์พอร์ตลิงก์ บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. จะมีก็แต่เรือโดยสาร แท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ยังต้องจ่ายเงินสด
การผลักดันระบบชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสดของ ขสมก. ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ไม่ใช่แค่เพียงก้าวสู่สังคมไร้เงินสดตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่ผู้ใช้ยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ สะดวกสบายและปลอดภัย
เพียงแต่ว่ายังมีคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เคยชินกับการจ่ายค่ารถเมล์ด้วยเงินสด ซึ่งต้องใช้เวลาและสิ่งจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรม ขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองหน่วยงานอย่าง ขสมก. และธนาคารกรุงไทยจะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร