กรุงเทพโพลล์เผยคนกรุง 51.7% ทราบเรื่อง ขสมก.เริ่มรับชำระค่าโดยสาร“ไร้เงินสด” เต็มรูปแบบ กังวลระบบล่ม/สัญญาณมีปัญหาขณะเก็บเงิน แนะประชาสัมพันธ์มากขึ้นพร้อมหามาตรจูงใจให้ใช้ เชื่ออนาคตกระเป๋ารถเมล์ยังจำเป็นเพื่อำนวยความสะดวกดูแลผู้โดยสาร
วันนี้(19 ต.ค.) กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปดเผยสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คนกรุงพร้อมใช้?... รถเมล์ไร้เงินสด” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนที่ใช้บริการรถ ขสมก. ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,176 คน พบว่า จากการเริ่มใช้ รถเมล์ไร้เงินสด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ประชาชนที่ใช้บริการ รถ ขสมก. ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.7 ทราบเรื่องที่ ขสมก. เริ่มรับชำระค่าโดยสารแบบ “ไร้เงินสด” เต็มรูปแบบและทุกคัน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 51.6 ระบุว่าทราบจากข่าวผ่านสื่อหลักและสื่อโซเชียล รองลงมาร้อยละ 31.7 ระบุว่าทราบจากกระเป๋ารถเมล์และคนขับรถ ขสมก. และ ร้อยละ 23.9 ระบุว่า ทราบจากคลิปประชาสัมพันธ์การชำระค่าโดยสารแบบ “ไร้เงินสด” ของ ขสมก.
ทั้งนี้ในปัจจุบันส่วนใหญ่ร้อยละ 89.3 ระบุว่า ชำระค่าโดยสารรถเมล์ ของ ขสมก. ด้วย เงินสด รองลงมาร้อยละ 6.9 ชำระด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และร้อยละ 5.0 ชำระด้วยบัตรโดยสารล่วงหน้า อิเล็กทรอนิกส์ โดยร้อยละ 1.4 ใช้บัตร E –Ticket ของ ขสมก. แบบ 50 บาท
ส่วนความเห็นที่มีต่อการจ่ายเงินค่าโดยสารรถเมล์แบบไร้เงินสด ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.1 ระบุว่าสะดวกดี ไม่ต้องพกเหรียญ/หาเหรียญไว้จ่ายค่ารถ รองลงมาร้อยละ 39.0 ระบุว่าจะได้ไม่ต้องมีเงินทอน(จ่ายแบงค์ ทอนเป็นเหรียญ) และร้อยละ 37.8 ระบุว่า ทันสมัยเหมาะกับยุคสมัย
สำหรับสิ่งที่ห่วง/กังวล จากการชำระค่าโดยสารรถเมล์แบบ “ไร้เงินสด” เต็มรูปแบบ มากที่สุด นั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.1 กังวลเรื่อง ระบบล่ม/สัญญาณมีปัญหาขณะเก็บเงิน รองลงมาร้อยละ 27.5 กังวลว่าคนยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีการใช้งาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และร้อยละ 12.6 กังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายตรงป้ายรถเมล์ที่มีคนขึ้นเยอะ
เมื่อถามว่า “ขสมก. ควรทำอย่างไรเพื่อเป็นการจูงใจ ให้คนหันมา ชำระค่าโดยสารแบบ ไร้เงินสด” พบว่า ร้อยละ 36.8 ควรจะประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์จากการชำระค่าโดยสารแบบ “ไร้เงินสด” รองลงมา ร้อยละ 28.6 ควรจัดโปรโมชั่นลดราคาค่าโดยสารเมื่อจ่ายผ่าน E –Ticket รูปแบบต่างๆ และร้อยละ 17.5 ควรจะสามารถใช้บัตรทำธุรกรรมเรื่องอื่นๆ ได้
สุดท้ายเมื่อถามว่า “อนาคตพนักงานเก็บเงิน/กระเป๋ารถเมล์ ยังคงมีความจำเป็นหรือไม่ สำหรับสังคมไทย” พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.4 ระบุว่า “จำเป็น” (เพราะคอยให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสารขณะขึ้น-ลงรถ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางเดินรถ ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ เป็นต้น) ขณะที่ร้อยละ 25.6 ระบุว่า “ไม่จำเป็น” (เพราะ มีเครื่อง scan แล้ว มีป้ายอัตโนมัติบอกแล้ว มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มารองรับแล้ว ควรให้ระบบทำงานแทนคน ต่างประเทศก็ไม่มีแล้วเราควรปรับให้ทันโลก เป็นต้น)