xs
xsm
sm
md
lg

ไปง่าย จ่ายไม่เยอะ เที่ยวเวียงจันทน์ด้วยรถเมล์

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อนมีโอกาสไปเยือนนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นครั้งแรกในชีวิต หลังจากก่อนหน้านี้ไปเยือนแขวงบ่อแก้ว (เชียงราย) และแขวงสะหวันนะเขต (มุกดาหาร)

บอกได้คำเดียวว่า นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เป็นเมืองที่คนไทย “ไปง่าย-มาง่าย” ที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับ 2 เมืองที่เคยไป ถ้าไม่นั่งรถโดยสารระหว่างประเทศ ก็ต้องนั่งเรือข้ามฟากแล้วนั่งสามล้อเครื่องไปยังจุดหมายปลายทาง

นับตั้งแต่ที่เดินทางมาถึงด่านพรมแดนหนองคาย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 รถรับจ้างสารพัดตัวเลือกจะเข้าหาคุณทันที เมื่อข้ามไปยังฝั่งลาว ก็มีคนชักชวนเหมารถพร้อมคนขับ มีให้เลือกทั้งรถสามล้อเครื่อง รถเก๋ง หรือรถตู้

แต่ถ้าชอบเดินทางด้วยตัวเอง ไม่อยากเสียเงินนับร้อย-นับพันบาท ขอแนะนำให้นั่งรถเมล์ เพราะในนครหลวงเวียงจันทน์ มีรถเมล์ให้บริการในราคาที่เป็นมิตร แถมยังมีระบบ GPS ให้ตรวจสอบพิกัดด้วยตัวเองอีกด้วย

รถประจำทาง หรือรถเมล์ในนครหลวงเวียงจันทน์ ดำเนินการโดย “รัฐวิสาหกิจรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์” (VCSBE) โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้การช่วยเหลือส่งมอบรถโดยสารมาตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา

ปัจจุบันมีรถเมล์ให้บริการ 14 เส้นทาง ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยว สถานที่สำคัญ เชื่อมต่อไปยังสถานีขนส่งสายเหนือ (ไปแขวงหลวงพระบาง) สถานีขนส่งสายใต้ (ไปแขวงปากเซ แขวงสะหวันนะเขต) และท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต

• ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 615 กิโลเมตร ไปตามถนนพหลโยธิน และถนนมิตรภาพ มีรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-หนองคายหลายบริษัทให้เลือกใช้บริการ

หนึ่งในนั้นคือ “นครชัยแอร์” มีรถให้บริการวันละ 3-4 เที่ยว ทั้งแบบ First Class และแบบ Gold Class สามารถแจ้งพนักงานต้อนรับบนรถทัวร์ ให้จอดส่งที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวได้ โดยไม่ต้องเข้าเมืองหนองคาย

ออกจากกรุงเทพฯ 22.30 น. ใช้เวลาเดินทาง 9 ชั่วโมงครึ่ง พอให้หลับเต็มตื่น ถึงด่านพรมแดนหนองคาย 08.10 น. ของเช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนถึงด่านมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ถัดไปอีกซอยจะมีห้องน้ำและห้องอาบน้ำ (แบบชาวบ้าน) ให้บริการ

ทำกิจธุระส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว เดินเข้าไปที่อาคารผู้โดยสารขาออก (ฝั่งซ้ายมือ) ช่องขวามือสุด จะมีเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ แค่สแกนหนังสือเดินทาง ถ่ายรูป เอานิ้วชี้แตะตามขั้นตอน ไม่ถึง 3 นาทีก็เสร็จ

อย่าลืมยื่นหนังสือเดินทาง ให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เคาน์เตอร์ข้างๆ ประทับตราอีกครั้ง ไม่อย่างนั้นทางการลาวจะมองว่าเราเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำคุกและปรับขั้นต่ำ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เสร็จแล้ว เราเดินไปรอรถโดยสารข้ามประเทศ เสียเงินไทย 20 บาท รถโดยสารแบบนั่งพัดลมจะวนมารับ ก่อนขึ้นสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็มาถึงด่านสะพานมิตรภาพ 1 ฝั่ง สปป.ลาว

เมื่อลงจากรถแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่แจกใบขาเข้า-ขาออก กรอกรายละเอียดให้เรียบร้อย แล้วยื่นพร้อมหนังสือเดินทางเพื่อประทับตรา ก่อนรับหนังสือเดินทางพร้อมกับใบขาออก นำไปแสดงให้แก่เจ้าหน้าที่อีกเคาน์เตอร์หนึ่ง เป็นอันเสร็จสิ้น

ก่อนจะขึ้นรถเมล์ เราตัดสินใจแลกเงินบาทออกมาเป็นเงินกีบ แม้จะมีคนพูดว่าอยู่ในลาวใช้เงินไทยได้ แต่จากประสบการณ์ ถ้าใช้เงินไทยชำระจะจ่ายแพงกว่า อีกทั้งทางการลาวรณรงค์ “อยู่เมืองลาวใช้แต่เงินกีบ” ตลอดมา

อาจมีคำถามว่าควรแลกเท่าไหร่ โดยส่วนตัวไปมา 2 วัน 1 คืน ถ้าจองห้องพักล่วงหน้า ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว 2,000 บาท กลับมายังเหลือ แต่ถ้าไม่พอสามารถใช้บัตรเดบิตของไทยกดเงินสดได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรวมกันนับร้อยบาท

• ยลโฉมรถเมล์ลาว

หลังออกจากด่านขาเข้า ไม่ต้องสนใจบรรดารถรับจ้างใดๆ ให้สังเกตไปที่ด้านขวามือ จะเห็นป้ายรถเมล์อยู่ฝั่งเดียวกับร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” รถคันไหนออกให้ขึ้นไปได้เลย เพราะมีอยู่สายเดียว คือ สาย 14 ไปยังสถานีขนส่งตลาดเช้า

เมื่อรถออกจากป้ายหยุดรถเมล์แล้ว พนักงานจะเริ่มทยอยเก็บค่าโดยสารคนละ 8,000 กีบ พนักงานจะส่งตั๋วรถเมล์สีชมพูมาให้ รถจะออกจากด่านไปตามถนนท่าเดื่อ ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีก็มาถึงตลาดเช้า

รถเมล์ลาวที่ใช้ เป็นรถโดยสารปรับอากาศขนาดใหญ่ ยี่ห้ออีซูซุ สีเขียว ขนาด 45 ที่นั่ง รัฐบาลญี่ปุ่นส่งมอบให้ทางการลาว 42 คัน พร้อมอะไหล่และอุปกรณ์ในการบำรุงรักษา เมื่อปี 2555 แทนรถเมล์เดิมที่ใช้มานาน

ต่อมาในปี 2559 รัฐบาลนครเกียวโตของญี่ปุ่น ส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศขนาดกลาง 22 ที่นั่ง อีก 34 คัน ให้บริการในสาย 44 ไปท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต, สาย 10 ไปศูนย์การค้าลาวไอเต็ก และสาย 32 ไปบ้านโดนป่าใหม่

รถคันนี้มีสีเขียวอ่อน ต่างจากรถโดยสารขนาดใหญ่ยี่ห้ออีซูซุ มักเรียกกันว่า “เกียวโตบัส”

ที่สถานีขนส่งตลาดเช้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “สถานีรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์” หรือ Central Bus Station (CBS) เป็นจุดเชื่อมต่อรถเมล์ไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ภายในนครหลวงเวียงจันทน์ อาทิ

ไปพระธาตุหลวง ขึ้นรถเมล์สาย 10 ค่าโดยสาร 4,000 กีบ

ไปสถานีขนส่งสายเหนือ ต่อรถไปยังแขวงหลวงพระบาง แขวงอุดมไชย ให้ขึ้นรถเมล์สาย 8 ค่าโดยสาร 5,000 กีบ

ไปสถานีขนส่งสายใต้ ต่อรถไปยังเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก และไปแขวงสะหวันนะเขต ถ้าถูกที่สุดแนะนำให้ขึ้นรถเมล์สาย 29 ค่าโดยสาร 4,000 กีบ หรือถ้าขึ้นรถเมล์สาย 23 ค่าโดยสาร 7,000 กีบ

ไปท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต ให้ขึ้นรถ Airport Shuttle สาย 44 ซึ่งค่าโดยสาร 15,000 กีบ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานีขนส่งตลาดเช้า อยู่ใกล้กับถนนล้านช้าง ถ้าจะไปประตูชัย แลนด์มาร์คที่สำคัญของนครหลวงเวียงจันทน์ เดินเท้าไปเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น หรือถ้าไม่สะดวกก็ใช้บริการรถรับจ้างก็ได้

นอกจากนี้ ที่สถานีขนส่งตลาดเช้า ยังมีรถโดยสารระหว่างประเทศไปยังประเทศไทย อาทิ กรุงเทพมหานคร (หมอชิต 2) ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย โดยรถเที่ยวสุดท้ายไปยังหนองคายและอุดรธานี จะหมดประมาณ 6 โมงเย็น

• รถเมล์ลาวยุค 4G มีติดตามรถผ่าน GPS

ป้ายรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ออกแบบอย่างเรียบง่าย มีหลังคากันแดดกันฝน ไม่ต่างจากป้ายหยุดรถประจำทางในไทย มีแผนที่เส้นทางประกอบ ซึ่งโดยปกติรถเมล์จะจอดตามป้ายที่กำหนดเท่านั้น

ถ้าเป็นใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งแต่ตลาดเช้าถึงอนุสาวรีย์เจ้าฟ้างุ้ม จะมีป้ายรถเมล์ที่กำหนดไว้เป็นจุดๆ ซึ่งบริเวณริมแม่น้ำโขงถึงอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ จะเป็นย่านโรงแรมที่พัก ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติพักอาศัยอยู่

รถขาเข้าเมือง จากสนามบินไปยังสถานีขนส่งตลาดเช้า จะใช้ถนนเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นทางวันเวย์ ส่วนขาออก ถ้าเป็นรถเมล์สาย 44 (Airport Shuttle) ไปสนามบิน จะอ้อมไปทางถนนสามเสนไทย ไปออกอนุสาวรีย์เจ้าฟ้างุ้มอีกที

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่ารถเมล์ลาวพัฒนายิ่งขึ้นก็คือ การติดตั้งระบบ GPS และเว็บแอปพลิเคชันตรวจสอบพิกัดรถประจำทาง นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบแบบเรียลไทม์ได้ที่เว็บไซต์ lao.busnavi.asia และแอปพลิเคชันใน Google Play

ถือเป็นตัวช่วยสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่มาเที่ยวนครหลวงเวียงจันทน์ได้เป็นอย่างดี เพราะบางเมืองในอาเซียน แม้จะมีรถเมล์หลายเส้นทางให้บริการ แต่ก็เช็กพิกัดรถเมล์ไม่ได้ ต้องวัดดวงเอาเองว่ารถเมล์คันไหนจะผ่านมา

อย่างน้อยการรอรถเมล์ในเวียงจันทน์ ก็ถือเป็นการรอคอยอย่างมีความหวัง เพราะมี GPS Tracking เป็นตัวช่วย เหมือนกับที่กรุงเทพฯ เราใช้แอปฯ ViaBus รอรถเมล์ ขสมก. ในชีวิตประจำวัน


• เก็บเล็กผสมน้อย

- การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเวียงจันทน์ เร็วที่สุดคือเครื่องบินไปลงท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต แต่เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ ค่าโดยสารแพง จึงนิยมนั่งเครื่องบินไปลงที่ท่าอากาศยานอุดรธานี แล้วนั่งรถตู้มาทางด่านหนองคายมากกว่า

- มีรถโดยสารระหว่างประเทศจากกรุงเทพฯ ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ วันละ 1 เที่ยว รวมทั้งมีรถโดยสารที่สถานีขนส่งขอนแก่น (บขส.3), สถานีขนส่งอุดรธานี (บขส.1) และสถานีขนส่งหนองคาย

- ถ้านั่งรถไฟจากสถานีหนองคาย ถึงสถานีท่านาแล้ง (ฝั่ง สปป.ลาว) มีแต่รถตู้ซึ่งค่าโดยสารแพง และไม่มีรถเมล์ผ่าน

- หนังสือเดินทางของไทย ที่จะข้ามแดนไป สปป.ลาว ต้องมีอายุมากกว่า 14 วัน และเหลือวันหมดอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถพำนักและไปได้ทุกเมืองใน สปป.ลาว เป็นเวลา 30 วัน ถ้าเดินทางมาท่องเที่ยวเฉยๆ ไม่ต้องขอวีซ่า

- ถ้าไม่มีหนังสือเดินทาง ใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวได้ ไปขอที่สำนักงานออกหนังสือผ่านแดน อาคารโอทอปหนองคาย ตรงข้ามโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร ค่าธรรมเนียม 30 บาท ใช้ข้ามไปเที่ยวได้เฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์ 3 วัน 2 คืน

- เอกสารที่ใช้ประกอบการเดินทางควรนำติดตัว และถ่ายสำเนาแยกเก็บไว้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายลาวขอทำการตรวจ

- ถ้าเข้า-ออกที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ ฝั่ง สปป.ลาว ในวันและเวลาทำการจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้านอกเวลาทำการ จะเสียค่าธรรมเนียม 10,000 กีบ หรือจ่ายเป็นเงินไทย 40 บาท

- อาหารการกินในนครหลวงเวียงจันทน์ ถ้าเป็นร้านอาหาร ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 กีบ (เกือบ 70 บาท) บางเมนูราคาอาจสูงขึ้นอยู่กับร้านค้า ควรตรวจสอบรายการอาหารก่อนสั่งทุกครั้ง แต่ถ้าเป็นเครื่องดื่ม เบียร์กระป๋องถือว่าถูก

- นำมือถือไปใช้ที่ สปป.ลาว ถ้าอยู่นานแนะนำให้ซื้อซิมการ์ดลาวมาใช้ แต่ถ้าใครใช้เครือข่ายดีแทค มีแพ็คเกจเสริม dtac GO Travel (ประเทศเพื่อนบ้าน) 99 บาท อินเตอร์เน็ต 2 GB ใช้ได้ 7 วัน แต่ต้องเลือกเครือข่าย LAO GSM / 457 01

- แนะนำให้ซื้อประกันภัยการเดินทางก่อนออกนอกประเทศทุกครั้ง อย่าลืมว่าประกันสังคมหรือบัตรทองใช้ไม่ได้ที่ต่างประเทศ หากเกิดเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุกะทันหันจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเอง

หมายเหตุ : รายละเอียดเส้นทางรถเมล์ ศึกษาเส้นทางได้ที่เว็บไซต์ www.vientianebus.org.la
กำลังโหลดความคิดเห็น