xs
xsm
sm
md
lg

‘เวียบัส’ แอปฯ ติดตามรถเมล์ สยายปีกถึงต่างจังหวัด

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เทคโนโลยีทำให้ชีวิตประจำวันของคนเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มือถือหนึ่งเครื่อง นอกจากจะทำธุรกรรมได้สารพัดแล้ว ยังทำได้แม้กระทั่งติดตามรถเมล์ แถมไม่ใช่เพียงแค่ ขสมก. เพียงอย่างเดียว ยังรวมไปถึงรถเมล์ต่างจังหวัดได้อีกด้วย

“เวียบัส” (ViaBus) แอปพลิเคชันติดตามรถโดยสารประจำทางแบบเรียลไทม์ ถือเป็นตัวช่วยวางแผนการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ที่ใช้บริการรถเมล์เป็นประจำ ปัจจุบันให้บริการ 18 จังหวัด มีผู้ใช้งานกว่า 8 แสนคนในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี

แอปพลิเคชันนี้พัฒนาโดย นายอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ มาตั้งแต่เป็นนิสิตภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งสำเร็จการศึกษา เป็นเจ้าของ บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด

ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมภายใต้การดูแลของโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) โดยลงนามความร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561

รูปแบบของเวียบัส จะเป็นการดึงข้อมูลจีพีเอส (GPS) ของ ขสมก. ที่ติดตั้งเพื่อติดตามตำแหน่งรถขณะให้บริการ มาประมวลผลและแสดงบนแผนที่ เริ่มต้นทดลองใช้งานกับรถเมล์ ขสมก. ที่ให้บริการจริง 2,300 คัน 110 เส้นทาง

ปัจจุบัน ระบบจีพีเอสที่ ขสมก. เป็นเจ้าของ มีบริษัท ซูเล็ค อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เจ้าของแบรนด์ไดสตาร์ (DiStar) เป็นผู้ชนะการประกวดราคา จำนวน 2,600 คัน และมีการเปิด API ให้ภาคเอกชนขออนุญาตใช้งานได้ด้วย

แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะแสดงผลเฉพาะรถเมล์ ขสมก. เท่านั้น จากจำนวนรถประจำทางในกรุงเทพฯ รวมกันกว่า 1 หมื่นคัน แต่ก็มีรถประจำทางเส้นทางยอดนิยมแสดงผลอยู่ไม่ขาด อาจมีรถเมล์บางรุ่นที่ไม่มีสัญญาณ GPS อยู่บ้าง

แต่สำหรับรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เริ่มทยอยติดตั้งและทดสอบระบบแล้ว โดยบนแผนที่จะระบุคำว่า TEST เพื่อทดสอบระบบ โดยมีเลขสายอยูในวงเล็บ [xxx] ด้านหลังเลขข้างรถ หากทดสอบสำเร็จก็จะเพิ่มเลขสายรถเมล์ต่อไป

ที่ผ่านมาได้ใช้ประโยชน์จากแอปฯ เวียบัส เวลาเดินทางในกรุงเทพฯ บ่อยครั้ง เพราะเส้นทางรถไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ พบว่าช่วยได้มาก แม้บางครั้งการแสดงผลอาจจะติดขัดบ้างในบางเวลา

ขณะเดียวกัน รถประจำทางสายที่ไปท่าอากาศยานดอนเมือง (A1-A4) และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (S1) ก็ยังแสดงผล ถือเป็นตัวช่วยให้คนที่มาจากต่างจังหวัดลงมาทำธุระในกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี

ปัญหาที่พบ คือ รถบางคันของ ขสมก. ยังไม่แสดงผลจีพีเอส เช่น รถเมล์เอ็นจีวีสีขาวสาย 76 กับ 141 ของเขตการเดินรถที่ 5 หรือบางครั้งจีพีเอสก็ค้าง บางคันติดสลับสาย และไม่บอกว่าเป็นรถเสริม บางคันไม่จอดรับผู้โดยสารเพราะกลับเข้าอู่ก็มี

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ บางอย่างยากที่ผู้พัฒนาระบบจะแก้ไข เพราะเป็นการดึงสัญญาณจีพีเอสจากรถเมล์ ขสมก. อีกที

ส่วนพื้นที่ปริมณฑล ปทุมธานี นนทบุรี ที่มีผู้ประกอบการขนส่งรายใหญ่อย่าง บริษัท กิตติสุนทร จำกัด ที่ให้บริการมานานกว่า 40 ปี ก็ยังเข้าร่วมเชื่อมสัญญาณจีพีเอสกับแอปฯ เวียบัสในหลายเส้นทางเช่นกัน

นอกจากนี้ เวียบัสยังขยายไปยังรถเมล์ต่างจังหวัด ทั้งรถมินิบัส รถประจำทางหมวด 3 (วิ่งระหว่างจังหวัด) รวมทั้งรถตู้ โดยเฉพาะบางจังหวัดที่กำลังเดินรถประจำทางปรับอากาศในเมือง เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สระบุรี อุดรธานี เป็นต้น





















ยกตัวอย่างเช่น รถเมล์เชียงใหม่ RTC Chiangmai City Bus สมัยก่อนถ้าจะเช็กพิกัดรถเมล์ต้องดาวน์โหลดแอปฯ CM Transit by RTC สำหรับคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ขึ้นมาเชียงใหม่บ่อยครั้งอาจจะหนักเครื่อง

กระทั่ง RTC Chiangmai City Bus เข้าร่วมแอปฯ เวียบัส ทำให้เวลาขึ้นมาที่เชียงใหม่ ลงเครื่องที่สนามบินเรียบร้อยแล้ว เราสามารถเช็กพิกัดรถเมล์ได้ในแอปฯ เดียวกัน ไม่ต้องเปิดแบบต่างคนต่างแอปฯ ให้หนักเครื่องอีกต่อไป

และยังนำรถประจำทาง RTC Nonthaburi City Bus สาย 6028 วงกลมราชพฤกษ์-ติวานนท์-ท่าน้ำนนทบุรี เข้าร่วมแอปฯ เวียบัส อำนวยความสะดวกแก่ชาวจังหวัดนนทบุรีอีกทางหนึ่งด้วย

เป็นเรื่องน่ายินดีที่เวียบัสขยายบริการมายังต่างจังหวัด นอกจากช่วยพัฒนาชีวิตของชุมชนเมืองให้สะดวกสบายแล้ว ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับเมืองหลัก โดยใช้รถเมล์และรถโดยสารสาธารณะอื่นๆ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อีกด้วย

สิ่งที่น่าคิดก็คือ คือ ในปัจจุบันนี้หลายภาคส่วนกำลังพัฒนาเทคโนโลยีแบบ “ต่างคนต่างทำ” โดยยึดหลักเป็นขององค์กรตัวเองมากเกินไป แทนที่จะพัฒนาร่วมกับพันธมิตรโดยเชื่อมต่อข้อมูลร่วมกัน

ยกตัวอย่างเช่น ระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) พบว่ามีผู้ประกอบการมากถึง 23 ราย แล้วต่างฝ่ายต่างก็มีวอลเลตแยกกัน เช่น กลุ่มทรูเจ้าหนึ่ง กลุ่มบีทีเอสเจ้าหนึ่ง กลุ่มเซ็นทรัลเจ้าหนึ่ง แทนที่สะดวกกลับทำให้สับสน เลือกใช้ไม่ถูก

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ รถเมล์ขอนแก่นที่ชื่อว่า “ขอนแก่นซิตี้บัส” (Khon Kaen City Bus) ยังคงใช้แอปพลิเคชัน KK Transit ะแสดงตำแหน่งของรถบัสทุกคัน แต่คนที่ไม่มีแอปฯ ก็ยังมีเช็กทางหน้าเว็บไซต์

ล่าสุดทราบมาว่า ขสมก. เตรียมเปิดให้บริการแอปฯ รถเมล์เป็นของตัวเอง ในชื่อว่า “ซิตี้โก” (City Go) อ้างว่าจะแสดงผลรถเมล์แต่ละสายจะถึงป้ายในเวลากี่นาที รถเมล์สายไหนบ้างจอดป้ายนี้ คาดว่าในอีก 2-3 เดือนจะเปิดให้ดาวน์โหลด

ขสมก.กล่าวว่า เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาแอปฯ โดยมาขอสิทธิ์ใช้ข้อมูลรถเมล์จาก ขสมก. ซึ่งจะเก็บค่าใช้จ่ายในการใช้ข้อมูลเป็นรายปี แม้จะไม่บอกว่าเป็นใคร แต่พอทราบว่า เป็นเจ้าของป้ายโฆษณาและสื่อโฆษณาบนรถเมล์รายหนึ่ง

แถมเป็นผู้ประกอบการเดินรถเมล์อย่างน้อย 2 บริษัท บริษัทหนึ่งเป็นรถเมล์เอ็นจีวีสีเหลือง สภาพเก่าและโทรม อีกบริษัทหนึ่งเพิ่งไปซื้อรถเมล์จากเอกชนรายหนึ่งมาให้บริการในโซนกรุงเทพเหนือ ซึ่งทั้งคู่ยังไม่มีแสดงผลผ่านเวียบัสแต่อย่างใด

แม้ ขสมก. กับภาคเอกชนออกมาพัฒนาแอปฯ รถเมล์เป็นของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ขอว่าอย่าให้ถึงกับกลายเป็นการ “กีดกันทางการค้า” กับผู้พัฒนาระบบรายอื่น แต่ขอให้เป็นทางเลือกแก่ผู้โดยสารตามสะดวก

อีกอย่างหนึ่งที่น่าคิดก็คือ แม้กรมการขนส่งทางบกจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะติดจีพีเอส แต่ก็พบว่ารถร่วมบริการ ขสมก. นอกจากจะเก่าแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่ติดจีพีเอส ถึงมีแต่น้อยบริษัทที่ยอมเชื่อมต่อข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบ

ขนาดรถตู้ ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดระเบียบแทบตาย กรมการขนส่งทางบกบังคับให้เปลี่ยนเป็นรถมินิบัส ติดจีพีเอส แต่รถเมล์เอกชนร่วมบริการบางคัน เก่ายังไงก็เก่าอย่างนั้น ประชาชนก็ใช้บริการตามมีตามเกิด

เมื่อไม่มีตัวช่วยให้ผู้โดยสารวางแผนการเดินทาง ก็ไม่มีใครอยากนั่งรถเมล์ หันมาเรียกรถรับจ้างสาธารณะ เรียกแกร็บคาร์ แกร็บไบค์ หรือไม่ก็ออกรถส่วนตัว ผู้ประกอบการก็อ้างว่าขาดทุนขอขึ้นค่าโดยสาร แต่บริการที่ได้รับกลับไม่ดีขึ้นเลย

นึกสงสัยว่า ทำไมกรมการขนส่งทางบกไม่กวดขันให้ติดจีพีเอสแก่รถเมล์ที่เป็นรถร่วมบริการทุกคัน รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลจีพีเอสให้ประชาชนตรวจสอบได้ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์วางแผนการเดินทาง เหมือนอย่างที่ ขสมก. ทำในตอนนี้

แอปฯ เวียบัส ถือเป็นนวัตกรรมที่สร้างปรากฎการณ์เช็กพิกัดรถเมล์แก่ชุมชนเมือง ไม่ได้จำกัดแค่กรุงเทพมหานคร แต่ยังพัฒนาไปถึงจังหวัดหัวเมือง เช็กได้ว่ารถเมล์จะมาถึงเมื่อไหร่ แถมยังจูงใจให้หันมาใช้รถเมล์แทนรถส่วนตัว

แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการขนส่งเองด้วยว่า จะยอมปรับตัวเข้าหาผู้โดยสารหรือเปล่า เพราะต่อให้มีเครื่องมือช่วยวางแผนการเดินทาง แต่พอเอาเข้าจริงผู้โดยสารโบกแล้วไม่จอด ต่อให้มีกี่ล้านแอปฯ คงช่วยไม่ได้เหมือนกัน
ภาพจาก RTC
รายชื่อรถประจำทางที่เข้าร่วมแอปฯ เวียบัส

- รถประจำทาง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
- บริษัท ชัยวิเศษ ทรานสปอร์ต จำกัด สาย Y70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา (อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม)-บีทีเอสหมอชิต (ทางด่วน)
- บริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด สาย R26E โรงพยาบาลรามาธิบดี-สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ (อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ)
- บริษัท กิตติสุนทร จำกัด สาย 33 ปทุมธานี-สนามหลวง, สาย 90 ท่าน้ำปทุมธานี-บีทีเอสหมอชิต, สาย 188 ปทุมธานี-บางเลน, สาย 337 ปทุมธานี-เดอะมอลล์งามวงศ์วาน, สาย 359 ปทุมธานี-ปากเกร็ด
สาย 367 รังสิต-นนทบุรี, สาย 372 รังสิต-บางปะอิน, สาย 374 สะพานใหม่-ลำลูกกา, สาย 383 รังสิต-ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร, สาย 391 เมืองทองธานี-ลาดหลุมแก้ว, สาย 646 ปทุมธานี-นนทบุรี และสาย 680 รังสิต-บางใหญ่
รถสองแถว สาย 702 ปทุมธานี-บางไทร, สาย 1111ปทุมธานี-เชียงรากน้อย, สาย 1138 ปทุมธานี-วัดเวฬุวัน, สาย 1147 ปทุมธานี-ปู่โพธิ์ และสาย 1148 ปทุมธานี-บ้านพร้าว-เชียงรากน้อย
- บริษัท บางกอก 118 จำกัด สาย 203 สนามหลวง-ท่าอิฐ (จ.นนทบุรี)
- บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด RTC Nonthaburi City Bus (จ.นนทบุรี) สาย 6028 วงกลมราชพฤกษ์-ติวานนท์-ท่าน้ำนนทบุรี (จ.นนทบุรี)
- บริษัท ตลิ่งชันวัฒนา จำกัด รถสองแถวสีฟ้า สาย 1474 ตลาดบางขุนศรี-สวนผัก และ สวนผัก-คลองบัว

ต่างจังหวัด

- บริษัท สุรินทร์ขนส่ง (2510) จำกัด สาย 252 สุรินทร์-เกษตรวิสัย-ร้อยเอ็ด และ สาย 550 สุรินทร์-เมืองสรวง-ร้อยเอ็ด
- บริษัท ณิชาทัฬห์ จำกัด รถมินิบัส สาย 7 ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช-บขส.นครศรีธรรมราช และสาย 8 ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช-สามแยกนาหลวง
- บริษัท ภูเก็ตมหานคร จำกัด ภูเก็ตแอร์พอร์ตบัส (Phuket Airport Bus) ท่าอากาศยานภูเก็ต-บขส.เก่าภูเก็ต
- บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด RTC Chiangmai City Bus (จ.เชียงใหม่) สาย R1 สวนสัตว์เชียงใหม่-เซ็นทรัลเฟสติวัล, สาย R2 พรอมเมนาดา-หนองหอย-ประตูท่าแพ และสาย R3 ท่าอากาศยานเชียงใหม่-ประตูท่าแพ
- บริษัท ภูเก็ต สมาร์ท บัส จำกัด (Phuket Smart Bus) ท่าอากาศยานภูเก็ต-หาดราไวย์
- บริษัท ศศนันท์ทรานสปอร์ต จำกัด สาย 93 กรุงเทพฯ-ตาก, สาย 956 กรุงเทพฯ-แม่สอด, สาย 875 กาญจนบุรี-เชียงใหม่, มินิบัสปรับอากาศ สาย 396 สมุทรสาคร-บ้านพุน้ำร้อน (จ.กาญจนบุรี)
- บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด สระบุรีสมาร์ทบัส สาย 2 บายพาส (แก่งขนุน)-ห้วยลี่, สาย 3 หนองเขื่อนช้าง-แก่งขนุน, สาย 9 บขส.สระบุรี-ศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี และสาย 10 บขส.สระบุรี-ศาลจังหวัดสระบุรี
- บริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด อุดรซิตี้บัส (Udon City Bus) สาย 20 บิ๊กซีอุดรธานี-ท่าอากาศยานอุดรธานี และสาย 21 แยกบ้านจั่น-แยกรังษิณา
- บริษัท จี.เอ็น.เค.ที. จำกัด รถตู้ 997 NK สาย 997 กรุงเทพฯ-นครปฐม

(ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2562)
กำลังโหลดความคิดเห็น