xs
xsm
sm
md
lg

“สี่แยกอินโดจีน” มีไว้ทำไม?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อนมีโอกาสแวะผ่านจังหวัดพิษณุโลก ศูนย์กลางภาคเหนือตอนล่าง ที่ค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างแพงกว่ากรุงเทพฯ และสถานีขนส่งห่างไกลจากตัวเมืองกว่า 6 กิโลเมตร เพราะตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า “สี่แยกอินโดจีน”

คนที่เคยขับรถไปยังภาคเหนือตอนล่าง จากนครสวรรค์ไปทางพิษณุโลก มุ่งหน้าอุตรดิตถ์ ส่วนหนึ่งจะผ่านสี่แยกอินโดจีน ที่สมัยก่อนมีหลักกิโลเมตรยักษ์ และป้ายบอกทางไปยังเมืองสำคัญ ได้แก่ คุณหมิง ย่างกุ้ง ดานัง และกัวลาลัมเปอร์

ปัจจุบันป้ายเหล่านี้ถูกรื้อถอน เนื่องจากมีการก่อสร้างทางแยกต่างระดับอินโดจีน โดยเป็นสะพานบนถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก ส่วนด้านล่างออกแบบเป็นวงเวียนเพื่อลดจุดตัดสัญญาณไฟ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้

เดิมสี่แยกตรงนี้ไม่ได้ชื่ออินโดจีนมาตั้งแต่ต้น แต่เรียกว่า “สามแยกร้องโพธิ์” เป็นจุดตัดระหว่างถนนมิตรภาพ พิษณุโลก-หล่มสัก (ทางหลวงหมายเลข 12) กับถนนพิษณุโลก-เด่นชัย (ทางหลวงหมายเลข 11) ด้านทิศเหนือ
(ซ้าย) ภาพ : phitsanulok.go.th , (ขวา) ภาพจากวิกิพีเดีย
ต่อมา กรมทางหลวงก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองพิษณุโลกด้านทิศใต้ จากถนนพิษณุโลก-บางระกำ ผ่านถนนนครสวรรค์-พิษณุโลก (ทางหลวงหมายเลข 117) มาเชื่อมต่อที่สามแยกร้องโพธิ์แห่งนี้ จึงกลายเป็นสี่แยก

ในยุคนั้นมีความพยายามผลักดันโครงการแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ระหว่างพม่าถึงเวียดนาม กับแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC) ระหว่างคุณหมิง ประเทศจีนถึงกรุงเทพฯ มีจุดตัดอยู่ที่พิษณุโลกพอดี

กระทั่งรัฐบาล “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จัดประชุม ครม.ส่วนภูมิภาคที่เชียงราย เมื่อปี 2540 เห็นชอบให้จังหวัดพิษณุโลกและพื้นที่ใกล้เคียง (พิจิตร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร) เป็นพื้นที่พัฒนา “สี่แยกอินโดจีน”

“สี่แยกร้องโพธิ์” ที่มีอยู่เดิม จึงกลายเป็น “สี่แยกอินโดจีน” มาถึงปัจจุบัน
(แฟ้มภาพ) สี่แยกอินโดจีนก่อนที่จะมีการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ
ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันโครงการต่างๆ ผ่านแนวคิดของข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อไม่ให้สี่แยกอินโดจีนเป็นเพียงแค่ “ป้ายบอกทาง” เท่านั้น ตั้งแต่จัดตั้งจุดพักครึ่งทาง (Truck Terminal) เพื่อขนถ่ายสินค้าและผู้โดยสาร

รวมทั้งโครงการพัฒนาพื้นที่สี่แยกอินโดจีนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่จังหวัดพิษณุโลกไปขออนุญาตใช้ที่ดินจากกรมทางหลวง 9 ไร่ บริเวณฝั่งถนนพิษณุโลก-เด่นชัย ก่อสร้างแลนด์มาร์คคล้ายเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สูง 6 เมตร

สุดท้าย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก ทำได้เพียงแค่สร้างบ้าน 5 หลัง หลักกิโลเมตรยักษ์ และซุ้มสุ่มไก่ ด้วยงบประมาณเกือบ 10 ล้านบาท แต่สภาพโดยรวมเป็นเพิงขายของริมทางหลังผ่านสี่แยกเท่านั้น

ภายหลังกรมทางหลวงขอคืนที่ดิน 9 ไร่ เพื่อทำทางแยกต่างระดับและวงเวียนสี่แยกอินโดจีน ทำให้ต้องรื้อสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไป โครงการบูมสี่แยกอินโดจีนของจังหวัดพิษณุโลก และ อบจ.พิษณุโลก ก็ต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกัน ยังมีภาคเอกชนเข้ามาลงทุนบริเวณสี่แยกอินโดจีน เช่น กลุ่มเซ็นทรัลก่อสร้างห้างไทวัสดุ สาขาพิษณุโลก เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 เป็นสาขาแรกในต่างจังหวัด และเป็นสาขาที่ 4 ของไทวัสดุ

แต่ถึงกระนั้น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พิษณุโลก กลับเลือกทำเลบริเวณถนนสิงหวัฒน์ (พิษณุโลก-สุโขทัย) ต.พลายชุมพล ซึ่งอยู่คนละฝั่งกับสี่แยกอินโดจีนแทน เนื่องจากอยู่ใกล้ตัวเมืองพิษณุโลกมากกว่า
(แฟ้มภาพ) ภาพเมื่อ 27 มี.ค. 2556
ส่วน นายเรวัตร พนาอุดมสิน เจ้าของกลุ่มคิงด้อมทัวร์ ที่ถือสัมปทานรถทัวร์ภาคเหนือและแท็กซี่ในจังหวัดพิษณุโลก ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลก แห่งที่ 2 (บขส.ใหม่) ใกล้สี่แยกอินโดจีนเช่นกัน

สถานีขนส่งแห่งใหม่ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 บนถนนเลี่ยงเมืองพิษณุโลก เนื้อที่ 10 ไร่ 12 ตารางวา โดยมี บริษัท ไทยอินโดจีนก่อสร้าง จำกัด ของนายเรวัตร เป็นผู้บริหารโครงการ ใช้งบลงทุนกว่า 350 ล้านบาท

ตัวอาคารรองรับรถทัวร์สายเหนือที่ผ่านจังหวัดพิษณุโลก ราว 20 เส้นทาง หลังสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งเดิมเริ่มคับแคบ ก่อสร้างแล้วเสร็จเละเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556

ส่วนสถานีขนส่งผู้โดยสารพิษณุโลกเดิม ถูกถ่ายโอนเป็นของเทศบาลนครพิษณุโลก เมื่อมีข่าวจะย้ายเที่ยวรถทั้งหมดไปสถานีขนส่งแห่งใหม่ ผู้ประกอบการที่ค้าขาย เปิดห้องพักรายวัน และรถรับจ้างต่างๆ ไม่พอใจ ร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม

กระทั่งเดือนมกราคม 2557 สำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลก มีคำสั่งให้ย้ายรถโดยสารที่วิ่งทั้งภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัดออกไปที่สถานีขนส่งแห่งใหม่ทั้งหมด ผู้ประกอบการจึงพากันขึ้นป้ายขาวดำประท้วงทั้งหมด

ภายหลังทางการจึงยอมให้ผู้ประกอบการเดินรถ ให้บริการที่สถานีขนส่งผู้โดยสารได้ทั้งสถานีขนส่งเดิม และสถานีขนส่งแห่งใหม่ ซึ่งมีเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่จอดเฉพาะสถานีขนส่งแห่งใหม่ เพราะสถานีขนส่งเดิมการจราจรติดขัด
(แฟ้มภาพ) ภาพเมื่อเดือน พ.ค. 2562
สี่แยกอินโดจีนในวันนี้กำลังเปลี่ยนไป หลังกรมทางหลวงก่อสร้างทางแยกต่างระดับอินโดจีน โดยสร้างสะพานข้ามแยกตามแนวถนนพิษณุโลก-หล่มสัก และพัฒนาพื้นที่ว่างให้เป็นวงเวียนขนาดใหญ่ เพื่อลดจุดตัดสัญญาณไฟจราจร

ก่อสร้างโดย บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) ใช้งบประมาณ 849.95 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญา 16 กุมภาพันธ์ 2560 ได้รับการต่อสัญญาไปถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2562 คาดว่าปลายปี 2562 วงเวียนแยกอินโดจีนจะเสร็จสมบูรณ์

ทีแรกนักธุรกิจ-เจ้าของที่ดินแปลงใหญ่บริเวณสี่แยกอินโดจีน พร้อมพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องศาลปกครองให้ระงับโครงการ ไม่เอาสะพานข้ามแยก แต่ต้องการอุโมงค์ทางลอด ออกแบบให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองพิษณุโลก

แต่กรมทางหลวงชี้แจงว่า ถ้าจะให้ทำเป็นอุโมงค์ต้องใช้งบประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท อีกทั้งออกแบบและเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว สรุปว่ารูปแบบสะพานและวงเวียนเหมาะสมที่สุด เพราะไม่ต้องเวนคืนที่ดินและค่าก่อสร้างต่ำกว่า

ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ ที่ดินสี่แยกอินโดจีน ล้วนแล้วแต่ถูกครอบครองโดยนักธุรกิจในตัวเมืองพิษณุโลก และนักการเมืองท้องถิ่น ที่ผ่านมามีข่าวปั่นราคาที่ดิน โดยอ้างว่าจะมีทุนจีนแผ่นดินใหญ่มากว้านซื้อ แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

สิ่งที่น่ารันทดก็คือ มีบุคคลบางกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินตรงนี้ไปหลอกลวงชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
ปี 2552 นายโกวิท ยมนา อดีตสมาชิกสภา อบจ.ลพบุรี ทำตลาดสี่แยกอินโดจีน สร้างอาคารพาณิชย์ เนื้อที่กว่า 30 ไร่ แบ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 170 ห้อง ราคาห้องละ 3 ล้านบาท กับแผงลอย 4x6 เมตร 2,000 ล็อก ขายล็อกละ 3 แสนบาท

อ้างว่าโอนโฉนดได้ แบ่งกรรมสิทธิ์บนที่ดินแก่ผู้ซื้อได้แน่นอน วางเป้าพัฒนาเป็นตลาดผลไม้ ตลาดกลาง จุดพักรถ แถมยังอ้างว่าจะติดต่อรถทัวร์ชื่อดังมาแวะพัก จัดพื้นที่ไว้ 3 ไร่รองรับรถทัวร์ เชื่อมั่นว่าสี่แยกอินโดจีนเป็นทำเลทอง

ในตอนนั้น อบจ.พิษณุโลก กำลังบูมสี่แยกอินโดจันร่วมกับทางจังหวัด นำนักมวยชิงแชมป์โลกขึ้นเวทีเพื่อเรียกความสนใจ รวมทั้งเปิดตลาดสี่ภาค และร่วมกับหอการค้า-ภาคธุรกิจชาติต่างๆ เช่น ลาว จีน พม่า มาร่วมเปิดบูธ

พ่อค้าแม่ขาย-นักธุรกิจรายย่อยทั้งใน-นอกพื้นที่ เห็นโอกาสทองก็เลยตัดสินใจเข้าจับจอง-ผ่อนซื้ออาคารพาณิชย์ และแผงลอยกว่า 70 ราย แต่หลายรายจ่ายเงินครบตามสัญญาแล้ว กลับไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้

มารู้ภายหลังว่า ส.จ. คนนี้ ไม่ได้ยื่นขอจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน และไม่ยื่นแบ่งโฉนดตั้งแต่ต้น แถมยังนำที่ดิน อาคารพาณิชย์ แผงลอย ไปขายต่ออีกสอง-สามช่วง ความเสียหายรวมกันกว่า 100 ล้านบาท
แฟ้มภาพ
ตำรวจกองปราบปราม เพิ่งจะจับกุม ส.จ.โกวิท ได้ที่ร้านตัดผมตลาดท่าหลวง อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 หลังศาลจังหวัดพิษณุโลกออกหมายจับไปเมื่อปี 2559 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

ส.จ.โกวิท อ้างว่า ไปซื้อที่ดินบริเวณสี่แยกอินโดจีน 30 ไร่ ในราคา 180 ล้านบาท โดยรวมหุ้นกันหลายคน นำมาแบ่งเป็นล็อกเพื่อทำตลาด ที่ดินบางส่วนโอนแล้ว แต่บางส่วนเป็นของหุ้นส่วนรายอื่น ไม่สามารถโอนมาให้ได้

แต่ตำรวจไม่ปักใจเชื่อ ตรวจสอบประวัติพบว่ามีหมายจับในคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชนอีกกว่า 10 คดี

ปัจจุบันอาคารพาณิชย์และอาคารเอนกประสงค์กว่า 30 ไร่ ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานนับสิบปี นอกจากจะเป็นทัศนอุจาดที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ยังเป็นบทเรียนถึงการสร้างกระแสเพื่อปั่นราคาที่ดินบริเวณสี่แยกแห่งนี้

บริเวณโดยรอบสี่แยกอินโดจีน ส่วนใหญ่ยังคงเป็นที่ดินว่างเปล่า ขณะที่เส้นทางคมนาคมพิษณุโลกเปลี่ยนไป มีถนนเลี่ยงเมืองพิษณุโลกด้านทิศเหนือ เป็นถนนวงแหวนไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ และ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ได้เช่นกัน

บางทีก็นึกคำถามในใจว่า เราจะมีสี่แยกอินโดจีนไว้ทำไม แม้อาจจะเป็นสัญลักษณ์ในการพัฒนาจังหวัดพิษณุโลกโดยรวมก็ตาม

แต่เมื่อดูสภาพพื้นที่สี่แยกจริงๆ มีเพียงเจ้าของที่ดินและบุคคลเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ส่วนประชาชนเป็นเพียงผลพลอยได้ ที่จะได้เห็น “แลนด์มาร์ค” แห่งใหม่เท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น