พิจิตร/พิษณุโลก - ส่องทางเลือกคลายปมพิพาท ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราฯ หลังกลุ่มคิงส์เกตฯ ยื่นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกค่าชดใช้ 3 หมื่นล้าน
กรณีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ วันที่ 13 ธ.ค. 59 ให้ระงับการอนุญาตและสั่งปิดเหมืองทองคำทั่วประเทศไทย รวมถึงเหมืองทองอัคราฯ ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด (บริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด) ที่นำไปสู่การยื่นเรื่องเข้าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายราว 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดพิจารณาครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 62 ที่จะถึงนี้
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุถึงเรื่องนี้ว่า..จะรับผิดชอบเอง!!
บริษัทอัคราไมนิ่งฯ ได้ประทานบัตรสำรวจ ขุดแร่ ผลิตและจำหน่ายแร่ทองคำ พื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร 5 แปลง (19 มิ.ย. 2543-18 มิ.ย. 2563) ตามโครงการเหมืองทองคำชาตรี เนื้อที่ประมาณ 1,259 ไร่ ต่อมาได้ขอประทานบัตร (21 ก.ค. 2551-20 ก.ค. 2571) อีก 9 แปลงตามโครงการเหมืองทองคำชาตรีเหนือ เนื้อที่ประมาณ 2,466 ไร่ รวมได้ประทานบัตรจำนวน 14 แปลง พื้นที่ 3,926 ไร่ ทุ่มเงินลงทุนจำนวน 250 ล้านบาท ขุดแร่ทองคำส่งไปประเทศออสเตรเลียเพื่อทำให้เป็นทองคำบริสุทธิ์
เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 กระทั่ง 12 ธ.ค. 44 ผลิตทองคำแท่งก้อนแรก โดยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาทำพิธีเปิดเหมือง ต่อมามีการขออาชญาบัตรพิเศษอีก เนื่องจากพบว่ายังมีสายแร่ทองคำอีกจำนวนมาก ถือเป็นการหาแหล่งสำรองแร่ทองคำแห่งใหม่อีก 1,806 ตารางกิโลเมตร หรือราว 1,128,750 ไร่ (ตามอาชญาบัตรพิเศษ 10 ส.ค. 2549) ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก
ท่ามกลางข่าวแพร่สะพัดถึงแหล่งแร่ทองคำแห่งใหม่ขนาดพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 12,500 ไร่ เรียกว่า ‘แหล่งสุวรรณ’ ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 6-10 กิโลเมตร และยังมีแหล่งแร่ทองคำใหม่ คือ ‘แหล่งโชคดี’ ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 20 กิโลเมตร
ทว่า ปี 2544-2550 บริษัทอัคราฯ จ่ายค่าภาคหลวงให้รัฐ 383.82 ล้านบาท จากแร่ทองคำและแร่เงินที่ผลิตมูลค่า 12,695.48 ล้านบาท เท่ากับว่าทองคำในเหมืองชาตรีมีมูลค่าหมื่นล้านในพื้นที่พันไร่เศษๆ เท่านั้น ผลจากการลงทุน 250 ล้านบาท เพียงแค่ขุดแร่ทองคำในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ในเฟสแรกคือ "เหมืองทองชาตรี" โดยส่งแร่ทองคำไปออสเตรเลียเพื่อทำให้เป็นทองคำบริสุทธิ์ก่อนส่งย้อนมาขายที่เมืองไทยอีกครั้ง ระหว่างการผลิตได้ทำการขายแร่ทองคำยังตลาดล่วงหน้าเพื่อนำเงินมาหมุนเวียน
ทั้งนี้ ในห้วงปี 2544 เหมืองทองฯ ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อกว้านซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้าน จ่ายทั้งค่านายหน้า ค่ารื้อถอน ชาวบ้านบางรายหัวใสเร่งสร้างบ้าน หลอกให้เหมืองจ่ายค่าชดเชยรื้อถอนบ้านถึงหลังละ 1 ล้านบาท เรียกว่าเงินสะพัดไปรอบๆ เหมืองทอง
อีกด้านหนึ่ง กลับสร้างความแตกแยกระดับชุมชนหมู่บ้านทันที เพราะมีกลุ่มต่อต้านบางรายไม่ต้องการขายที่ดิน เริ่มมีการเจรจาต่อรองถึงการซื้อที่ดินยกแปลง ยกหมู่บ้าน รวมถึงวัดและโรงเรียนอีกด้วย รวมทั้งเริ่มมีกระแสข่าวปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่นละออง เสียง และแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดเหมืองทั้งในกลางวัน-กลางคืน เนื่องจากเหมืองอยู่ใกล้กับชุมชน ระยะใกล้ระดับ 500 เมตร
การต่อต้านหนักขึ้น ท่ามกลางความเชื่อมั่นของบริษัทอัคราฯ ว่าจะพบแหล่งแร่ทองคำในพื้นที่สำรวจตามอาชญาบัตรพิเศษแหล่งใหม่ๆ ขณะที่วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบเหมืองเริ่มเปลี่ยน ข้าวปลาอาหาร น้ำอุปโภค-บริโภค-น้ำในการเกษตรเหือดแห้งและไม่มีความปลอดภัย ชาวบ้านต้องซื้อน้ำดื่มน้ำใช้ และเริ่มเจ็บป่วยด้วยอาการแพ้ มีผื่นคันเป็นตุ่มบริเวณผิวหนัง กระทั่งชาวบ้าน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ริมขอบเหมืองทองร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการอุตสาหกรรมโรงงานและสิ่งแวดล้อม
ขณะชาวบ้านหลายรายที่ป่วยอ้างว่าเกิดจากผลการทำเหมืองทอง อาทิ กรณีการเสียชีวิตของนายเฉื่อย บุญส่ง อายุ 70 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านผู้อาศัยอยู่รอบพื้นที่เหมืองใน จ.พิจิตร ป่วยตั้งแต่ปี 2557 โดยผลการตรวจเลือดจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิตระบุว่ามีค่าสารแมงกานีสสูงเกินมาตรฐาน จนร่างกายอ่อนแรงไม่สามารถเดินได้เหมือนปกติ และเสียชีวิตลงอย่างสงบภายในบ้านพัก ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 59
ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจให้ยุติการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ ก็ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ด้วยเหตุผลชาวบ้านในพื้นที่ทำเหมืองมีผลกระทบจากสารโลหะหนัก ปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำ และนาข้าว อันเชื่อว่าผลพวงจากการทำเหมืองทองคำ
บริษัทอัคราฯ ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายทางธุรกิจดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าตรวจพบสารปรอทและตะกั่วเกินมาตรฐานในน้ำ และสารไซยาไนด์สูงในแปลงข้าวใกล้บ่อกักเก็บกากแร่ หรือพบการปนเปื้อนแมงกานีส สารหนู ต้นเหตุเกิดจากการดำเนินงานของเหมืองทอง
อย่างไรก็ตาม มาถึงขณะนี้ดูเหมือนจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ การต่อสู้ในชั้นคณะอนุญาโตตุลาการ และการเจรจาระหว่างกันรัฐบาลไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ซึ่งถือหุ้นในบริษัทอัคราฯ คิดเป็นสัดส่วน 48.2%
โดยอาจมีการต่อรองยืดอายุใบประทานบัตรที่มีอายุถึงเดือนมิถุนายน 2563 และกรกฎาคม 2571 ออกไป ซึ่งสายแร่ทองคำในพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษ ที่เรียกว่า "แหล่งสุวรรณ" และ "แหล่งโชคดี" ถือว่ายังคุ้มค่าต่อการต่อรองและลงทุนเชิงพาณิชย์ครั้งใหม่
อนึ่ง บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็นบริษัทอัครา รีชอร์สเซส จากัด (มหาชน) เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด (Kingsgate Consolidated NL) ประเทศออสเตรเลีย ดำเนินธุรกิจสำรวจ-ผลิต-จำหน่ายแร่ทองคำและเงิน ได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจสายแร่ทองคำนับแต่ปี 2530 และจดทะเบียนก่อตั้ง 13 ส.ค. 2536 มีสัมปทานเหมืองแร่ชาตรี บริเวณเขาหม้อ เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ตามใบประทานบัตร 14 แปลง บริเวณรอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่