xs
xsm
sm
md
lg

คนรอบเหมืองทองอัคราขอย้ายพ้นพื้นที่ หลังวิจัยพบบ่อกากแร่ส่อรั่วซึมจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
พิจิตร/พิษณุโลก - ชาวบ้านรอบเหมืองทองอัคราฯ เล็งฟื้นข้อเสนอขออพยพพ้นพื้นที่ หลังคณะวิจัยพบข้อมูลบ่อเก็บกากแร่ส่อรั่วซึมลงใต้ดิน รวมถึงผุดกลางแปลงนาเขาเจ็ดลูก ตั้งแต่ปลายปี 60

หลังมีการเผยแพร่รายงาน “การสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) เหมืองทองบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จ.พิจิตร” ของคณะวิจัยประกอบด้วย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ และ ดร.สิรินาฏ เลาหะโรจนพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ Dr.Yuji Nitsuhata จาก the Research Institute for Geo-Resoures amd Environment (GREEN), the National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST)

ซึ่งคณะวิจัยแปลผลการสำรวจด้วยธรณีฟิสิกส์ ว่า น้ำจากเหมืองทองน่าจะรั่วไหลจากบ่อเก็บกากแร่ใน 2 ลักษณะ คือ การรั่วไหลผ่านผนังบ่อ (ระดับตื้น) และการรั่วไหลผ่านก้นบ่อ (ระดับลึกปานกลางถึงลึก) ทำให้ตีความได้ว่า เกิดการรั่วไหลของน้ำจากบ่อเก็บกากแร่ TSF-1 และน้ำเหมืองทองที่รั่วไหลได้กระทบบ่อเฝ้าระวังน้ำใต้ดินดังกล่าวแล้ว

ส่วนของผลการตรวจน้ำผุดบริเวณนาข้าว ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร (ตั้งแต่ปลายปี 60) นั้น รายงานฉบับนี้ระบุทำนองเดียวกัน


เมื่อประเมินความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้าบริเวณนาข้าวน้ำผุดใกล้ TSF-2 ร่วมกับความผิดปกติทางเคมีของน้ำผุดหลายประการดังกล่าว ก็ประเมินได้ว่า น้ำเหมืองทองรั่วไหลมาจาก TSF-1 น่าจะมาถึงนาข้าวที่มีน้ำผุดเช่นเดียวกัน และทิ้งร่องรอยไว้ แม้ไซยาไนด์จะระเหย หรือถูกย่อยสลายไปแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่อยรอยความสัมพันธ์ของความนำไฟฟ้า กับความเข้มข้นของซัลเฟตในน้ำผุดใกล้ TSF2 ความสัมพันธ์นี้ชี้ว่า น้ำผุดใกล้ TSF 2 เกิดจากการเจือจางของน้ำรั่วจาก TSF-1 ด้วยน้ำธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ ก.พ.ร.เผยแพร่ได้มีการ “หมายเหตุ” เอาไว้ด้วยว่า ควรพิจารณานำข้อมูลไปใช้ด้วยความระมัดระวังด้วย


น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หนึ่งในแกนนำชาวบ้าน อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ที่ออกมาต่อสู้คัดค้านเหมืองทองมาอย่างยาวนาน กล่าวยืนยันตามรายงานว่า มีความผิดปกติทางเคมีของน้ำใต้ดินจากบ่อเฝ้าระวัง มีการรั่วซึมจากบ่อเก็บกากแร่ ซึ่งจริงๆ ทางวิชาการแถลงเมื่อ 28 ก.พ.61 ไปแล้ว และขอเวลาอีก 10 วัน ทำภาคผนวก

ซึ่งขณะนี้คณะผู้วิจัยฯ ก็ได้แนบข้อมูลภาคผนวกเรียบร้อย โดยที่ข้อมูลไม่ได้เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังพบว่าบ่อสังเกตการณ์บ่อเก็บกากแร่ที่ 2 ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำใต้ดินแล้ว พบว่า มีการไหลซึม เชื่อว่ามีการซึมผ่านจากบ่อ 1 ไปบ่อ 2 และไหลสู่แปลงนาข้าว ป่าบัวบริเวณน้ำผุดช่วงตั้งแต่ปลายปี 60 ที่ผ่านมา

น.ส.สื่อกัญญา บอกว่า ตนเชื่อมั่นในผลสำรวจการตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 โดยคณะวิศวกรรม ม.นเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดำเนินการตรวจข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1

น.ส.สื่อกัญญา กล่าวอีกว่า ณ วันนี้เชื่อว่าน้ำรั่วจากเหมืองแน่นอน ซึ่งแต่เดิมช่วงปี 58-59 นั้น ตนเคยยื่นหนังสือเรียกร้องใน 7 ข้อผ่านทาง รมว.อุตสาหกรรม โดย 1 ในนั้น คือ ขอให้อพยพชาวบ้านริมขอบเหมืองทองคำ ออกนอกจากพื้นที่ ทว่า ช่วงนั้นภาครัฐอ้างว่ายังไม่มีผลตรวจว่า พบสารอันตราย แต่เมื่อวันนี้ทราบผลแล้วว่า บ่อเก็บกักแร่รั่วจึงต้องย้อนถามกลับไปยัง รมว.อุตฯ ว่า จะดูแลประชาชนอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อ 17 มิ.ย.59 กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองทอง เคยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ปรับปรุงคุณภาพน้ำ 16 จุดรอบเหมือง ปลูกผักแจกจ่าย ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมอาชีพและเงินทุนแก่ชาวบ้านรอบเหมืองทองคำ

และเมื่อ 22 ก.ย.58 ก็มีหนังสือถึงนายกฯ เรื่อง ขออพยพออกจากภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน และขอให้ประกาศพื้นที่การทำเหมืองแร่ทองคำ และโดยรอบเป็นพื้นที่พิบัติภัยขั้นรุนแรง พร้อมข้อเรียกร้องอื่นๆ คือ 1.ขอให้หยุดสัมปทาน ยกเลิกอาชญาบัตรทั่วประเทศ 2.ให้ประกาศพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติรุนแรง 3.หลังยุติการทำเหมืองต้องตรวจสุขภาพและชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชน 4.ระหว่างจะปิดเหมืองรัฐต้องจัดงบประมาณให้อพยพประชาชน 5.ตั้งคณะกรรมการแก้ไข โดยประชาชนมีส่วนร่วม 6.ยกเลิก พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510

ทั้งนี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ทำเหมืองแร่ทองคำ จากได้รับสัมปทานในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ รับประทานบัตรแปลงแรกปี 2543 และดำเนินการปีต่อมา กระทั่งปี 51 นำแร่ออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ โดยแหล่งชาตรีเหนือ มี 9 แปลง พื้นที่ 2,500 ไร่ มีประทานบัตรปี 2551 และหมดอายุปี 2571 อายุประทานบัตรแปลงละ 20 ปี สามารถต่ออายุได้ 5 ปี

ตามข้อมูลบริษัทฯ ระบุไว้ว่า ผลิตทองคำบริสุทธิ์ได้ปีละ 133,681 ออนซ์ รายได้จากการขาย 7,061 ล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 114 ล้านบาท ค่าภาคหลวง 684 ล้านบาท ปริมาณทองคำที่ผลิตได้สะสม 1,505,120 ออนซ์ ค่าภาคหลวงสะสม 3,238 ล้านบาท ซึ่งมีการกำหนดจัดสรรเงินค่าภาคหลวงแก่หน่วยงานของรัฐตามหลักเกณฑ์ คือ จัดสรรค่าภาคหลวง 40% ให้แก่รัฐส่วนกลาง, 20% ให้ อบจ.ในจังหวัดที่ตั้ง, 20% ให้ อบต.ในพื้นที่ อีก 20% เฉลี่ยให้ อบต.ทั่วประเทศ

อีกด้านหนึ่งประชาชนกลับได้รับผลกระทบเจ็บป่วย โดยมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ตรวจโลหะหนักในร่างกายคนที่อยู่รอบเหมือง ปี 58 (ช่วง ส.ค.-พ.ย.) นำไปพิสูจน์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งพบประชาชน 1,004 ราย มีค่ามาตรฐานโลหะหนักในร่างกายทั้งแมงกานีสในเลือด สารหนูในปัสสาวะ ไทโอไซยาเนตในปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม บริษัท อัครา รีซอร์สเซส เคยชี้แจงว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคํารัศมี 500 เมตร และ 5 กิโลเมตร ตามเงื่อนไขการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ (EHIA) นั้นเป็นที่น่าพอใจ พบประชาชน จํานวน 226 คน ที่เข้าตรวจมีสุขภาพปกติ ไม่พบสารไซยาไนด์ในเลือดเกินเกณฑ์แม้แต่คนเดียว

ขณะที่สารหนู ก็พบอยู่ในอาหารทะเล สาหร่าย ส่วนสารไซยาไนด์ก็อยู่ในหน่อไม้ ควันบุหรี่ ยาฆ่าหญ้า ไมน่าแปลกใจที่ไม่วาใครก็สามารถมีสารเหล่านี้ในร่างกาย

ซึ่งเหมืองทองคำอัคราฯ ระบุว่า ไซยาไนด์เป็นส่วนหนึ่งของสารละลายที่ใช้ในกระบวนการชะละลายทองคำ ซึ่งจะมีค่าประมาณ 150 ppm และท้ายกระบวนการผลิตเหมืองจะควบคุมปริมาณไซยาไนด์ไม่เกิน 20 ppm (20 ในล้านส่วน)


สำหรับเหมืองทองคำชาตรี ของบริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อจ.พิจิตร ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เริ่มประกอบกิจการขุดหาแร่ทองคำตั้งแต่ปี 2544 ก่อนมีประเด็นเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ให้หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่ 1 ม.ค.60 ที่ผ่านมา

โดยปัจจุบัน ทางบริษัทคิงส์เกตคอนโซลิเดทเต็ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในการประกอบการเหมือง ได้ยื่นอนุญาโตตุลาการกรณีการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ของรัฐบาลไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น