มหากาพย์เหมืองทองอัคราใกล้ถึงตอนจบ คณะทำงาน ก.อุตสาหกรรม เผยผลตรวจสอบน้ำซับบริเวณนาข้าวของชาวบ้านที่ร้องเรียน และน้ำในบ่อสังเกตการณ์ 5 บ่อ พบปนเปื้อนสารฟอสเฟตและโลหะหนักอื่นๆ ชี้ชัดเป็นน้ำรั่วไหลจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ของเหมือง
วันนี้ (1 มี.ค.) ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความใเฟซบุ๊ก Smith Tungkasmit ว่า มหากาพย์เหมืองทองอัคราใกล้ถึงตอนจบแล้ว โดยอ้างถึงผลสรุปของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่พบข้อบ่งชี้การรั่วไหลของบ่อเก็บกากแร่ (บ่อทิ้งไซยาไนด์และโลหะหนัก) อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในอีก 10 วัน รายงานฉบับสมบูรณ์จะถูกนำเสนอต่อสาธารณชน
ดร.สมิทธ์ระบุว่า เกือบ 3 ปีที่พยายามพิสูจน์ความจริง เจาะเลือดประชาชนพันกว่าคนรอบเหมืองก็แล้ว ตรวจดิน น้ำ พืช รอบๆ เหมืองก็แล้ว พบตรงกันหมดว่ามีการปนเปื้อนโลหะหนักอย่างมีนัยสำคัญ เหมืองก็ยังปฏิเสธว่ามาจากธรรมชาติบ้าง มาจากบริโภคอาหารทะเลบ้าง ในที่สุดสิ่งที่ชัดเจนคือการพิสูจน์การรั่วของบ่อสารพิษและโลหะหนัก โดย ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.สิรินาฏ เลาหะโรจนพันธ์ และ Dr. Yuji Mitsuhata จาก National Institute of of Advance Industrial Science and Technology ประเทศญี่ปุ่น เป็นประจักษ์พยานที่ยากจะปฏิเสธได้ว่า เหมืองทองคำสัญชาติออสเตรเลียนี้มีปัญหาจริงๆ...
“เราต้องจับตาดูการทำงานของข้าราชการกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ต่อไป...ว่าจะจริงจังแค่ไหน เพราะแค่ “...จะได้ติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำโดยรอบสถานประกอบการ” นั้น...มันจะน้อยไปไหมครับ?” ดร.สมิทธิ์ระบุ
อนึ่ง วานนี้ (28 ก.พ.) นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้แถลงว่า ขณะนี้ผลการศึกษาโครงการสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ด้วยเทคนิคด้านธรณีฟิสิกส์และไอโซโทป โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.สิรินาฏ เลาหะโรจนพันธ์ และ Dr.Yuji Mitsuhata จาก National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อเก็บกากแร่แล้ว สามารถสรุปผลการศึกษา พบความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้าที่แสดงถึงการรั่วไหลของน้ำจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 สอดคล้องกับข้อมูลธรณีเคมีกับไอโซโทป ซึ่งชี้ให้เห็นว่า น้ำจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ไหลมาถึงบ่อสังเกตการณ์ด้านทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ (บ่อเฝ้าระวัง 6468 6473 5339 6691 และ 5338) รวมทั้งพบน้ำซับทางด้านทิศใต้ของบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ด้วย
สำหรับการตรวจสอบน้ำผุดหรือน้ำซับบริเวณนาข้าวที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียน จากการตรวจสอบ 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2559 และ 2560 ไม่พบสารไซยาไนด์ปนเปื้อนในน้ำอย่างมีนัยสำคัญ แต่พบการปนเปื้อนของซัลเฟตและโลหะหนักอื่น และผลการวิเคราะห์ทางเคมีของน้ำจากบ่อเฝ้าระวังชี้ว่า น่าจะเป็นน้ำรั่วไหลจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะได้ติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพน้ำโดยรอบสถานประกอบการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ต่อไป เพื่อความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน