พิษณุโลก/พิจิตร - พิสูจน์ชัด “น้ำเน่าดำคล้ำ” ริมขอบเหมืองทองอัคราฯ ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ พบสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมปนเปื้อนตรึม ทั้งเหล็ก แมงกานีส สารหนู แอมโมเนีย รวมถึงไทโอไซยาเนต หรือสารตกค้างจากไซยาไนด์ เผยแม้โดน ม.44 สั่งปิดแรมปี วันนี้ชาวบ้านยังไม่กล้าปลูกผักกินเอง
ก่อนเปิดศักราชใหม่ปี 61 ชาวบ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ทนกับสภาพน้ำสีผิดธรรมชาติในคลอง และแปลงนาข้าวที่อยู่ชิดกับแนวรั้วของเหมืองทองบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด ที่เปิดเหมืองทองบนพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2544 ก่อนถูกรัฐบาล คสช.ใช้อำนาจ ม.44 สั่งยุติการทำเหมืองตั้งแต่ 1 มกราคม 60 เป็นต้นมา โดยสภาพน้ำเน่าเสีย เปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ ส่งกลิ่นฉุนเหม็นคลุ้ง โดยบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด ได้ยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยเป็นหมื่นๆ ล้านอยู่นั้น
ปัญหาน้ำเสียดังกล่าวกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชาวบ้าน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ อบต.เขาเจ็ดลูกเข้าไปสำรวจแต่ไม่ได้กำจัดสาเหตุต้นตอ เพียงแค่ใส่สารอีเอ็ม บรรเทา และเทปูนขาวเพื่อดับกลิ่น ทั้งยังไม่ยอมให้ชาวบ้านระบายน้ำเสียลงพื้นที่ตอนล่าง อ้างว่าหากปล่อยน้ำเน่าเสียไปแล้วจะกระทบต่อการผลิตระบบประปาที่อยู่ถัดออกไปราว 1-2 กิโลเมตร
นั่นทำให้ชาวบ้านต้องทนอยู่กับน้ำสีดำทะมึนโดยไม่รู้ว่ามีสารพิษหรือไม่
ล่าสุดคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น อุตสาหกรรมจังหวัดฯ และสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ได้เข้าตรวจการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2 (TSF) ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เมื่อ 21 ธ.ค. 60 โดยเก็บน้ำตัวอย่างบริเวณนาข้าวด้านทิศตะวันตกของเหมืองช่วงวันที่ 15-16 พ.ย. 60 โดยมีเจ้าหน้าที่เหมืองทองคำพิจิตร และกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ดำเนินการ
ผลสรุปชัดเจนว่า น้ำผุดในนาข้าวข้างบ่อเก็บกากแร่นั้นพบการปนเปื้อนของแมงกานีสบริเวณน้ำที่ผุดกลางนา แน่นอนว่าเสี่ยงต่อสุขภาพของชาวบ้านชุมชนรอบเหมือง ขณะที่ผลการตรวจน้ำในบ่อเฝ้าระวังน้ำใต้ดินระดับตื้น และลึก ซึ่งเหมืองดำเนินการตรวจสอบอยู่เป็นประจำรอบเหมืองจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 นั้น เป็นไปได้ว่าได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลแน่
และฟันธงว่ามีน้ำซึมลงใต้ดิน ส่งผลให้มีการรั่วไหลจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF) มีโอกาสไหลถึงนาข้าว ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับบ่อเก็บกากแร่ที่ 2 (TSF)
สรุปเบื้องต้นได้ว่า น้ำสีดำคล้ำที่ผุดออกมา และไหลลงนาข้าวของชาวบ้านนั้นเป็นน้ำเสียจากอุตสาหกรรม ไม่ใช่น้ำธรรมชาติหรือน้ำเสียจากชุมชนทั่วไป โดยพบการปนเปื้อนแอมโมเนียเท่ากับ 0.11 mg/L ซึ่งแอมโมเนียเป็นสารปนเปื้อนที่ตรวจพบในบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF)
นอกจากนี้ยังพบความเข้มข้นของซัลเฟต บริเวณป่าบัว-น้ำผุด 192 mg/L และน้ำดำในนาข้าว 70.8 - 167 mg/L รวมทั้งพบการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำผุดจากป่าบัว และป่าบอน สูงถึง 0.01 และ 0.15 mg/L (ตามลำดับ) ขณะที่ต้นน้ำมีแค่ 0.0006 mg/L
ผลการตรวจสอบยังพบการปนเปื้อนเหล็ก และแมงกานีส ความเข้มข้นสูงมากจากน้ำผุดในป่าบัว และป่าบอน 5.59 - 17.9 mg/L ในน้ำดำมี 2.65 - 6.31 mg/L ซึ่งถือว่าเกินค่าที่ยอมรับได้ ในขณะที่ต้นน้ำมีเพียง 0.22 mg/L และพบไทโอไซยาเนตเพิ่มเติมจากน้ำตามธรรมชาติทั้งสองจุดประมาณ 3-4.5 เท่า
แต่การตรวจไม่พบไซยาไนด์ เนื่องจากไซยาไนด์สลายเร็ว เป็นไปได้ว่าคงทิ้งร่องรอยเพียงแค่สารเคมีบางตัว คือ “ไทโอไซยาเนต” เท่านั้น
นั่นหมายถึง ณ วันนี้ยืนยันชัดเจนได้แล้วว่า น้ำสีดำคล้ำที่ไหลลงนาชาวบ้านเขาดินไม่ใช่สีธรรมชาติ ชาวบ้านปักใจเชื่อว่าน้ำเน่ามาจากเหมืองกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
หากมองย้อนไปช่วง 1-2 ปีก่อนปิดเหมืองนั้น ชาวบ้าน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบเหมืองทองเข้าขั้นวิกฤต ถึงขั้นต้องแบ่งปันอาหารกินมาแล้ว โดยหน่วยงานราชการและเหมืองทองได้ตรวจในพืชผักแล้วพบสารปนเปื้อน ทำให้จังหวัดพิจิตรทำคูปองให้ชาวบ้านเอาไปแลกผักที่หน่วยงานจังหวัดพิจิตร จัดหาพ่อค้าผักมาขายให้แทน
เท่ากับว่าผลไม้และผักริมรั้วข้างบ้านไม่สามารถรับประทานได้ แต่ ณ วันนี้หน่วยงานราชการพิจิตรอ้างว่างบหมด ไม่สามารถส่งผักสวนครัวมาจำหน่ายราคาถูกแล้ว ประกอบกับเหมืองปิดถือว่ายกเลิกไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแม้ว่าเหมืองจะถูกปิดตัวตามคำสั่ง ม.44 มานานถึง 1 ปีแล้ว ชาวบ้านก็ไม่กล้าปลูกพืชผักไว้บริโภค และหากถามคนชุมชนรอบเหมืองว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เขาก็บอกว่า ก่อนเหมืองมาเขาก็อยู่ได้ ส่วนเหมืองปิดแล้ว พวกเขาก็ต้องอยู่ได้จนถึงวันนี้
แต่สิ่งที่เหมืองทิ้งไว้คือ น้ำเสียไม่ใช่สิ่งธรรมชาติ เป็นน้ำเสียจากอุตสหกรรมรั่วไหลซึมลงใต้ดิน โผล่กลางแปลงนาชาวบ้าน