พิจิตร/พิษณุโลก - ตามพิสูจน์ให้เห็นกับตา น้ำเน่าดำคล้ำเป็นฟองฟอด เหม็นคลุ้งยังผุดลงนาข้าวติดแนวรั้วเหมืองทองอัคราฯ ไม่หยุด หลังโดน ม.44 สั่งยุติเหมืองมาตั้งแต่ต้นปี และกำลังอยู่ระหว่างยื่นร้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ชาวบ้านผวาน้ำบ่อกักแร่รั่วไหลลงใต้ดิน
วันนี้ (27 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่เหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ที่ประกอบกิจการขุดหาแร่ทองคำตั้งแต่ปี 2544 ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ถูกรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ ม.44 สั่งให้หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่ 1 ม.ค. 60 ที่ผ่านมา กำลังหาช่องยื่นอนุญาโตตุลาการเพื่อให้กลับมาเปิดเหมืองได้อีกครั้งนั้น
ล่าสุดดูเหมือนว่าชาวบ้านเขาดิน หมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งอยู่รอบเหมืองทองอัครา และใกล้กับบ่อเก็บกักแร่แห่งใหม่ของเหมืองยังต้องผจญกับผลกระทบไม่จบไม่สิ้น เนื่องจากน้ำในคลอง และนาข้าวในพื้นที่ชิดกับแนวรั้วของเหมืองทองอัคราฯ ยังคงส่งกลิ่นเหม็นฉุนคลุ้งไปทั่ว น้ำเน่าเสียเปลี่ยนเป็นสีดำไหลเอื่อยๆ ลงนามานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว
ชาวบ้านกำลังวิตกกับเหตุการณ์ผิดปกติดังกล่าว เพราะปีก่อนๆ ก็เคยเจอเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ แต่ก็น้อยกว่ามาก อาจเป็นเพราะปีนี้ฝนตกชุก จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากการรั่วซึมของบ่อทิ้งกากแร่ลงใต้ดิน
เพราะที่นาประมาณ 8 ไร่เศษๆ อยู่ห่างบ่อเก็บกักแร่เพียงไม่กี่ร้อยเมตร และอยู่ชิดแนวลวดหนาม (ขอบเขตที่ดินของเหมืองทองคำ) มีน้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็น และมีฟองขาวๆ ผุดขึ้นมาจนถึงขณะนี้ และล่าสุดน้ำเน่ายังคงไหลสู่คลองสาธารณะกลายเป็นสีดำ แม้ว่ามีกระสอบทรายอุดท่อซีเมนต์กั้นน้ำไปบางส่วนแล้วก็ตาม ขณะชาวบ้านก็ยังต้องทนอาศัยอยู่บ้านประกอบอาชีพต่อไป
นายลำพอง เปียดี อายุ 67 ปี บ้านเลขที่ 61 หมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร บอกว่า น้ำเริ่มเหม็นเน่ามาตั้งแต่หลังเกี่ยวข้าวเสร็จ หรือ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่หลายปีก่อนก็มีน้ำไหลซึมแต่ไม่ดำมาก กระทั่งปีนี้น้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็นและมีสีดำคล้ำมาก แถมมีฟองขาวๆ อยู่บนแปลงนา ซึ่งห่างจากบ่อทิ้งกากแร่ของเหมืองทองแห่งใหม่ประมาณ 500 เมตรถึง 1 กิโลเมตรเท่านั้น
นายลำพองบอกว่า ตนทำกินและอยู่ ต.เขาเจ็ดลูก เคยทำบนนาแปลงที่มีปัญหาแห่งนี้ และก่อนเปิดเหมืองฯ ก็ดื่มน้ำบ่อซึมแถวนี้ แต่ปัจจุบันไม่กล้าดื่ม ต้องซื้อน้ำดื่มเหมือนกันทั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2513 เหมืองเปิด ชีวิตหลายคนก็เปลี่ยนไป ตนเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง แม้ว่ามีโรคประจำตัวอยู่บ้าง
“ช่วง 2-3 ปีก่อน หมอพรทิพย์นำทีมแพทย์มาเจาะเลือดและเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจโรคพบว่าผมมีสารไซยาไนด์เกินมาตรฐาน (78) และมีสารหนู 180 ทุกวันนี้สุขภาพไม่ค่อยดี แขน-ขาอ่อนแรง ทำงานไม่ค่อยไหว ส่วนชาวบ้านคนอื่นก็มีอาการคล้ายๆ กัน เจ็บป่วยบ่อยครั้ง บางคนต้องเสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด ปัจจุบันสภาพบ้าน ต.เขาเจ็ดลูกถือว่าดีขึ้นเพราะเหมืองฯ ปิด ทุกคนหายใจโล่ง และไม่มีฝุ่นเกาะติดตามทีวี หรือเครื่องใช้ในบ้าน”
นายมานิด ลำพระสอน บ้านเลขที่ 53 หมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร บอกว่า มีคนพูดว่าเหมืองทองคำถูกปิดทำให้เศรษฐกิจไม่ดีนั้น ไม่เชื่อ เพราะก่อนจะมีเหมืองชาวบ้านก็อยู่กันได้ เขาไม่คิดว่าลูกหลานจะอยู่กันอย่างไร ส่วนผู้สูงอายุเดี๋ยวก็ตายไป ส่วนคนที่บอกว่าหน่วยงานราชการบอกว่า “เหมืองอยู่ได้ เราก็อยู่ได้” อยากถามกลับไปว่า ทำไมคนของราชการไม่มาอยู่ที่บ้านเขาเจ็ดลูกบ้าง
อย่างไรก็ตาม กรณีน้ำเน่าเสียบนแปลงนานั้นยังส่งกลิ่นเหม็น และน้ำยังคงไหลเอื่อยๆ ลงแปลงนาตอนล่าง กระทั่งมีเจ้าหน้าที่จากอำเภอทับคล้อได้นำปูนขาวมาโรยบริเวณน้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็น ขณะที่หน่วยงานราชการได้เก็บตัวอย่างน้ำไปพิสูจน์แล้ว ไม่กี่วันคงจะรู้ผล
แต่ไม่มั่นใจว่าผลพิสูจน์น้ำเสียจะประกาศให้ชาวบ้านทราบได้หรือไม่ เพราะชาวบ้านหลายคนผวาเหตุต้นตอน้ำที่เน่าเสียน่าจะเกิดมาจากบ่อทิ้งกากแร่ของเหมืองทองอัคราฯ รั่ว และทราบข่าวว่าแปลงนาที่มีปัญหาน้ำเน่าเสียทางเหมืองฯ ได้เยียวยาไปบ้างแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อ 2 พ.ย.ที่ผ่านมาเหมืองทองอัคราฯ พร้อมกับฝ่ายกฎหมายบริษัท คิงส์เกต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ยื่นเอกสารเพื่อร้องขอความเป็นธรรมไปยังอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้รัฐบาลทวนคำสั่งการใช้ ม.44 แต่ยังต้องรอผลว่าจะรับคำร้องหรือรับคำฟ้องหรือไม่