xs
xsm
sm
md
lg

ก่อนถึงอนุญาโตฯ..เหมืองทองอัคราฯ-ชาวบ้านมีคดีกันเป็นพรวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิจิตร/พิษณุโลก - แม้จะถูกสั่งปิดเหมืองมาร่วมปี แต่ความขัดแย้งระหว่างเหมืองทองอัคราฯ-ชาวบ้านเขาเจ็ดลูกยังคงคุกรุ่น หลายคดีที่ฟ้องร้องกันมาก่อนหน้านี้ยังคาศาล

ขณะที่บริษัทคิงเกตส์ บริษัทแม่ของเหมืองทองอัคราฯ หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เดินหน้ายื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อให้รัฐบาลไทยทบทวนการใช้ ม.44 สั่งปิดเหมือง-เรียกค่าชดเชยหลายหมื่นล้าน ตลอดระยะเวลาที่เหมืองทองอัคราฯ ดำเนินกิจการในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ผู้เกี่ยวข้องยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกันเป็นพรวน

น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้าน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร หนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองอัคราฯ เปิดเผยว่า เริ่มจากคดีที่ 1 บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ฟ้องตน และนางสาวชนัญชิดา ลิ้มนนทกุล ตัวแทนชาวบ้านอีกคน ในข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ช่วงที่นำชาวบ้านไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เมื่อ 14 ก.ย. 58 ซึ่งคดีนี้ศาลยกฟ้องไปแล้ว

คดีที่ 2 เหมืองทองคำ ฟ้อง น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง และ นางสมลักษณ์ หุตานุวัตร ตามข้อหาความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีโพสต์เรื่อง BOI ซึ่งคดีนี้ศาลได้ยกฟ้องไปแล้วเช่นกัน

คดีที่ 3 เหมืองฟ้อง น.ส.สื่อกัญญา พร้อมชาวบ้าน 27 คน ข้อหาชุมนุม ขัดขวางบริษัทเหมืองทองคำไม่ให้ระเบิดและขนแร่ คดีนี้ศาลตัดสินให้ชาวบ้านชุมนุมด้วยความสุจริต เพราะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ศาลเมตตา ให้รอกำหนดโทษภายใน 1 ปี

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 59 บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินกิจการเหมืองทอง ขนแร่ผ่านเส้นทางสาธารณะบริเวณถนนรอบเหมือง แต่มีการระบุว่า ทางกลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันเข้าขัดขวางรถขนแร่เพื่อไม่ให้ผ่านเส้นทาง หลังจากนั้นทางบริษัทได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความเอาผิดชาวบ้านดังกล่าว

ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองอัคราก็ได้ฟ้องร้องบริษัทอัคราฯ หลายคดี คือ น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, คณะกรรมการเหมืองแร่, อธิบดีกรมป่าไม้ และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ต่อศาลปกครองพิษณุโลก เมื่อปลายปี 2553 ขอถอนประทานบัตรเฟสที่ 2 เมื่อ 27 มี.ค. 55 ตามคดีดำเลขที่ 228/2553 คดีแดงเลขที่ 163/2555 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง เพิกถอนประทานบัตรของบริษัทฯ เป็นจำนวน 5 แปลง

ศาลปกครองเห็นว่า แปลงประทานบัตรจำนวน 5 แปลง ดำเนินการทำ EHIA ภายใน 1 ปีให้เรียบร้อยก่อน เพราะถือว่าเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมาตรา 67 กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ถ้าภายใน 1 ปี หากบริษัทไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จก็ให้เพิกถอนประทานบัตรทั้ง 5 แปลง

คดีที่ 2 ชาวบ้านพิจิตร และเพชรบูรณ์ เกือบ 400 คน ฟ้องบริษัทอัคราฯ ที่ศาลแพ่งรัชดา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เมื่อ 27 พ.ค. 59 เรื่องละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เรียกค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยมีสารพิษในร่างกาย, ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัย, ค่าใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพในครัวเรือน, ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เรียกค่าเสียหายคนละประมาณ 1,588,000 กว่าบาท รวมกว่า 600 ล้านบาท ล่าสุดคดียังอยู่ขั้นไต่สวนเพื่อตัดสินว่าจะให้เป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่

คดีที่ 3 ชาวบ้าน หมู่ที่ 3 บ้านเขาดิน หมู่ที่ 7 บ้านหนองขนาก หมู่ที่ 8 บ้านเขาดิน หมู่ที่ 9 บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร จำนวน 108 คน ฟ้องบริษัทอัคราฯ ขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นจำเลยที่ 1 ถึงจำเลย ที่ 14 ในข้อหาละเลยต่อหน้าที่ ปล่อยให้บริษัทอัคราไมนิ่งฯ สร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 และประกอบโลหกรรมส่วนย่อยโดยไม่ชอบหรือไม่ได้รับอนุญาตจากราชการ, ออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 11) และละเลยไม่ดูแลทางสาธารณประโยชน์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 12)
ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้
1. ให้โรงงานเหมืองแร่ทองคำและประกอบโลหกรรมส่วนขยายของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หยุดการทำงานและห้ามออกใบอนุญาตการขยายโรงงานให้บริษัทอัคราไมนิ่งฯ ด้วย
2. เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่บนพื้นที่จัดตั้งสถานที่เพื่อเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ที่ 1/2548 และที่ 2/2553 (ที่ถูกคือที่ 2/2554)
3. ห้ามก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) บนที่ดินตามใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ที่ 1/2548 และที่ 2/2553 (ที่ถูกคือที่ 2/2554)
4. ให้คืนสภาพทางสาธารณประโยชน์สายนาตาหวาย-อ่างหิน
5. เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 16811 ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร
6. ขอให้ระงับการดำเนินการใดๆ ในเขตพื้นที่โครงการขยายโรงงานประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ และพื้นที่ก่อสร้างตามใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ที่ 1/2548 และที่ 2/2553

ศาลปกครองพิพากษาสั่ง “อัคราไมนิ่ง หรือบริษัทอัครารีซอร์สเซสฯ” ระงับทำเหมืองทองคำในพื้นที่ส่วนขยาย และห้ามใช้บ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 เมื่อ 29 พฤษภาคม 2557 ตามคดีหมายเลขดำที่ ส.2/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส.2/2557

คดีที่ 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือ ยกฟ้อง กรณีโจทก์ จำนวน 2 ราย ยื่นฟ้อง 4 จำเลย ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ข้อหาละเว้น มาตรา 157 เนื่องจากทางราชการปล่อยให้บริษัทอัคราฯ ขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต




กำลังโหลดความคิดเห็น