“กพร.” เผย พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว 29 ส.ค.นี้ แต่ยอมรับยังมีผู้ประกอบการเหมืองแร่ทั่วไปที่จ่อรออนุมัติอาชญาบัตร ประทานบัตร ต่ออายุทั้งเก่าใหม่ 40 รายลุ้น “อุตตม” อนุมัติได้ทันก่อน ขณะที่เหมืองทองคำ 13 รายที่สุดต้องรอ “ลุงตู่” เคาะ
นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า วันที่ 29 สิงหาคมนี้ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ครบ 180 วันในการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นขั้นตอนดำเนินการต่างๆ จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีคำขออาชญาบัตร ประทานบัตรทำเหมืองแร่ และต่ออายุทั้งเก่าและใหม่ที่ค้างการอนุมัติรวม 40 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทหินก่อสร้าง หินปูน ยิปซัม ฯลฯ
“40 รายดังกล่าวจากการพิจารณาเบื้องต้นก็ผ่านขั้นตอนมาพอสมควร และคาดว่าจะนำเสนอ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม อนุมัติภายใต้อำนาจตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับเดิมได้ ขณะเดียวกันกำลังเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาผ่อนปรนหากกรณีที่ไม่สามารถอนุญาตได้ทันก่อนวันที่ 29 ส.ค.นี้ ทั้งนี้เพราะเห็นว่าขั้นตอนต่างๆ ทำมาพอสมควรและมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเป็นแร่ที่เป็นต้นทุนในการพัมฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” นายวิษณุกล่าว
สำหรับเหมืองแร่ทองคำนั้น จากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้อำนาจ ม.44 สั่งให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตร และใบอนุญาตทุกประเภท ยุติการทำเหมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ทำให้การอนุมัติกิจการเหมืองแร่ทองคำหยุดตั้งแต่นั้นมา และขณะนี้มีผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำยื่นขออาชญาบัตร และประทานบัตรและการต่ออายุ 13 ราย เช่น บ.อัคราไมนิ่ง อมันตรา ซับภูมิ โกลบอลเวนเจอร์ ทุ่งคำ คลองตะแบก เป็นต้น ครอบคลุม 10 จังหวัดประมาณ 100 แปลงบนพื้นที่ประมาณกว่า 3 หมื่นไร่ การพิจารณาขั้นสุดท้ายนั้นคงจะต้องอยู่ที่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
“ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่จะมีคณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีที่จะต้องพิจารณาอนุมัติ ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของ ม.44 ที่กำหนดไว้ก็อยู่ที่สุดท้ายรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ส่วนกรณีเหมืองแร่ทองคำ บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ ครม.ให้ยุติดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่ปลายปี 2559 นั้นยอมรับว่ายังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพอย่างแท้จริง รวมถึงกรณีบ่อเก็บกากรั่วหรือไม่รั่วแม้จะให้ญี่ปุ่นมาช่วยศึกษาแต่ผลการศึกษาไม่ได้ทิ้งการวิเคราะห์ไว้ทำให้ต้องเชิญมาหารือใหม่ อย่างไรก็ตาม กรณีทั้งหมดกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพิจารณายังไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเป็นความลับราชการ” นายวิษณุกล่าว
สำหรับ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 สาระสำคัญจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ เช่น กำหนดการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ไม่เกิน 30% ของราคาตลาดแร่จากเดิมไม่เกิน 20% กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการฝ่าฝืนกฎหมายมีประสิทธิภาพ โดยปรับเพิ่มอัตราโทษ 30 เท่าของอัตราโทษเดิม ปรับอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 100 เท่าจากกฎหมายว่าด้วยแร่ฉบับเดิม กำหนดพื้นที่ที่สงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้โดยจะต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซึมซับ พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่ที่กฏหมายห้ามเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด
กำหนดให้มีการแบ่งการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท และมีการลดภาระในการขอและออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับแร่เท่าที่จำเป็น เพื่อกระจายอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้เหมาะสมกับการทำเหมืองแร่แต่ละชนิด เป็นต้น