xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทย “อีสาน” ยังเลือดไหลไม่หยุด-เสียอะไรไม่เท่าเสียหน้า!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร , สุพล ฟองงาม
เมืองไทย 360 องศา


อาจจะเป็นเพราะเป้าหมายของ “พลังดูด” กำลังมุ่งไปที่พรรคเพื่อไทย จนกลายเป็นว่าเกิดปฏิกิริยาโต้กลับรุนแรงมาเหมือนกัน เพราะหากพิจารณากันอีกด้านหนึ่งที่ได้ยินเสียโวยวายออกมาจากพรรคดังกล่าวดังกว่าใครในความหมาย ก็คือ “ใช่” ว่า กำลังถูกกระทบกระเทือนหนักกว่าใคร แต่ก็แปลกเหมือนกันว่าในระยะหลังทำไมถึงมีท่าทีเห็นใจจากคนรอบข้างน้อยลงทุกที

อาจเป็นเพราะจุดกำเนิดของพรรคเพื่อไทย มาตั้งแต่ในยุคพรรคไทยรักไทยที่เริ่มจดทะเบียนพรรคในวันที่ 14 กรกฎาคม 2544 ที่ ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็น “เจ้าของ” พรรคมาตั้งแต่แรกก็ใช้วิธี “ดูด” หรือหนักกว่านั้นคือ “ซื้อยกพรรค” จากที่เคยมีการพูดถึงกรณีพรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ “กลุ่มวังน้ำเย็น” ที่ตามข่าวบอกว่าพ่วงออปชันสนามกอล์ฟในย่านรังสิต ที่ดังกระหึ่มในยุคนั้นมาแล้ว

เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบันที่กลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย และต้องมาเจอกับยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รับรู้กันว่า “รู้ทัน” ทักษิณ ชินวัตร มากที่สุด และก็น่าเชื่อว่าหากจะ “ปิดเกม” ทักษิณ ได้อย่างถาวรก็มีแต่เขาเท่านั้นที่น่าจะทำได้ เพราะเวลานี้ถือว่าเขามีองค์ประกอบครบถ้วนหมดทุกอย่าง ทั้งอำนาจ บารมี และกลุ่มทุนสนับสนุน ที่นับวันยิ่งเข้มข้น หากสังเกตให้ดีด้วยระยะเวลานานกว่า 4 ปี ก็ยังแรงไม่ตก และที่สำคัญ ยังสามารถ “กด” ฝ่ายตรงข้ามจนไม่อาจโงหัวขึ้นมาได้เลย

เพราะหากพิจารณาเปรียบเทียบจาก “สถานะเผด็จการ” ที่เคยเห็นมาในอดีตยิ่งเวลาผ่านไปนานมากเท่าใด ก็จะยิ่งสร้างเงื่อนไขให้เกิดการ “โค่น” หรือขับไล่ออกไปได้มาก แต่สำหรับกรณีของ “บิ๊กตู่” กลับเป็นตรงกันข้าม ยิ่งนานกลับยิ่งดูมั่นคง มีกระแสความเป็นผู้นำสูงขึ้น ขณะที่ฝ่ายการเมืองเสียอีกที่ยิ่งนานกลับไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านได้มากขึ้น จนเวลานี้เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความสะอิดสะเอียนว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะได้นักการเมือง หรือพวกนักธุรกิจการเมืองพวกนี้กลับมาอีก และนี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมมีคนหลายคนเหมือนกันที่เฉยๆ กับคำว่า “ประชาธิปไตย” ด้วยการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน แน่นอนว่า เวลานี้เรื่อง “พลังดูด” กำลังถูกพูดถึง ถูกวิจารณ์จากฝ่ายพรรคการเมืองบางพรรคโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมากกว่าใคร ซึ่งก็ต้องยอมรับความจริงว่าพรรคของ ทักษิณ ชินวัตร กระทบกระเทือนมาก เพราะตามข่าวระบุว่า “ถูกดูด” ออกไปหลายคนแล้วทั้งในกลุ่มอดีต ส.ส.ภาคกลาง และภาคอีสาน แต่ล่าสุดกลายเป็นว่า “สมัครใจยอมให้ดูด” ก็มีไม่น้อย

เพราะจากรายงานจากพรรคเพื่อไทย มีการกล่าวหาจากอดีต ส.ส.รายหนึ่งที่ย้ายพรรคไปเรียบร้อยแล้วที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ดูดำดูดีเลย ความหมายเหมือนกับว่า “ลอยแพ” กันไปเรียบร้อยแล้ว แบบนี้ก็ย่อมหมายรวมถึง “ท่อน้ำเลี้ยงก็ย่อมตัน” อีกด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปแล้ว “ไม่เห็นอนาคต” สังเกตได้จากในพรรคเพื่อไทยเวลานี้ยังไม่มีใครโดดเด่นพอที่จะมาเป็นผู้นำ หรือแม้แต่จะเข้าใจกันว่าเป็นเพียงแค่ “หุ่นเชิด” รายใหม่ ก็ยังไม่เห็นแววสักคน แคดิเดตก่อนหน้านี้อย่าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาถึงตอนนี้ก็ดูฝ่อไปแล้ว เนื่องจากในพรรคก็มีกระแสต้านค่อนข้างสูง

ดังนั้น เมื่อมองไม่เห็นอนาคตมันก็ย่อมเป็นธรรมชาติของพวกนักการเมืองพวกนี้ที่ย่อมต้องดิ้นรนเพื่อโผไปที่พรรคที่มีโอกาสจะได้เป็นรัฐบาล เหมือนกับก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่มีการก่อกำเนิดของพรรคไทยรักไทยนั่นแหละ

โดยเฉพาะบรรดาอดีต ส.ส.หรือพวกหัวหน้าก๊วนในกลุ่มจังหวัด คนพวกนี้เขามีศักยภาพของตัวเองในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็พวกที่พอมีพลังในตัวเอง คนกลุ่มนี้แหละที่เป็นเป้าหมายของพลังดูด ส่วนพวกที่อยากให้ดูดแต่ไม่มีใครมาดูด พวกนี้แหละที่มักส่งเสียงโวยวาย ซึ่งในวงการก็เข้าใจกันดีว่านี่คือรายการ “ปั่นราคา” ให้ตัวเองทำนองว่ามีคนนั้นคนนี้พยายามมาดูดแต่ไม่ยอมไปอารมณ์ประมาณนี้

แน่นอนว่า หลายคนพยายามจับตามองกับการลงพื้นที่จัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ที่ จังหวัดอุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ในวันที่ 23-24 กรกฎาคม ว่า แฝงนัยยะการเมือง จะมีเรื่อง “พลังดูด” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการจับตาว่ามีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย คนสำคัญในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ อย่าง นายสุพล ฟองงาม อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงเป็นแกนนำคนเสื้อแดงที่ชื่อว่า “กลุ่มชักธงรบ” ที่มีข่าวหนาหูว่าได้ย้ายพรรคเรียบร้อยแล้ว หากเรื่องนี้เป็นจริง รับรองว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนกับอนาคนพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง เพราะนี่คือการย้ายพรรคในระดับรากหญ้า และยังอาจมีผลทำให้พรรคเพื่อไทยล่มสลายได้เลยทีเดียว

ดังนั้น แม้ว่าการลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ จะมีการย้ำว่าไม่มีเรื่องการเมือง แต่ไม่ว่าใครมันก็ย่อมมองออก เอาเป็นว่าให้สังเกตบรรยากาศในพื้นที่ในช่วงนั้นให้ดีก็แล้วกันว่าจะมีการเคลื่อนไหวของพวกอดีต ส.ส.ในพื้นที่อย่างไรกันบ้าง ให้ลองโฟกัสไปทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย นั่นแหละ!!


กำลังโหลดความคิดเห็น