xs
xsm
sm
md
lg

‘มิเตอร์เทอร์โบ’ บนรถแท็กซี่ ภัยเงียบคนกรุงฯ กลับมาอีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ช่วงนี้เห็นข่าวคราว “มิเตอร์เทอร์โบ” กำลังเกิดขึ้นในหมู่โชเฟอร์แท็กซี่ ถือเป็นภัยเงียบของคนกรุงเทพฯ เพราะประชาชนทั่วไปแทบจะไม่รู้ว่าค่าโดยสารที่จ่ายไปนั้นสูงเกินจริงหรือไม่?

“มิเตอร์เทอร์โบ” คือการดัดแปลงมาตรค่าโดยสาร (มิเตอร์) เพื่อให้โชเฟอร์แท็กซี่ลักลอบขยับตัวเลขค่าโดยสารได้ตามใจชอบ โดยนำสายไฟเชื่อมจากมิเตอร์ไปยังวงจรไฟฟ้าที่ติดตั้งสวิตซ์ลับตามจุดต่างๆ

เมื่อผู้โดยสารนั่งมาด้วยไม่ได้สังเกต โชเฟอร์แท็กซี่ก็จะค่อยๆ กดสวิตซ์ลับเพื่อขยับตัวเลขค่าโดยสารครั้งละ 2 บาท ซึ่งจะผิดเพี้ยนไปจากค่าโดยสารที่คิดตามระยะทางที่กำหนด

มิเตอร์เทอร์โบ มีมานานกว่า 20 ปีแล้ว กลุ่มเป้าหมายจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เรียกรถจากสนามบินดอนเมืองเพื่อเข้าเมือง เพราะไม่รู้ระยะทาง แต่ถ้าเป็นคนไทยมักจะไม่กล้ารับ โดยอ้างว่ามิเตอร์เสีย เพราะกลัวถูกจับได้ว่าโกง

ตามรายงานข่าวระบุว่า สมัยก่อนมีการจ้างดัดแปลงมิเตอร์คันละ 1,500 บาท แม้กรมการขนส่งทางบกจะกวดขันจับกุมบ่อยครั้ง แต่ก็มีโทษปรับเพียงแค่ 2,000 บาท เพราะเอาผิดได้แค่ข้อหาดัดแปลงสภาพรถ ทำให้คนพวกนี้ย่ามใจ

เมื่อกรมขนส่งฯ กำหนดให้ตรวจสภาพรถแท็กซี่ทุก 6 เดือน หนึ่งในนั้นคือตรวจสอบมิเตอร์ว่าแก้ไขหรือปรับให้หมุนเร็วกว่าปกติหรือไม่ หากพบว่าถูกต้องจะซีลตะกั่วที่มิเตอร์ ป้องกันไม่ให้ถูกดัดแปลง ปัญหามิเตอร์เทอร์โบจึงเงียบหายไประยะหนึ่ง

แต่เมื่อไม่นานมานี้ มิเตอร์เทอร์โบเริ่มกลับมาอีกครั้ง ฝ่ายที่จับได้กลายเป็นบริษัทฯ ที่ตรวจเจอในช่วงที่รถแท็กซี่เข้ามาตรวจสภาพประจำปี และตัดสินใจยกเลิกบัตรคนขับในที่สุด

เฟซบุ๊ก บริษัท สมาร์ทแท็กซี่ จำกัด ผู้พัฒนาระบบ “สมาร์ท แท็กซี่” (SMART TAXI) ที่เข้าร่วมโครงการแท็กซี่โอเค (TAXI OK) ของกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมา พบแท็กซี่ดัดแปลงมิเตอร์เทอร์โบมาแล้ว 4 คัน

โดยพบว่ามีการติดตั้งสวิตซ์ลับ ลักษณะเป็นวงจรเพิ่มรอบล้อ บริเวณช่องว่างระหว่างเกียร์กับเบรกมือ ที่เก๊ะใส่เหรียญฝั่งคนขับ แม้กระทั่งสวิตซ์แบบใช้เท้าเหยียบใกล้กับเบรกก็มี สังเกตได้จากระยะทางไม่ถึง 100 เมตรค่าโดยสารก็เพิ่มขึ้นแล้ว

เบื้องต้นทางสมาร์ทแท็กซี่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ยกเลิกบัตรคนขับและแก้ไขระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับวอนโชเฟอร์แท็กซี่คนอื่นๆ อย่าทำแบบนี้ เพราะจะมีความผิดตามกฏหมาย

รถแท็กซี่ลักลอบติดมิเตอร์เทอร์โบ คนที่ทำก็ไม่ได้สนใจอะไร มาทำให้วงการแท็กซี่เสียหายแล้วก็ไป เสียชื่อ เสียภาพลักษณ์และอีกหลายอย่าง แท็กซี่ดีๆ ยังมีอยู่เยอะ หากยังไม่ได้รับการดูแลก็อาจจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ







“มิเตอร์เทอร์โบ” ยังพบในรถแท็กซี่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้ามารับผู้โดยสารที่นี่ ต้องลงทะเบียนกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สร้างความเสื่อมเสียทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยว

กรณีล่าสุดกับนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ กดบัตรคิวใช้บริการรถแท็กซี่ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปส่งที่ถนนข้าวสารโดยกดมิเตอร์ไปด้วย ปรากฎว่าค่าโดยสารมิเตอร์พุ่งสูงถึง 3,985 บาท ด้วยความเอะใจจึงร้องเรียนกับตำรวจท่องเที่ยว

เมื่อตรวจสอบศูนย์รถแท็กซี่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทราบชื่อคนขับรถ ก็เลยเรียกมาสอบสวน ปรากฎว่าตรวจสอบสภาพรถพบดัดแปลงมิเตอร์เทอร์โบ ติดตั้งวงจรไฟฟ้าสวิตซ์ลับบริเวณคันเกียร์ พอผู้โดยสารเผลอก็กดทีหนึ่ง

เจ้าตัวรับสารภาพ อ้างว่าจำมาจากวงการแท็กซี่ด้วยกันแล้วดัดแปลงด้วยตัวเอง

สุดท้ายก็วัวหายล้อมคอก ข้อหาแก้ไขมิเตอร์ ปรับ 2,000 บาท ข้อหาเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา ปรับ 5,000 บาท พักใช้ใบขับขี่ 6 เดือน ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพิกถอนใบอนุญาต ห้ามเข้ามารับผู้โดยสารทั้งที่สุวรรณภูมิและดอนเมือง

คนที่จับได้ก็ลงโทษกันไป แต่คนที่จับไม่ได้ ยังลอยนวลอยู่บนท้องถนนในกรุงเทพฯ โดยไม่รู้ว่าทั้งคนไทยและต่างชาติ ใครจะตกเป็นเหยื่อ จ่ายค่าโดยสารที่แพงเกินจริงให้กับ “โชเฟอร์แท็กซี่นอกรีต” โดยไม่รู้ตัว



ที่น่าเป็นห่วงก็คือ แม้กรมขนส่งฯ จะกำหนดให้ตรวจสภาพรถแท็กซี่ทุก 6 เดือน แต่ปัญหาก็คือ ยังมี “แท็กซี่เก่า” หรือแท็กซี่หมดอายุแล้วกว่า 2 หมื่นคัน ส่วนหนึ่งยังคงวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารตามปกติ โดยเฉพาะย่านชานเมืองและจังหวัดปริมณฑล

แต่สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน มักจะเข้ามาวนเวียนรับ-ส่งผู้โดยสารในเวลากลางคืน เนื่องจากเล็ดรอดสายตาเจ้าหน้าที่ แตกต่างจากช่วงกลางวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมขนส่งฯ ตรวจจับอย่างเข้มงวด จึงวิ่งได้แค่ชายขอบกรุงเทพฯ

แท็กซี่ที่สิ้นอายุการใช้งาน 9 ปีเหล่านี้ ย่อมหลีกเลี่ยงการตรวจสภาพรถ เพราะถึงตรวจยังไงก็ไม่ผ่าน กลายเป็นช่องโหว่ที่พวกเขาจะทำผิดกฎหมายยังไงก็ได้ ทั้งการเลือกปฏิบัติแก่ผู้โดยสาร การคิดราคาเหมา หรือการดัดแปลงมิเตอร์เทอร์โบ

รวมทั้งเมื่อแท็กซี่เก่าถูกเปลี่ยนมือกันง่าย ไม่ผ่านการเช็กประวัติ กลายเป็นการเปิดช่องให้โชเฟอร์ที่ไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะมาขับก็ได้ น่ากลัวว่าจะกลายเป็นมิจฉาชีพ ข่มขู่เรียกค่าโดยสารเกินจริง ไปจนถึงใช้แท็กซี่เถื่อนก่ออาชญากรรม

สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ กรมขนส่งฯ ทำได้เพียงแค่ขอความร่วมมือประชาชน ไม่ให้เลือกใช้บริการ มากกว่าที่จะสนธิกำลังตำรวจปราบปรามอย่างจริงจัง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราจะต้องวนเวียนกับแท็กซี่หมดอายุปะปนกันบนท้องถนนต่อไป

แม้ไม่รู้ว่าแท็กซี่คันไหนติดมิเตอร์เทอร์โบ เปรียบดังโจรไม่มีวันยอมรับว่าตัวเองทำผิด สิ่งที่ทำได้เพียงอย่างเดียว คือ หมั่นสังเกตค่าโดยสารบนมิเตอร์ ยิ่งหากใครใช้เส้นทางเดิมเป็นประจำ จะรู้ว่าราคาไม่เกินเท่านี้

อย่างต่อมา สังเกตได้จากซีลตะกั่วที่ปิดผนึกตัวมิเตอร์ ต้องไม่ชำรุด ไม่มีลักษณะฉีกขาด เวลาแท็กซี่เคลื่อนที่ ตัวเลขจะเปลี่ยนในช่องระยะทาง หากเปลี่ยนเร็วทุก 1 วินาที ทั้งๆ ที่รถไม่ได้วิ่งด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถือว่าผิดปกติ

ส่วนเวลาที่แท็กซี่จอดติดไฟแดง ตัวเลขในช่องระยะทางจะต้องนิ่ง แต่ช่องเวลาจะเปลี่ยนโดยนับเป็น 1 นาที ไม่เช่นนั้นก็สังเกตพฤติกรรมโชเฟอร์ว่ามีท่าทีแปลกๆ ผิดสังเกตหรือไม่ เช่น ชอบเอามือล้วงไปที่ช่องว่างระหว่างเกียร์บ่อยครั้ง

หากพบค่าโดยสารสูงผิดปกติ ให้ถ่ายภาพมิเตอร์เป็นหลักฐาน พยายามจำรายละเอียดรถ เช่น หมายเลขทะเบียน สี ถ้ามีชื่อคนขับรถก็เอาด้วย ร้องเรียนที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบก็ได้

ส่วนคนที่ใช้บริการรถแท็กซี่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อรับบัตรคิวเลขช่องจอดรถ จะมีรายละเอียดชื่อ นามสกุล รหัสสมาชิกของโชเฟอร์ หมายเลขทะเบียน เบอร์โทร. คนขับ ให้เก็บไว้กับตัว หรือถ่ายรูปมือถือเก็บไว้

อย่าให้บัตรคิวเลขช่องจอดรถแก่โชเฟอร์เด็ดขาด เพราะเผื่อเวลาที่โชเฟอร์ทำผิด เช่น บริการไม่สุภาพ คิดค่าโดยสารแพงเกินจริง หรือหนักที่สุดทิ้งผู้โดยสารกลางทาง การติดตามตัวโชเฟอร์ก็จะลำบาก



แม้ปัญหามิเตอร์เทอร์โบ แม้จะเป็นเรื่องที่พบเห็นไม่บ่อยนัก เมื่อเทียบกับปฏิเสธผู้โดยสาร แต่ก็ถือเป็นการทุจริตเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสาร และเมื่อคนพวกนี้ดัดแปลงมิเตอร์ได้ ก็มักจะนำไปสู่แนวคิดการทำผิดกฎหมายอย่างอื่น

กรมขนส่งฯ พยายามผลักดันแท็กซี่โอเค หนึ่งในนั้นคือติดกล้องในรถเพื่อป้องกันอาชญากรรม ถ้าเป็นไปได้พยายามเลือกใช้บริการแท็กซี่โอเคที่มีระบบพร้อม แม้จะเจอโชเฟอร์ไม่สบอารมณ์บ้าง แต่ถ้าทำอะไรนอกลู่นอกทางเรายังขอหลักฐานได้

แม้ยังมีแท็กซี่ดีๆ ให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่ทุกวันนี้มีแต่ข่าวแท็กซี่ไม่ดี ก็ถูกสังคงมองในแง่ลบ ยิ่งในยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน มีตัวเลือกอย่างแกร็บคาร์เข้ามาตีตลาดมากขึ้น

สังคมแท็กซี่ไม่ควรนิ่งเฉย เพราะถ้าผู้โดยสารไม่ไว้วางใจสิ้นเชิง โชเฟอร์ที่ซื่อสัตย์สุจริตจะอยู่ไม่ได้กันหมด.
กำลังโหลดความคิดเห็น