xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ชงแก้ประกาศ เพิ่มขี่บนทางเท้าเป็นเหตุเพิกถอน “เสื้อวิน” จ่อหารือกำหนดระดับโทษ เสนอ “Grab-Line Man” ไล่ออกคนทำผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กทม.เล็งชงแก้ประกาศ “วินมอเตอร์ไซค์” เพิ่มขับบนทางเท้าเป็นเหตุเพิกถอนเสื้อวิน รอกรมขนส่งฯ นัดประชุมหารือ พ่วงกำหนดระดับการลงโทษ เพิกถอนเสื้อวินกี่เดือนกี่ปีถึงเหมาะสม ยันต้องใช้ยาแรงช่วยลดปัญหา ย้ำ หากไม่ทำผิด ใครก็ยึดเสื้อวินไม่ได้ จ่อหารือเอกชน ทั้งไลน์แมน แกร็บ ลาลามูฟ ไล่ออกคนทำผิดด้วย ขณะที่ผลสำรวจ ปชช. 71% เห็นด้วยยึดเสื้อวิน 3 ปี ส่วนวินมอเตอร์ไซค์ 57.9% คัดค้าน บอกแรงเกินไป

วันนี้ (31 ต.ค.) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมาตรการลงโทษยึดเสื้อวินผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ หรือ วินมอเตอร์ไซค์ ที่ขับขี่บนทางเท้าเป็นเวลา 3 ปี ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมอบหมายให้ตนและสำนักเทศกิจ ไปดำเนินการว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ในการยึดเสื้อวินและเพิกถอนวินของคนที่ฝ่าฝืน 3 ปี วันนี้สำนักเทศกิจได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร เป็นต้น มาหารือถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ต้องไปแก้ไขประกาศคณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดสถานที่ตั้งวินและหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2561 ซึ่งมีการกำหนดให้เพิกถอนวินมอเตอร์ไซค์ได้หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ 1. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาต  2. เลิกประกอบอาชีพ 3. ทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะเป็นอันระงับ 4. ประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่น เสพสุราเล่นพนันบริเวณที่ตั้งวิน 5. เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ โดยเสนอว่าควรมีการเพิ่มเหตุการเพิกถอนในเรื่องของการขับขี่บนทางเท้าเข้าไปด้วย เพื่อไม่ต้องมาตีความอะไร และสร้างความมั่นใจให้แต่ละเขตในการดำเนินการเพิกถอน

“ถามว่าสามารถเพิ่มเรื่องการขับขี่บนทางเท้าเข้าไปยังเหตุแห่งการเพิกถอนเสื้อวินและวินมอเตอร์ไซค์ได้หรือไม่ สามารถทำได้ แต่ต้องมีการประชุมคณะอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ และต้องมีการหารือถึงระดับของการลงโทษว่า จะเป็นขั้นไหนอย่างไร ระยะเวลาเท่าไร ก็ต้องไปหารือกัน เพราะอาจจะไม่ใช่ 3 ปีก็ได้ อาจจะเป็น 6 เดือน 1 ปี 2 ปี หรืออาจจะมากกว่า 3 ปีก็ได้ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกก็รับปากในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ว่าจะนัดประชุมในโอกาสต่อไป โดยจะให้สำนักเทศกิจเร่งรัดในเรื่องนี้ และผมจะรวบรวมข้อมูลเรื่องของฐานความผิดที่จะเพิกถอนเสื้อวินให้ครอบคลุมในการพิจารณาด้วย เช่น กรณีการถอดเสื้อวินด้วย เพราะเจตนาส่อว่าหลีกเลี่ยงให้คนไม่รู้เป็นใครในการทำความผิด” นายสกลธี กล่าว

เมื่อถามว่า วินมอเตอร์ไซค์สะท้อนว่าเป็นยาแรงเกินไป เป็นการตัดทางทำมาหากิน นายสกลธี กล่าวว่า ง่ายสุดคือไม่ขึ้นทางเท้าก็ไม่โดน เหมืนคนบอกว่าทำไมปรับขับขี่บนทางเท้า 2 พันบาทแพง แต่ถ้าไม่ขึ้น ไม่ฝ่าฝืน ขี่บนผิวจราจร ใครจะไปทำอะไรได้ ถามว่าแรงหรือไม่ ก็ต้องใช้ยาแรงถ้าอยากให้ปัญหาหมดไป แต่คงไม่ได้ 100% เพราะมีความเคยชินมานาน ด้วยความมักง่าย และเวลาไม่มีเจ้าหน้าที่ก็มักฝ่าฝืน แต่ กทม.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบก็ต้องทำให้ฝ่ายฝืนน้อยที่สุด ก็เป็นหนึ่งในมาตรการจำเป็นและสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาลง ทั้งนี้ การจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์ได้นั้น จะต้องมีการขออนุญาตและการอบรมมาก่อน จึงต้องทราบมากกว่าคนปกติ ในมุมมองของตนเห็นว่าวินที่ขับขั้นบนทางเท้าไม่ควรจะมีโทษในขั้นตักเตือนด้วยซ้ำ เพราะควรจะรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถขึ้นได้ และก็ให้เทศกิจไปเตือนแต่ละวินแล้วว่าไม่ควรขึ้น และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อประชาชน

“ต้องยอมรับว่า รถจักรยานยนต์ที่ฝ่าฝืนมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ของคนทั่วไป ซึ่งก็มีมาตรการจับปรับ รองลงมาเป็นวินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มแมสเซนเจอร์ ที่จำนวนพอๆ กัน เพียงแต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อสวมเสื้อวินก็เห็นได้ชัดเจน ก็รู้เลยอยู่ที่ไหนอย่างไร นอกจากนี้ ในอนาคตอาจประชุมกับทางบริษัทแมสเซนเจอร์ต่างๆ เช่น LaLa Move  Line Man หรือ Grab Bike ถ้าพนักงานทำผิดเช่นนี้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ออกไปเลย เอกชนจะช่วยเราได้อย่างไรบ้าง” นายสกลธี กล่าว

เมื่อถามถึงการจับปรับ 2 พันบาท ช่วยลดการกระทำผิดลงได้หรือไม่ นายสกลธี กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2561 - 30 ต.ค. 2562 ยอดปรับเกือบ 19 ล้านบาท ถือว่าเยอะมาก แต่ที่เยอะเพราะอาจทำงานเชิงรุกมากขึ้น ปรับแพงขึ้น ไม่ได้แปลว่ายอดคนทำผิดไม่ได้ลดลง เพราะในจุดที่เคยเยอะมากก็ลดลง อย่างตอนที่ปรับเพิ่มมาเป็น 2 พันบาท คนก็ฉุกคิดมากขึ้นที่จะไม่ทำ จำนวนบางจุดน้อยลง บางที่ก็หายไปเลย ที่สำคัญเมื่อคนเห็นเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ทำ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้มงวดเรื่องนี้ต่อเนื่อง และต้องเวียนไปทุกจุด เพื่อไม่ให้จับทางได้ว่าเราอยู่ตรงไหน คนจะฝ่าฝืนจะได้ระวังตลอดเวลา แต่เรื่องนี้อาศัยเจ้าหน้าที่อย่างเดียวไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของจิตสำนึกคนขี่ด้วย ไม่ควรจะขึ้นมาบนทางเท้า เพราะอาจทำให้ทางเท้าเสียหาย เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น อาจจะต้องยอมรถติดเล็กน้อย หรืออ้อมไกลหน่อย แต่ทำให้ทางเท้าปลอดภัยมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทม.ได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นต่อการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ใน กทม. ในส่วนของภาคประชาชนจำนวน 5 พันคนพบว่า ร้อยละ 92.84 เห็นด้วยการตั้งจุดดวกขันจับปรับจอดรถหรือขับขี่บนทางเท้า  ร้อยละ 75.74 เห็นด้วยที่ให้ปรับเป็นเงิน 2 พันบาท  แต่ร้อยละ 64.28 เห็นว่าค่าปรับ 2 พันบาทนั้นมากเกินไป  ร้อยละ 89.82 เห็นด้วยกับนโยบายไม่ให้วินมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า และร้อยละ 71.7 เห็นด้วยในการยึดเสื้อวิน 3 ปีหากขับขี่บนทางเท้า นอกจากนี้ พบว่ายังมีการเสนอความคิดเห็นเช่น ควรมีมาตรการลงโทษจากเบาไปหนัก ต้องจับจริงปรับจริง ทำให้เป็นมาตรฐานทุกที่ เป็นต้น ส่วนผลสำรวจของวินมอเตอร์ไซค์ จำนวน 5 พันคน พบว่า ร้อยละ 86.68 เห็นด้วยตั้งจุดจับปรับขับบนทางเท้า ร้อยละ 65.48 เคยจอดหรือขี่บนทางเท้า  ร้อยละ 92.44 ยินดีให้ความร่วมมือไม่จอดหรือขับบนทางเท้า ส่วนเรื่องการลงโทษยึดเสื้อวิน 3 ปี เห็นด้วยเพียงร้อยละ 42.08 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 57.92 พร้อมเสนอว่ายึดเสื้อวิน 3 ปีรุนแรงเกินไป เนื่องจากมีโทษปรับอยู่แล้ว ให้ดำเนินการเป็นขั้นตอน เช่น ตักเตือนด้วยวาจา ยึดใบขับขี่ 1 เดือน หรือ 3 เดือน เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น