กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ปัจจุบันคนไทยนิยมเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากเงินบาทแข็งค่า สายการบินต้นทุนต่ำแข่งขันจัดราคาโปรโมชั่น และขยายเส้นทางบินไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ทำให้ร้านแลกเงินกลายเป็นที่นิยมแก่นักท่องเที่ยว ที่จะต้องแลกเงินเพื่อเตรียมพร้อมก่อนเดินทางออกนอกประเทศ
ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มักจะแข่งขันเพื่อช่วงชิงลูกค้าจากร้านแลกเงิน ทั้งการออกผลิตภัณฑ์บัตรพรีเพดการ์ด บัตรเดบิต หรือบัตรเดบิตที่สามารถแลกเงินสกุลต่างประเทศไว้ในบัตร แล้วใช้จ่ายโดยไม่เสียค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5% สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตก็จะมีโปรโมชั่นแบ่งจ่าย 0% หรือแลกเงินในอัตราพิเศษ
ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย นำนวัตกรรมที่เรียกว่า “เครื่องแลกเปลี่ยนเงินอัตโนมัติ” หรือ Automatic Currency Exchange (ACE) มาติดตั้งครั้งแรกในไทย ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สุวรรณภูมิ บริเวณชั้น B1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมโฆษณาว่า “แลกเอง เรทถูกสุดๆ ไม่มีค่าธรรมเนียม” ท่ามกลางร้านแลกเงินในสถานีที่มีมากกว่า 9 แห่ง
ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เราเดินทางไปที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นกับตา
เครื่องแลกเปลี่ยนเงินอัตโนมัติ ตั้งอยู่ที่ผนังของสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สุวรรณภูมิ คนละฝั่งกับบันไดออกจากสถานี ติดกับธนาคารกรุงไทย เป็นโซนที่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด แบ่งพื้นที่ให้เช่าแก่ร้านค้าต่างๆ ที่นั่นจะมีพนักงานคอยสาธิตการใช้งาน และมีโปรโมชั่นช่วงแนะนำ เมื่อแลกเงินตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป แลกรับเครื่องดื่มได้ฟรี
พนักงานรายหนึ่ง เปิดเผยว่า เครื่องดังกล่าวเปิดให้บริการเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 ตุลาคม 2562) สามารถแลกเงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศได้ 3 สกุลเงิน ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) เงินเยนของญี่ปุ่น (JPY) และเงินยูโร (EUR) โดยซื้อธนบัตรได้ 20 ใบต่อ 1 สกุลเงิน รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 50 ใบ วงเงินสูงสุดในการทำรายการเทียบเท่า 30,000 บาทต่อครั้ง
ส่วนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท แลกได้ 12 สกุลเงิน ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) เงินยูโร (EUR) เงินหยวนของจีน (CNY) ดอลลาร์ไต้หวัน (TWD) ดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) เงินวอนของเกาหลี (KRW) เงินปอนด์ของอังกฤษ (GBP) ดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) ริงกิตของมาเลเซีย (MYR) เงินเยนของญี่ปุ่น (JPY) และเงินฟรังก์สวิส (CHF)
ไม่มีค่าธรรมเนียมในการแลกเงินทุกรายการ และไม่กำหนดขั้นต่ำในการแลกเงิน แต่อาจจะมีให้เฉพาะธนบัตรราคาสูงๆ เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) มีเพียงราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
ลูกค้าสามารถเข้ามาแลกเงินที่เครื่องแลกเปลี่ยนเงินอัตโนมัติได้ด้วยตัวเอง ใช้หลักฐานเพียงแค่ หนังสือเดินทาง (Passport) และธนบัตรที่จะนำมาแลกเงินเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องมีเที่ยวบิน ถ้าไม่ได้กดเงินมาก็มีตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรไทยอยู่ด้านข้าง เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยเงินส่วนที่เหลือจากการแลก จะทอนเงินบาทออกมาเป็นเหรียญ
ตัวเครื่องมีลักษณะคล้ายกับเครื่องเอทีเอ็ม มีหน้าจอสัมผัสใหญ่ รองรับได้ 10 ภาษา ใต้หน้าจอลงมาจะเป็นช่องพิมพ์ใบบันทึกรายการ ช่องใส่ธนบัตรไทยสำหรับแลกเงินต่างประเทศ ช่องคืนเหรียญสำหรับทอนเงิน ช่องใส่หนังสือเดินทาง และช่องใส่ธนบัตรต่างประเทศเพื่อแลกเป็นเงินไทย ด้านข้างหน้าจอจะเป็นช่องรับธนบัตรต่างประเทศ 3 สกุลเงิน
สำหรับวิธีการแลกเงินบาทเป็นเงินสกุลต่างประเทศ (USD, JPY, EUR) เริ่มจาก แตะที่หน้าจอ “บาท > เงินตราต่างประเทศ” เลือกสกุลที่ต้องการซื้อ ระบบจะแสดงชุดแลกเงินที่ต้องการซื้อให้เลือก 4 ชุด แต่ถ้าไม่ต้องการเป็นชุด ให้เลือก “ซื้อโดยระบุจำนวนธนบัตร” โดยระบุจำนวนธนบัตรในชุด กดปุ่ม ^ หรือ V เพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนธนบัตร
หน้าจอจะแสดงยอดรวมตามสกุลที่เลือก และยอดเงินที่ต้องจ่ายเป็นเงินบาท ก่อนที่จะกดปุ่ม “ซื้อ” เพื่อแลกธนบัตร จากนั้นให้สอดหนังสือเดินทาง กดปุ่ม “ตรวจสอบ” ถ้าต้องการทำรายการด้วยหนังสือเดินทางเล่มนี้ หน้าจอจะแสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราปัจจุบัน ให้กด “ตรวจสอบ” ไฟสีเขียวเป็นรูป ^ จะแสดงออกมา ให้ใส่ธนบัตรทีละใบตามจำนวนที่ระบุ
ระบบจะแสดงจำนวนเงินที่ได้รับ ยอดเงินที่ต้องจ่าย แล้วกดปุ่ม “จ่ายธนบัตร” เครื่องจะพิมพ์ใบบันทึกรายการ ก่อนธนบัตรต่างประเทศที่ต้องการแลกจะออกมา หน้าจอจะแสดง “จำนวนเงินที่จ่ายออก” และ “เงินทอน” ก่อนที่จะทอนเงินออกมาเป็นเหรียญ ให้หยิบธนบัตรต่างประเทศและเงินทอนออกมา เป็นอันเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษารูปแบบการแลกเงินพบว่า เครื่องจะให้แลกเฉพาะธนบัตรราคาสูงๆ เช่น หากต้องการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) จะจ่ายเฉพาะธนบัตรราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น หรือหากต้องการซื้อเงินเยนของญี่ปุ่น (JPY) จะจ่ายเฉพาะธนบัตรราคา 1,000 เยน และ 10,000 เยนเท่านั้น
เช่นเดียวกับการแลกเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท แม้จะแลกได้ 12 สกุลเงิน แต่ก็แลกได้เฉพาะธนบัตรบางราคาเท่านั้น ธนบัตรที่มีราคาในระดับต่ำ เวลาทำรายการแลกเงิน เครื่องจะปฏิเสธธนบัตรใบนั้นออกมา รวมทั้งธนบัตรบางรุ่น (Series) เครื่องอาจจะไม่รองรับ นอกจากนี้ เงินต่างประเทศที่ขายในเครื่องมีจำนวนจำกัด บางช่วงเวลาอาจไม่มีให้บริการก็ได้
ถ้าถามถึงข้อดีย่อมมีแน่นอน เพราะนอกจากไม่มีค่าธรรมเนียม และอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกกว่าเคาน์เตอร์แลกเงินแล้ว ยังสามารถทำรายการได้ด้วยตัวเอง มีหน้าจอบอกขั้นตอนตลอดการใช้งาน แม้ช่วงแนะนำจะมีพนักงานคอยสาธิตวิธีการใช้งานก็ตาม แต่ก็ต่างจากการแลกเงินตามเคาน์เตอร์ หรือร้านแลกเงินที่ลูกค้าบางคนอาจจะรู้สึกเคอะเขิน
ส่วนทำเลที่ตั้งแม้จะอยู่ในสถานีแอร์พอร์ตเรลลิงก์ แต่ก็อยู่ในภายในชั้น B1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีผู้คนมาใช้บริการไม่ขาดสาย อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง และมีกล้องวงจรปิดติดตั้งโดยรอบ ถึงกระนั้น คนที่จะมาแลกเงินที่นี่ ถึงไม่ได้ใช้บริการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ก็เข้ามาได้ เพราะอยู่นอกระบบรถไฟฟ้า และไม่จำเป็นต้องมีเที่ยวบิน
ขณะที่ข้อจำกัด อย่างที่กล่าวไว้ว่า ธนบัตรต่างประเทศทั้ง 3 สกุลเงิน มีให้แลกเฉพาะราคาสูงๆ เพียง 2 ราคาเท่านั้น แม้จะไม่จำกัดขั้นต่ำในการแลกก็ตาม เช่น แลกธนบัตร 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ใบหนึ่งก็ประมาณ 1,500 บาทเศษ หรือแลกธนบัตร 1,000 เยน ใบหนึ่งก็เกือบ 300 บาท เพราะฉะนั้น ถ้าจะแลกธนบัตรราคาต่ำลงมาก็ต้องไปที่ร้านแลกเงินเหมือนเดิม
แม้จะเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ที่ต่างประเทศก็มีเครื่องแลกเปลี่ยนเงินอัตโนมัติให้บริการมานานแล้ว ทราบมาว่าธนาคารกสิกรไทยใช้เครื่อง “SMART EXCHANGE” มาจากบริษัทแอคโปร (ACTPRO) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีให้บริการ 374 เครื่อง ตามท่าอากาศยาน และร้านค้ายอดนิยมทั่วประเทศญี่ปุ่น และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง
คงต้องดูกันไปยาวๆ ว่าการติดตั้งเครื่องแลกเปลี่ยนเงินอัตโนมัติแบบนี้ จะเป็นที่นิยมในหมู่นักเดินทางหรือไม่ ในยุคที่มีตัวเลือกบริการแลกเงินทั้งจากธนาคารและร้านแลกเงินออกมามากมาย หากที่สุดแล้วผลตอบรับดี เราอาจจะได้เห็นเครื่องนี้ถูกติดตั้งในท่าอากาศยานอื่นๆ อาทิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ตก็เป็นได้