กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
Data Journalism หรือ วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการข่าวไทย แต่แท้ที่จริงแล้วเราอาจจะพบเห็นในรูปแบบเนื้อข่าว ผสมผสานกับอินโฟกราฟฟิก อ้างอิงโดยใช้ข้อมูลขนาดเล็กหรือขนาดกลาง
ในต่างประเทศ ที่ฮือฮามากที่สุดคือกรณี “ปานามา เปเปอร์” ตีแผ่เอกสารลับ 11.5 ล้านชิ้น ที่พบว่ามีบรรดามหาเศรษฐีทั่วโลก รวมทั้งชาวไทยไปตั้ง “บริษัทตัวแทน” บังหน้า เพื่อโอนย้ายทรัพย์สิน เลี่ยงภาษีโดยที่ไม่มีใครตรวจสอบ
สะเทือนผู้นำประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ ลาออกจากตำแหน่ง ส่วน “เดวิด คาเมรอน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (ขณะนั้น) ถึงกับเสียหน้า แถมหลายประเทศตรวจสอบ เรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้อย่างมหาศาล
Data Journalism ยุคนี้ มีหลักการคร่าวๆ ก็คือ การนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาผ่านกระบวนการสกัดข้อมูลโดยใช้ทักษะ วิทยาการข้อมูล (Data Science) ก่อนนำมาประมวลผลด้วยขั้นตอนที่เรียกว่า Interactive Visualization
ผลงานที่ใช้ Data Journalism มักจะพบในสำนักข่าวออนไลน์ ร่วมมือกับผู้พัฒนาระบบ เช่น ผลงาน “หวยใครรวย” ตีพิมพ์เมื่อปี 2559 ของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ร่วมกับบริษัทบุญมีแล็บ โดยใช้ข้อมูลโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลปี 2557
การผลักดัน Data Journalism ในไทย เริ่มเกิดขึ้นด้วยหลักคิดที่ว่า สื่อมวลชนในปัจจุบันถูกเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Disruption) จึงนำจุดแข็งของคนข่าว มาถ่ายทอดข้อมูลมหาศาลที่ถูกบันทึกไว้ เพื่อให้ข่าวมีคุณภาพน่าเชื่อถือมากขึ้น
เมื่อ 9 เดือนก่อน ผู้เขียนถูกส่งไปเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนานักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก” (Data Journalism Workshop) จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้สื่อข่าวกว่า 20 คน หลากหลายสำนักเข้าร่วมอบรม
ในฐานะนักข่าวที่รู้ความหมายของคำว่า “ข้อมูล” แบบงูๆ ปลาๆ ก็ต้องทำความรู้จักกับ Data Journalism ด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการข้อมูลสาขาต่างๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น อบรมแบบเช้าไปเย็นกลับติดต่อกัน 3 วัน
แต่ถึงกระนั้น ด้วยความที่โดยธรรมชาตินักข่าว ถนัดแต่ทักษะเพียงไม่กี่อย่าง คือการพูดและการเขียนจากสิ่งที่ฟังหรือพบเห็น ที่สุดแล้วหลังเสร็จสิ้นการเวิร์คชอป ต้องจัดอบรมการใช้โปรแกรม Spreadsheet หรือโปรแกรม Excel เพิ่มอีกหนึ่งวัน
มาถึงการออกค่าย Data Journalism Camp ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เป็นการนำผู้สื่อข่าวที่ได้รับการคัดเลือก มาพบกับนักพัฒนาระบบ (Developer) ที่สมัครเข้ามาและได้รับการคัดเลือก ทำกิจกรรมร่วมกัน 2 วัน 1 คืน ที่จังหวัดสมุทรปราการ
กระทั่งมาถึงบททดสอบสำคัญ คือการผลิตผลงาน Data Journalism ร่วมกันระหว่างผู้สื่อข่าว กับนักพัฒนาระบบ เมื่อเราเลือกความสนใจไปที่เรื่องการเมือง จึงได้มาพบกับผู้สื่อข่าวอีก 3 คน นักพัฒนาระบบ 4 คน (ตอนหลังถอนตัวไป 2 คน)
กลายมาเป็น “กลุ่มการเมือง” โดยเลือกทำประเด็น “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) ลงลึกไปถึงระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อให้เข้ากับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึง โดยให้เวลาลงมือทำงานประมาณ 4 เดือน
“พี่จ๋า” ชนิกานต์ กาญจนสาลี เป็นหัวเรือใหญ่นำพาลูกเรือทั้ง 6 คนผลิตผลงานชิ้นนี้ การทำงานเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า “งบประมาณ อปท. มีอยู่เท่าไหร่ ใช้อย่างไร และมีประสิทธิภาพแค่ไหน?” การแสวงหาข้อมูลเพื่อค้นหาคำตอบจึงเกิดขึ้น
โดยรวบรวมข้อมูล อปท. จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.), ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณ จากเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ ข้อมูลนิติบุคคล จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ปัญหาที่ตามมาก็คือ ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ไม่ครบถ้วน ไม่ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน เช่น ข้อมูลการจัดสรรเงินภาษีให้กับ อปท.ไม่มีการแจกแจงหรือแยกให้เห็น และไม่พบข้อมูลรายได้ อปท. ปีงบประมาณ 2561
ขณะเดียวกัน ไม่มีการแจกแจงเรื่องรายรับ-รายจ่ายแบบละเอียด ข้อมูลในบาง อปท. มีแค่จำนวนงบประมาณของโครงการที่ได้รับอนุมัติ ส่วนรายรับอื่นๆ ก็ไม่มีการแจกแจง ทั้งที่เป็นข้อมูลสำคัญที่ควรจะแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ
ในตอนนั้นทีมงานระบุว่า ขาดข้อมูลรายได้ อปท. ไม่สามารถนำมาประมวลผลได้ จึงได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นลายลักษณ์อักษร ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน 2 ครั้ง ฉบับแรก 15 กรกฎาคม 2562 ฉบับที่สอง 23 สิงหาคม 2562
แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับแม้แต่ครั้งเดียว
ก่อนหน้านี้เคยเข้าพบผู้อำนวยการกองการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อขอรายชื่อนายกและสมาชิกสภาท้องถิ่น ย้อนหลัง 10 ปี ได้รับคำแนะนำว่าให้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตามขั้นตอน ไม่สามารถให้ข้อมูลโดยพลการได้
เมื่อทำหนังสือไปแล้ว เจ้าหน้าที่กองการเลือกตั้งท้องถิ่น ติดต่อมาทางโทรศัพท์และส่งข้อมูลเป็นไฟล์ Excel ทางอีเมล แต่ได้สูงสุดเพียงแค่ 1 ปี โดยให้เหตุผลว่าระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานประมวลผลช้า อีกทั้งเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
ทั้งๆ ที่ข้อมูลรายชื่อนายกและสมาชิกสภาท้องถิ่น ไม่น่าจะถึงขั้นเรียกว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลแต่อย่างใด
ส่วนข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. สองนักพัฒนาระบบใช้วิธีเขียนโปรแกรม Python ต่อเข้ากับ API ของเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” และนำรายชื่อของ อปท. ไปค้นหา โดยใช้เวลาดึงข้อมูลประมาณ 48 ชั่วโมง
จากนั้นนำไฟล์มารวมเข้าด้วยกันในรูปแบบ CSV ก่อนคำนวณค่าสถิติต่างๆ เพื่อนำไปแสดงผลทางเว็บไซต์ และนำข้อมูลมาเล่าด้วยภาพและกราฟ โดยผู้สื่อข่าวจะนำข้อมูลมาตรวจสอบและค้นหาด้วยวิธีการ Pivot Table อีกที
แม้การหาความเชื่อมโยงระหว่างนิติบุคคลที่ชนะการประกวดราคา รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างกับจังหวัด และข้อมูลงบประมาณ จะไม่สามารถวิเคราะห์เจาะลึกและฟันธงเรื่องการทุจริตได้ แต่ก็ได้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายจากข้อมูลที่เราทำ
อ.พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถือเป็นแหล่งข่าวที่นำข้อมูลจากการประมวลผลมาวิเคราะห์โดยสรุปว่า “มีการทุจริตเชิงแฝงเร้น” จัดให้มี “พระอันดับ” รวมทั้ง “สมยอม” ในการเสนอราคา
ปัจจุบันเรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,852 แห่ง แต่มีข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างปีงบประมาณ 2561 เพียง 6,737 แห่งเท่านั้น โดยพบว่านิยมจัดซื้อจัดจ้างด้วย “วิธีเฉพาะเจาะจง” หรือมีผู้ประกอบการเจรจากับรัฐโดยตรงเพียงฝ่ายเดียวมากที่สุด
เมื่อข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างไม่ครบ รายได้รวมท้องถิ่นไม่มี เราจึงใช้ตัวเลข “เป้าหมายสัดส่วนรายได้” 720,822 ล้านบาท จากรายงานสถานการณ์ด้านการคลัง ปีงบประมาณ 2562 ของสำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังแทน
กลายเป็นพาดหัว “ขุมทรัพย์ 7 แสนล้าน และรอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น!?”
ปรากฎว่า คืนวันที่ 27 กันยายน 2562 ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมง พบว่าเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” เปิดเผยตัวเลขที่มารายได้รวมท้องถิ่น 636,573 ล้านบาท แถมลงวันที่ล่วงหน้า 30 กันยายน 2562 อีกต่างหาก
เป็นตัวเลขที่ร้องขออธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมาตลอด แต่ไม่มีเสียงตอบรับ แถมยังลงข้อมูลก่อนหน้าที่จะแถลงข่าว ซึ่งโปรโมตโดยใช้ตัวเลข 7 แสนล้านบาท
เหมือนพยายาม “หักหน้า” ในสิ่งที่พวกเรากำลังจะแถลงข่าว
ผลก็คือนอกจากแก้พาดหัวแล้ว ต้องรีบแก้ไขทั้งเอกสารข่าว เนื้อหาเว็บไซต์ และกราฟฟิกทั้งหมด เพราะคนอ่านมองว่าคลาดเคลื่อนหลัก 1 แสนล้านบาทถือว่าไม่ปกติแล้ว สูญเสียความน่าเชื่อถือในการแถลงข่าว โชคดีที่ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง อปท. ในเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” มีไม่ครบ จึงไม่ต้องแก้ข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว
จากผลงานชิ้นนี้ สิ่งที่เราอยากจะบอกก็คือ “การทำข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data)” จะต้องยกระดับมาตรฐานเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงานภาครัฐ ให้เอื้อต่อการค้นหาและเข้าถึงข้อมูลของบุคคลทั่วไปที่สนใจ
ที่สำคัญ ภาครัฐต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับ “พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล” พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เพื่อผลักดันให้เปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ ให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างแท้จริง
เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในการใช้จ่ายงบประมาณของแต่ละท้องถิ่น เกิดความตื่นรู้และตื่นตัวของประชาชน นำไปสู่การยกระดับให้ภาครัฐมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้
ขอบคุณ สมาชิกกลุ่มการเมือง “พี่จ๋า” ชนิกานต์ กาญจนสาลี, “ฐา” กนิษฐา ไชยแสง จากกระปุกดอทคอม “เนตร” อักษราภัค พุทธวงษ์ จากคมชัดลึกออนไลน์ ที่ช่วยกันค้นหาข้อมูล แสวงหาคำตอบ และเรียบเรียงเนื้อหาจนเป็นรูปเป็นร่าง
ขอบคุณ อาสาสมัครสายนักพัฒนาระบบ (Developer) “น้องเติ้ล” ภัทรวัต ช่อไม้ จากกลุ่ม Elect กำลังศึกษาต่อปริญญาเอกที่ต่างประเทศ และ “แปม” ไวยณ์วุฒิ เอื้อจงประสิทธิ์ จากธนาคารกสิกรไทย ที่ร่วมพัฒนาเว็บไซต์ และ Data Visualization
ขอบคุณ อ.พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ออกมาชี้ประเด็นจากข้อมูล และยังแนะนำให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ดูความสัมพันธ์เชิงผู้บริหาร เชิงทุน และลักษณะงานของนิติบุคคลที่รับงาน อปท. เพื่อดูการกระจุกของโครงการและงบประมาณ
ขอบคุณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย “พี่เก๋” ดร.พรรณี อมรวิพุธพนิช หัวหน้าทีมวิทยากรหลักสูตร Data Journalism และชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ) นำโดย “อ.อ๊อฟ” ดร.เอกพล เธียรถาวร
ขอบคุณ อาจารย์และวิทยากรทุกท่าน ขอบคุณ “พี่ปุ๊” ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง นักข่าวไทยคนเดียวที่เข้าร่วมสหพันธ์นักข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เจาะข่าวเรื่องปานามาเปเปอร์ เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราหลายคนได้มาทำตรงนี้
ขอบคุณ พี่น้องสื่อมวลชน และอาสาสมัครสายนักพัฒนาระบบทั้ง 5 กลุ่ม ที่ได้รู้จักกัน ละลายพฤติกรรม และผลิตผลงานประชันกันตามความถนัด ทราบว่าบางผลงานเข้าถึงข้อมูลอย่างยากลำบากไม่ต่างไปจากเรา ขอบคุณสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่อำนวยความสะดวกมาตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา
ผลงานที่ออกมาในวันนี้ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบด้วยเหตุผลข้างต้น แต่เราก็ได้แต่คาดหวังว่า เราจะมีสื่อมวลชนแต่ละคนลงมาทำงานด้าน Data Journalism ที่ถกเถียงกันด้วยข้อมูลเชิงลึกอย่างจริงจังมากขึ้น ให้คนไทยได้ติดอาวุธทางปัญญาด้วยข่าวสารที่มีคุณภาพ มากกว่าข่าวปิงปอง หรือดรามาที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
และคาดหวังว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับข้อมูลเปิดภาครัฐ ให้คนไทยได้เข้าถึงอย่างจริงจัง เพื่อต่อยอดนวัตกรรมพัฒนาประเทศ หรือส่งเสริมการตรวจสอบอำนาจรัฐ ให้ประเทศไทยเกิดธรรมาภิบาล มากกว่าเปิดเผยข้อมูลในสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ ตรวจสอบไม่ได้
หมายเหตุ : ชมผลงาน “ขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน และรอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น!?” ได้ที่เว็บไซต์ https://codeforthailand.github.io/2019-local-administrative-budget-and-projects/ หรือเข้าทางเว็บไซต์สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย http://www.tja.or.th