xs
xsm
sm
md
lg

‘ชิมช้อปใช้’ กระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้จะไหวหรือ?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

“ชิมช้อปใช้” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2562 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ และการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) จากกระแสนับร้อย พอเจอของจริงก็เงียบเชียบ

ทีแรกพอมีข่าวว่า รัฐบาลจะแจกเงินเที่ยว 1,000 บาท มีทั้งเสียงฮือฮาเพราะอยากได้ของฟรี กับเสียงตำหนิถึงรัฐบาลว่า ทำไมไม่เอาเงินไปทำอย่างอื่นนอกจากแจกเงิน และคิดไปไกลว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนเวเนซูเอลา

ปรากฎว่าของจริง รัฐบาลไม่ได้แจกเงินเหมือนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ผู้มีรายได้น้อยกว่า 14.5 ล้านคน ไปยืนต่อคิวกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทยกันหน้าสลอน คนที่ “จนไม่จริง” ใส่ทองคำเส้นโตๆ ก็ได้เงินกับเขาด้วย

คราวนี้ใช้วิธีใส่เงินลงไปในอี-วอลเลต แล้วใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย มีอยู่ 2 ช่อง ได้แก่

“เป๋าตัง ช่อง 1” รัฐบาลสนับสนุนวงเงิน คนละ 1,000 บาท ให้ประชาชนที่ลงทะเบียน 10 ล้านคนแรก นำไปใช้จ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือซื้อสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ วงเงินนี้มีอายุ 14 วัน

“เป๋าตัง ช่อง 2” เป็นอี-วอลเลตให้ประชาชนเติมเงินลงในแอปพลิเคชัน แล้วใช้จ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือซื้อสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ รัฐบาลจะให้เงินชดเชย (Cash Back) 15% สูงสุด 4,500 บาทต่อคน

วิธีการได้รับสิทธิ์ ประชาชนต้องไปลงทะเบียนที่เว็บไซต์ www.ชิมช้อปใช้.com ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน ถึง 15 พฤศจิกายน 2562 หรือจนกว่าจะครบ 10 ล้านคน

โดยต้องเลือกเพียงจังหวัดเดียว และไม่ใช่ทะเบียนบ้านตัวเอง

สมมติว่า คนที่มีทะเบียนบ้านระบุว่าอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จะเลือกใช้จ่ายท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนเป็นคนขอนแก่น จะเลือกใช้จ่ายท่องเที่ยวที่ขอนแก่นไม่ได้

พอลงทะเบียนเสร็จ ต้องรอ SMS แจ้งยืนยันการได้รับสิทธิ์ประมาณ 3 วัน แล้วจึงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยจะมีวงเงินในเมนู “เป๋าตัง ช่อง 1” ให้ 1,000 บาท ต้องนำไปใช้จ่ายในจังหวัดที่เลือกให้หมดภายใน 14 วัน

หากไม่ได้ใช้จ่ายภายใน 14 วัน ระบบจะดึงเงินคืนกลับทั้งหมด ไม่สามารถกลับมาใช้วงเงินเหล่านั้นได้อีก

เจอแบบนี้ คนที่คิดวางแผนจะไปเที่ยวหลายจังหวัด เช่น คนที่วางแผนว่าจะค้างคืนที่เชียงใหม่ 1 คืน แล้วนั่งรถต่อไปยังแม่ฮ่องสอน ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งว่าจะใช้จ่ายที่เชียงใหม่ หรือแม่ฮ่องสอน จะใช้ทีเดียว 2 จังหวัดก็ไม่ได้

ส่วนเมนู “เป๋าตัง ช่อง 2” สามารถเติมเงินเพื่อใช้จ่ายจังหวัดไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่ทะเบียนบ้านตัวเอง นับตั้งแต่ได้รับสิทธิจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 หลังจากนั้น รัฐบาลจะคืนเงิน Cash Back ให้หลังสิ้นสุดโครงการ เดือนธันวาคม 2562

โดยเงิน Cash Back 15% ที่ได้คืน จะคำนวณจากยอดชำระเงินที่จ่ายจริง ไม่ใช่ยอดเติมเงินลงในอี-วอลเลต สูงสุดไม่เกิน 4,500 บาท (เทียบเท่าเติมเงินและใช้จ่ายในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท)
แอปพลิเคชัน เป๋าตัง จำกัดการใช้งานเฉพาะบัญชีธนาคารกรุงไทย (ที่มีบัตร ATM หรือบัญชีผู้ใช้ KTB Netbank/Krungthai Next) และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น
ปัญหาก็คือ ประชาชนจะต้องลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ที่กำหนดเพียงช่องทางเดียว และที่สำคัญ ต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งขณะนี้ใช้ได้เฉพาะลูกค้าที่มีบัญชีธนาคารกรุงไทย และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น

ขนาดช่วงที่ผ่านมา เคยมีมาตรการส่งเสริมการชำระเงิน เพื่อซื้อสินค้าและบริการและการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รูดบัตรเดบิตคืนภาษี 5% พบว่าลงทะเบียนเพียงแค่หลักหมื่นราย จากผู้ถือบัตรเดบิตกว่า 57 ล้านใบ

มาคราวนี้ ให้ลูกค้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วใช้จ่าย ถ้าต้องบังคับให้มีบัญชีธนาคารกรุงไทย หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดดูว่าจะมีคนที่มีกำลังซื้อ สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ มากน้อยแค่ไหนกัน

ถามว่า แล้ววงเงินที่ได้รับในแอปฯ “เป๋าตัง” จะนำไปใช้จ่ายที่ร้านไหนไหนบ้าง?

พบว่า ร้านค้าที่สามารถใช้แอปฯ “เป๋าตัง” ได้ จะต้องเป็นร้านค้าที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้าน “ถุงเงินประชารัฐ” ที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามวงเงินที่ได้รับจากรัฐบาลเท่านั้น

จากฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีร้านธงฟ้าประชารัฐทั้งหมด 74,377 แห่ง แบ่งออกเป็นร้านค้ารับเครื่องรูดบัตร EDC ธนาคารกรุงไทย 28,450 แห่ง และรับชำระผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” 45,927 แห่ง

แต่พบว่า จังหวัดที่มีร้านค้า “ถุงเงินประชารัฐ” มากที่สุด คือ นราธิวาส 1,722 แห่ง รองลงมาคือขอนแก่น 1,527 แห่ง นครสวรรค์ 1,508 แห่ง อุบลราชธานี 1,422 แห่ง และกรุงเทพมหานคร 1,413 แห่ง

ส่วนจังหวัดที่มีร้านค้าถุงเงินประชารัฐน้อยที่สุด ได้แก่ ภูเก็ต 112 แห่ง สิงห์บุรี 132 แห่ง และเพชรบุรี 192 แห่ง เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะถูกออกแบบมาสำหรับร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายหมู ขายผัก และอาหารสด ที่ติดตั้งเครื่อง EDC ไม่ได้

เมื่อร้านค้าถุงเงินประชารัฐ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อ “ส่งเสริมการท่องเที่ยว” มาตั้งแต่ต้น ในที่สุดกรมบัญชีกลางก็เปิดให้ผู้ประกอบการ ร้านค้าทั่วไปทุกประเภท ที่สนใจลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมมาตรการฯ ผ่านสำนักงานคลังจังหวัดทุกแห่ง

ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้าท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน โอทอป วิสาหกิจชุมชน โรงแรม รีสอร์ท โฮมสเตย์ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ยกเว้น สถานีบริการเชื้อเพลิง) ตั้งแต่ 28 สิงหาคม ถึง 20 กันยายน 2562

โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะจัดทำแผ่นประชาสัมพันธ์ “ร้านชิมช้อปใช้” นำไปติดที่ร้านค้าและสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” รับทราบมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่ง

ทำให้นึกย้อนไปถึงการลงทะเบียนร้านค้าถุงเงินประชารัฐ ที่ร้านค้ารายย่อยจำนวนมากร้องเรียนว่า ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เวลาใช้งานก็ยุ่งยาก ต้องส่งมือถือกันไปมา กว่าจะได้เงินเสียเวลามาก ยิ่งมีลูกค้าเยอะจะยุ่งยากขนาดไหน

ถ้ากำลังขายหมู ขายผักอยู่ แล้วลูกค้ามาซื้อ โดยคนที่ซื้อเป็นผู้ถือบัตร ต้องเอามือเปื้อนๆ มากดมือถือ กดแล้วกว่าจะได้เงิน ตรวจสอบว่าจำนวนเงินถูกต้องไหม แบบนี้สู้รับเงินสดไม่ดีกว่าหรือ ทีเดียวจบ

อีกอย่างหนึ่งที่ร้านค้ากังวล ถ้าลงทะเบียนร้านค้าถุงเงินประชารัฐก็คือ “ไม่ต้องการเข้าสู่ระบบภาษี” เพราะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบบภาษี และการลงบัญชี ทำให้มีร้านค้าย่อยเข้าร่วมโครงการน้อย ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรน้อยมาก

อุปสรรคเหล่านี้ อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ต่อไป ต้องแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้ ทั้งฝั่งประชาชนที่จะลงทะเบียน และฝั่งร้านค้าถุงเงินให้ได้

รวมทั้งประชาสัมพันธ์ “ร้านค้าชิมช้อปใช้” ที่ไม่ใช่แค่ให้ร้านค้าไปติดป้ายหน้าร้านเท่านั้น โดยเฉพาะค่าโรงแรมที่พักในแต่ละทริป ประชาชนยังไม่รู้ว่าจะใช้ได้ที่ไหน ทุกฝ่ายต้องออกมาช่วยกันตรงนี้

ไม่อย่างนั้นสุดท้าย มาตรการที่ออกมาหวังกระตุ้นเศรษฐกิจคงจะ “แป๊ก” เหมือนหลายมาตรการที่ผ่านมา ฝ่ายเสียหายมากที่สุดไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นประชาชนที่จ่ายภาษี แล้วต้องเสียดายงบประมาณที่สูญเสียไปนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น