xs
xsm
sm
md
lg

“ร้านไม่ดัง...ไม่แดก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

“ร้านไม่ดัง ไม่แดก”

ประโยคนี้ได้ยินมาจากคำบอกเล่าของเฟซบุ๊กเพจที่ชื่อ “SchwedaKong” (ชเวดากอง) หรือคนที่รู้จักกันเรียกเขาว่า “บังก้อง” อดีตสมาชิกเว็บบอร์ดชื่อดัง หมวดหมู่อาหารรายหนึ่ง เพจนี้มีคนกดไลค์กว่า 62,000 คน

เขาเท้าความถึงเพื่อนสมัยประถมคนหนึ่ง เปิดร้านขายข้าวต้มปลาใต้สะพานถนนรัชดาภิเษก-บุคคโล (ฝั่งทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย) ตลาดพลู ถือเป็นร้านหน้าใหม่ที่ติดกับ “ร้านเจ้าดัง” ในย่านแหล่งของกินขึ้นชื่อของกรุงเทพฯ

ปรากฎว่ามีลูกค้ารายหนึ่ง กล่าวประโยคนี้ต่อหน้าเจ้าของร้าน ซึ่งถือว่าเจ็บปวดสำหรับคนทำร้านอาหารเลยทีเดียว

ด้วยความที่เป็นร้านใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จัก บังก้องจึงยังไม่อยากอวยเพื่อนในเพจ ทั้งที่ร้านยังไม่เข้าที่ แต่ได้บอกกับเขาตลอดว่า “มึงใจเย็นๆ ตั้งใจทำต่อไป จะมีคนเห็นมึงเอง”

ก่อนหน้านี้ เพื่อนคนดังกล่าวเคยทำเค้กขาย เคยขายดีกระทั่งยอดขายตกลง แล้วมาหาเพื่อขอคำแนะนำ

บังก้องกล่าวว่า “มึงชอบสิ่งที่มึงทำไหมวะ ถ้าไม่ได้ชอบ มึงอย่าทำ เพราะมึงจะไม่หมกมุ่น ทดลอง และปรับแก้ในผลงานมึง”

เขาเลิกทำเค้ก หันมาทำข้าวต้มปลา ซึ่งคอยถามบังก้องถึงการปรับรสชาติให้ดีขึ้น การจัดการวัตถุดิบ และรสชาติ และพยายามปรับปรุงด้วยตัวเอง จากที่รสชาติแย่ก็มาถึงจุดที่เรียกว่าดี จึงทำออกมาขาย

แต่เมื่อเป็นร้านใหม่ในย่านเก่า ถือเป็นเรื่องยาก และต้องล้มลุกคลุกคลานเพื่อสู้กับร้านที่ขายมานานแล้ว แนะว่าความสำเร็จไม่มีทางลัด ค่อยๆ โต คงช่วยอะไรไม่ได้ ให้ร้านรับลูกค้าไหวก่อน

กระทั่งลูกค้ากล่าวว่า “ร้านไม่ดัง ไม่แดก” จึงประกาศว่า ร้านนี้คลุกคลีตั้งแต่เริ่มทำ แนะนำหลายๆ อย่าง

เอาหัวเป็นประกันเลยว่า “ร้านนี้มีของดี” และดีพอที่จะชมร้านนี้ ทั้งที่ตนไม่ได้ชมร้านไหนง่ายๆ สักวันจะภูมิใจด้วยสิ่งที่เพื่อนสร้างเอง



ข้อความของบังก้อง ถูกแชร์ผ่านเฟซบุ๊กเกือบ 700 ครั้ง กดแสดงความรู้สึกอีกเกือบ 4 พัน

และแน่นอนว่า จะต้องมีคนข้ามน้ำข้ามทะเล มาถึงตลาดพลูเพื่อชิมเมนูของร้าน ตามไวรัล (Viral) ในโซเชียลที่ว่า “ร้านไม่ดัง ไม่แดก” จะกลายเป็น “ร้านลับ” ในดวงใจหรือไม่

พบว่าส่วนใหญ่ระบุว่า “ไม่ผิดหวัง”

โดยเฉพาะเมนูที่ไม่คิดว่าจะขึ้นชื่ออย่าง “กะเพราหมูกรอบ” กลายเป็นเมนูที่ลูกค้าแห่แหนกันสั่ง ด้วยคำบรรยายของบังก้องที่ว่า เป็นกะเพราหมูกรอบสายน้ำซอสที่รสนัวและหอมกระทะ

ยั่วน้ำลายกันขนาดนี้ สายหมูกรอบอย่างผู้เขียน (ที่จะกลายเป็นอายุน้อยร้อยกิโลกรัม) อดที่จะรอคอยไม่ไหว ต้องหาโอกาสไปลองสักครั้ง

แต่เมื่อร้านหยุดไปไหว้เจ้า 2 วัน กว่าจะมีเวลาว่าง ก็เป็นช่วงเย็นหลังเลิกงานอีกสัปดาห์หนึ่ง

จากรถไฟฟ้า MRT สถานีท่าพระ ลงบันไดทางออก 2A เดินไปตามถนนรัชดาภิเษก-บุคคโล ขึ้นสะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่ ลงบันไดด้านล่างของสะพาน ย่านนั้นจะเต็มไปด้วยของกินหลายสิบร้าน ช่วงเย็นจะมีคนมาเยือนที่นี่ไม่ขาดสาย

ร้านนี้มีชื่อว่า “เล็กหงษ์ข้าวต้มปลา” อยู่ภายใน “ศูนย์อาหารตลาดพลู” ติดกับร้านหมี่กระเฉดชื่อดังที่อยู่ติดกัน ตอนนั้นเวลาประมาณ 5-6 โมงเย็น มีคนมาอุดหนุนอย่างไม่ขาดสาย แม้จะมีฝนตกก็ตาม

พื้นที่นี้ สำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร จัดสรรให้ผู้ค้าเข้ามาจำหน่ายอาหารอยู่แล้ว ใกล้กันก็จะเป็น กองสัญญาณไฟและเครื่องหมาย สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.

หลายคนที่สงสัยว่าบุกรุกใต้สะพานหรือไม่ ก็ตัดดรามานี้ออกไปได้เลย

เจ้าของร้านเป็นชายหนุ่มใส่แว่น อายุอานามน่าจะเป็นวัยรุ่นตอนปลาย เข้ามารับออเดอร์ด้วยตัวเอง

ถามว่า “มีหมูกรอบไหม” เขาเริ่มอธิบายว่า “ก่อนอื่นขออนุญาตแนะนำว่า ที่นี่เป็นร้านข้าวต้มปลา เมนูทางร้านหลักๆ จะเป็นข้าวต้มปลา รสชาติไม่เป็นรองใครแน่นอน ส่วนหมูกรอบแนะนำเป็นยำหมูกรอบน้ำข้น กับกะเพราหมูกรอบครับ”

เราตัดสินใจตั้งแต่ต้นว่าจะทานเมนูหมูกรอบ จึงตัดสินใจสั่งกะเพราหมูกรอบราดข้าว (มีให้เลือกระหว่างราดบนข้าวสวย จานละ 80 บาท ถ้าเป็นผัดกะเพราหมูกรอบเพียงอย่างเดียว จานละ 100 บาท)

ไม่นานนัก ข้าวกะเพราหมูกรอบก็ถูกเสิร์ฟมาที่โต๊ะ แต่ที่น่าแปลกก็คือ มาพร้อมกับน้ำซุปกระดูกหมูชามโตมาด้วย

ชิมหมูกรอบคำแรก รสชาติเป็นหมูกรอบน้ำซอสที่ทำออกมาได้ลงตัว ต่างจากหมูกรอบทั่วไปที่มักจะมีรสชาติเค็มโดดด้วยเกลือ

ส่วนผัดกะเพราแม้จะไม่ทานรสเผ็ดจัด แต่น้ำซุปกระดูกหมูมีรสชาติไปทางน้ำซุปข้าวต้ม เป็นตัวช่วยที่ดีเลยทีเดียว

เป็นข้าวผัดกะเพราหมูกรอบที่แม้ราคาจะสูงไปบ้าง เมื่อเทียบกับผัดกะเพราหมูกรอบตามร้านอาหารตามสั่ง 50-60 บาท อีกทั้งทำเลไม่ใช่ร้านหรู

แต่เชื่อว่ารสชาติละมุนลิ้นแบบนี้ น้ำซุปดีขนาดนี้ จึงไม่แปลกใจที่ลูกค้านิยมสั่งแต่หมูกรอบ กระทั่งหมูกรอบที่ร้านเป็นเมนูที่หมดเร็วที่สุด ทั้งๆ ที่วันหนึ่งทางร้านทำออกมาวันละ 20 กิโลกรัมเท่านั้น

ส่วนน้ำซุปกระดูกหมู หนุ่มเจ้าของร้านอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นน้ำซุปที่เป็นเบสของข้าวต้ม ต่างจากน้ำซุปทั่วไปที่มักจะใส่ผงปรุงรสซึ่งหลายคนไม่ชอบ ถ้ามาหลังสองทุ่มกระดูกหมูจะเปื่อย รสชาติเข้มข้นมากกว่านี้

ระหว่างคิดเงิน เราถามด้วยความสงสัยว่า คำพูด “ร้านไม่ดัง ไม่แดก” มีที่มายังไง?

เขาก็อธิบายว่า ไม่ได้คิดอะไรกับเรื่องนี้ เป็นอารมณ์ของลูกค้ารายหนึ่ง ที่มีคาแรกเตอร์แรงๆ วันนั้นมากับเพื่อนสองคน ก็พูดคุยเสียงดังปกติ กระทั่งมีประโยคหนึ่งพูดว่า “ร้านไม่ดัง ไม่แดก” ต่อหน้าตนที่มายืนรับออเดอร์

ประโยคดังกล่าวในฐานะคนทำร้านอาหาร เขากล่าวด้วยความเสียใจว่า “มันเป็นประโยคที่เจ็บปวดมาก”

“ถ้าเข้าร้านผิดจริง ลุกออกไปยังพอว่า หรือถ้าอาหารทำออกมาแล้วไม่ถูกปาก ผมก็พร้อมที่จะปรับปรุง แต่เขากลับพูดคำนี้ โดยที่เขายังไม่ให้โอกาสได้ตัดสิน” เขากล่าวความในใจ

อย่างไรก็ตาม หลังจากบทความในเพจ SchwedaKong กระจายในโลกโซเชียล เขาเชื่อว่า ลูกค้าสองคนในร้านวันนั้นน่าจะรู้ตัว

แต่เขาก็ไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองใดๆ ถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในการทำร้านอาหาร

ก่อนจากกัน เราร่ำลาเจ้าของร้านหนุ่มคนนี้ พร้อมกับให้กำลังใจ วันหลังจะกลับมาลองชิมข้าวต้มปลาดูบ้าง

ไม่กี่วันก่อน อ่านสเตตัสที่ถูกส่งต่อรายหนึ่ง ทำให้นึกถึงการมาเยือนร้านข้าวต้มปลาในวันนั้น

สเตตัสกล่าวทำนองว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้งปี 40, แฮมเบอเกอร์ไครซิส, วิกฤตซับไพร์ม เวลาที่มีคนล้มเหลว สังคม คนรอบข้าง แม้แต่คนแปลกหน้าออกมาเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ

แต่มาวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ ถ้าใครล้มเหลว มักจะจะถูกคนรอบข้าง หรือบางครั้งเป็นคนแปลกหน้า แสดงความคิดเห็นเหยียดหยามว่า “ไม่รู้จักปรับตัว” “อ่อนแอก็แพ้ไป” “เห็นอ้างเศรษฐกิจไม่ดี แต่ไปดูร้านนี้ๆ เขารวยเอาๆ”

ทั้งๆ ที่คนพูดประโยคนี้ อาจจะเป็นแค่ข้าราชการที่ไม่เคยทำธุรกิจ เป็นเด็กยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยแต่ปากดี หรือที่ร้ายที่สุด คืออาจจะเป็นแค่หน่วยปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อป้องกันภาพลักษณ์ของรัฐบาล

เราอ่านสเตตัสนี้จบ เกิดความรู้สึกว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นโลกโซเชียลหรือในชีวิตจริง เรายังเจอคนที่แสดงออกอะไรแรงๆ โดยอ้างว่าเป็นคนตรงๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะพูดโดยไม่คิด หรือพูดเพราะจงใจให้ตนเองดูสูงส่งกว่าผู้อื่น

แต่ก็เป็น “เรื่องน้อยนิดมหาศาล” ที่ทำร้ายจิตใจผู้อื่นมานักต่อนัก ยิ่งถ้าเขาอ่อนไหวอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง

ประโยคที่ว่า “ร้านไม่ดัง ไม่แดก” ที่เจ้าของร้านข้าวต้มปลาแห่งนี้เจอมาด้วยตัวเอง นำมาเล่าสู่กันฟังก็เพราะอยากให้สังคมได้ฉุกคิดก่อนที่จะพูดอะไรออกไป ไม่ว่าจะเป็นโลกโซเชียลหรือในชีวิตจริง

เพราะแท้ที่จริงแล้ว เราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่เพราะคิดไปเองว่า เราคือทุกอย่างบนจักรวาลแห่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น