กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
บอกได้คำเดียวว่า “เกินความคาดหมาย”
มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยสนับสนุนวงเงิน คนละ 1,000 บาท จำนวน 10 ล้านคน ให้เดินทางท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทีแรกนึกว่ามันจะแป้ก เพราะความยุ่งยาก ทั้งการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ แถมยังต้องใช้จ่ายผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย ถูกมองว่าอาจจะมีคนเข้าร่วมโครงการน้อยด้วยซ้ำ
แต่ทำไปทำมา วันแรก 23 กันยายน 2562 คนมาลงทะเบียนครบโควตา 1 ล้านคนต่อวัน ตั้งแต่ก่อนบ่ายสามโมง วันต่อมายิ่งแล้วใหญ่ ครบโควตา 1 ล้านคนตั้งแต่แปดโมงเช้าเสียด้วยซ้ำ
และเมื่อประชาชนรู้ว่า รัฐบาลแจกเงินให้เที่ยวฟรี 1,000 บาท ลูกหลานกลายเป็น “ความหวังของหมู่บ้าน” เพราะคนที่บ้านต่างก็ฝากบัตรประชาชน ฝากมือถือ วานให้ช่วยลงทะเบียนกันใหญ่
เมื่อประเทศไทยก้าวสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” คนสมัยนี้เย็นไม่พอ รอไม่ได้ ทันทีที่นาฬิกาขึ้นเลข 0.00 น. ทุกคนต่างแห่แหนเข้าไปที่เว็บไซต์ ชิมช้อปใช้.com พอระบบขึ้นว่า “ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนครบ 1 ล้านคนแล้ว” ก็ยิ่งโวยวายกันเข้าไปใหญ่
ปัญหาคือ ธนาคารกรุงไทย เปิดระบบลงทะเบียนล่าช้ากว่าเวลามาตรฐาน เมื่อมีคนเข้าไปลงทะเบียนที่เว็บไซต์จำนวนมาก เปรียบเหมือนเวลาขับรถตอนเช้า แล้วต้องรอคิวจ่ายค่าทางด่วน ที่สุดแล้วเว็บล่มไปตามระเบียบ!
กว่าจะลื่นไหลได้ก็เกือบตี 1 ตัวเลขคนที่มาลงทะเบียนปาเข้าไป 3 หมื่นกว่าคน!
จากประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าลงทะเบียนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะบราวเซอร์พวก Firefox หรือ Google Chrome จะสะดวกกว่าลงทะเบียนโดยใช้มือถือ ที่ช้ากว่า หรือหนักที่สุดเข้าไม่ได้เลย
ในขั้นตอนการลงทะเบียน จะให้พิมพ์ตัวอักษรที่แสดงอยู่ในภาพด้านบน ถ้ามันขึ้นตัวแดงว่า “หมดเวลาเชื่อมต่อกรุณาทำรายการในเวลาที่กำหนด” ก็จะขึ้นภาพตัวอักษรใหม่ ให้รีบพิมพ์ตัวอักษรตามภาพแล้วกด “ลงทะเบียน”
บางคนอาจประสบปัญหาได้รับ SMS OTP ช้า ลงทะเบียนไม่สำเร็จก็มี บางคนลงทะเบียนเสร็จแล้ว กลับมี SMS แจ้งว่า “ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ไม่สำเร็จเนื่องจากข้อมูลตามบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง” ซึ่งต้องลงทะเบียนใหม่อีกรอบ
กว่าจะลงทะเบียนสำเร็จ ได้ปิดคอมพิวเตอร์นอน ก็ปาเข้าไปตีหนึ่งครึ่ง
บรรยากาศแบบนี้ ทำให้นึกถึงสมัยก่อน สายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์รายหนึ่ง ออกโปรโมชั่น “BIG SALE” ราคาเริ่มต้นที่ 0 บาท จ่ายเฉพาะค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) เส้นทางในประเทศเพียง 50-100 บาทเท่านั้น
แม้จะเป็นโปรโมชั่นจองวันนี้ บินอีกทีปีหน้า แต่เมื่อสมัยนั้นราคาตั๋วเครื่องบินถูกยิ่งกว่ารถทัวร์ คนที่ทราบข่าวโปรโมชั่นจากกระทู้พันทิป ก็ตั้งตารอ 5 ทุ่ม (เพราะบริษัทแม่อยู่ที่มาเลเซีย) อดตาหลับขับตานอนเพื่อให้ได้ตั๋วถูก
ปัญหาก็คือ ตั๋วเครื่องบินที่ซื้อไปถึงเวลากลับไม่ได้มีโอกาสเที่ยวเพราะติดภารกิจ เงินในกระเป๋าสตางค์ไม่พร้อม จะขอคืนก็ได้แค่ค่าบริการผู้โดยสารขาออกเท่านั้น บริการเสริมที่ซื้อไปแล้ว ค่าทำรายการ (Processing Fee) ที่จ่ายไปก็ขอคืนไม่ได้
อีกทั้งยังมีสายการบินหน้าใหม่เข้ามาตีตลาดในราคาที่ถูกกว่า สายการบินแบบฟูลเซอร์วิส ก็ลดค่าตั๋วเครื่องบินแทบจะใกล้เคียงกับโลว์คอสต์เจ้านี้ จ่ายแค่หลักพันต้นๆ ได้น้ำหนักกระเป๋า ได้อาหารว่างบนเที่ยวบิน แถมไม่ต้องรอข้ามปีอีก
แถมโลว์คอสต์เจ้านี้ยังถูกตำหนิเรื่องค่า Processing Fee ที่แพงขึ้น เดี๋ยวนี้จะใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เสียตั้งแต่ 240-320 บาท จะหักบัญชีธนาคารหรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสก็ต้องเสีย 70 บาท โปรโมชั่นนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงเหมือนแต่ก่อน
อาจเรียกได้ว่า มาตรการ “ชิมช้อปใช้” เป็นกลยุทธ์ที่เล่นกับความรู้สึกของประชาชน เพราะกลเม็ดจำกัดวันละ 1 ล้านคน เมื่อเกิดการรับรู้ผ่านสื่อหรือปากต่อปากว่า คนลงทะเบียนเต็มเร็วมาก ก็เกิดความรู้สึกว่า “ของอย่างนี้รอไม่ได้”
เหมือนเวลาจองตั๋วเครื่องบินราคาโปรโมชั่น 0 บาท เหมือนนักเรียนเวลาดูผลสอบ GAT PAT เหมือนแฟนคลับศิลปินเกาหลี กดจองบัตรคอนเสิร์ต อารมณ์แบบนั้นเลย!
เผลอๆ กลายเป็นว่าระยะเวลาลงทะเบียน 10 วัน จำกัดวันละ 1 ล้านคน จะครบตามจำนวน 10 ล้านคน อย่าลืมว่าบุคคลที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ตัวเลขกลมๆ จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ มีมากกว่า 51 ล้านคน
เปรียบเทียบเท่ากับประชาชน 5 คน จะได้ใช้สิทธิ์ “ชิมช้อปใช้” เพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้น
ที่น่าชื่นชมก็คือ พอรู้ว่าโครงการนี้มีจุดบกพร่อง กรมบัญชีกลางและสำนักงานคลังจังหวัดก็เชิญชวนร้านค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริงๆ เข้าร่วมโครงการ แทนที่ร้านถุงเงินจะเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือแผงขายของตามตลาดสดอย่างเดียว
ส่วนธนาคารกรุงไทย ก็ตัดข้อจำกัดของแอปฯ “เป๋าตัง” ที่ปกติจะใช้ได้เฉพาะบัญชีกรุงไทย และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เพิ่มเมนู “G-Wallet” สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนชิมช้อปใช้โดยเฉพาะ ใช้งานได้แม้ไม่มีบัญชีธนาคารกรุงไทยก็ตาม
เมื่อกระแส “ชิมช้อปใช้” ทำเอาผู้คนแห่แหนคนลงทะเบียนแบบนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย ต้องสื่อสารกับคนที่ลงทะเบียนให้มากๆ ถึงขั้นตอนการใช้วงเงินในแอปฯ เป๋าตัง
เชื่อว่ายังมีคนที่เข้าใจโครงการนี้แบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า วงเงิน 1,000 บาทที่ได้รับ ใช้ได้เพียงแค่ 14 วัน หลังจากได้รับ SMS ยืนยันการลงทะเบียนเท่านั้น หากพ้นกำหนดวงเงินที่ได้รับก็จะถูกดึงคืนกลับไป
บางคนมีแผนจะไปเที่ยวเชียงใหม่เดือนพฤศจิกายน แต่รีบลงทะเบียนวันนี้เพราะเผื่อจะใช้ที่นั่น พอระบบกำหนดให้ใช้ได้แค่ 14 วัน หมดอายุไม่ถึงเดือนพฤศจิกายน สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ ถูกดึงเงินคืนกลับเข้าระบบกลับไปอย่างน่าเสียดาย
หรือปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างลงทะเบียน วันแรกๆ บางคนเผลอเลือกจังหวัดที่ตรงกับทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชนของตัวเอง บางคนเผลอเลือกจังหวัดผิด จากกรุงเทพมหานคร กลายเป็นกระบี่แทน ปัญหาพวกนี้ตามกติกาแก้ไขไม่ได้ด้วย
คนที่มีอายุขึ้นมาหน่อย บางคนฝากลูกฝากหลานลงทะเบียน แต่มือถือตัวเองเป็นแบบปุ่มกด บางคนมือถือหน่วยความจำเต็ม ติดตั้งแอปฯ เป๋าตังไม่ได้ แถมตอนลงทะเบียนยังต้องทำ KYC สแกนบัตร เซลฟี่ใบหน้า ใช้ไม่ได้ในทันที
ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นก็คือ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ กลับมีผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, เทสโก้ โลตัส และแม็คโคร เข้าร่วมโครงการบางสาขาในจังหวัดท่องเที่ยว และหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญ
เข้าใจว่าบางจังหวัดที่ค้าปลีกรายใหญ่เลือก คงเป็นจังหวัดท่องเที่ยว อย่างน้อยสมมติว่า บางคนไปเช่าบ้านพลูวิลล่าที่ต่างจังหวัด อาจจะซื้ออาหารสด หมู เห็ด เป็ด ไก่ น้ำจิ้มสุกี้ เอาไปทำชาบูหรือปิ้งย่าง ช่วงปาร์ตี้เล็กๆ มื้อเย็น
แต่บางห้างฯ ที่ร่วมโครงการสาขาในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดปริมณฑล คงจะไปว่าเขาไม่ได้ เพราะคนที่มีทะเบียนบ้านต่างจังหวัด เลือก “กรุงเทพมหานคร” หรือคนกรุงเทพฯ เลือก “สมุทรปราการ”
อย่างน้อยคนที่เขามองเห็นประโยชน์จากโครงการ “ชิมช้อปใช้” ลดค่าครองชีพให้ตัวเองก็มี
แต่ถ้าตลกร้าย ... สมมติว่าบรรดาค้าปลีกยักษ์เข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ทุกจังหวัด นอกจากจะถูกมองว่า “เอื้อประโยชน์นายทุน” แล้ว บรรดาร้านค้าถุงเงินคงด่ากันเป็นแถว เหมือนถูกหลอกให้เป็นไม้ประดับ เพราะนักช้อปตัวจริงเดินห้างฯ กันหมด
ผิดวัตถุประสงค์ที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ กลายเป็นว่าเม็ดเงินไม่ได้สะพัดตามท้องถิ่น ชุมชน ร้านค้าเล็กๆ ตลาดสด หรือร้านอาหารท้องถิ่น แต่ไปตกอยู่กับค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ของเจ้าสัวเพียงไม่กี่ตระกูล
แม้จะมีบางคนที่ไม่ชอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะแอนตี้ไม่เข้าร่วมโครงการเลย แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ในเมื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีจำนวนมากแล้ว ก็อยากจะได้เป็น “ผลตอบแทนจากรัฐ” กลับคืนมาบ้าง
บางคนอาจมองว่า ทีคนไม่ชอบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังได้อานิสงส์โครงการ “รถคันแรก” คนที่ไม่ชอบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังได้รับอานิสงส์โครงการ “เช็คช่วยชาติ”
คนที่ไม่ชอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับอานิสงส์จากโครงการชิมช้อปใช้ก็ไม่แปลก เหมือนผู้มีรายได้น้อย (ทั้งที่จนจริงและจนไม่จริง) ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน
ถามว่า กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมดหรือเปล่า...ก็ไม่
ขออนุญาตยกตัวอย่าง เพื่อนของผู้เขียนรายหนึ่ง เป็นคนขยันมาก ทำงานหาเช้ากินค่ำ แม้จะไม่ชอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตาม แต่เมื่อมีโครงการชิมช้อปใช้ กลับให้ความสนใจ และลงทะเบียนพร้อมกับแฟนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน
เนื่องจากเพื่อนมีทะเบียนบ้านเป็นคนต่างจังหวัด จึงเลือกลงทะเบียนจังหวัดที่ท่องเที่ยว คือ “กรุงเทพมหานคร” พอถามว่าจะไปเที่ยวที่ไหน ก็ตอบว่า “เอาไปซื้อของร้านธงฟ้า” เพื่อลดค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน
ภายหลังทราบข่าวว่า ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส 20 สาขาในกรุงเทพฯ เข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ หนึ่งในนั้นอยู่ใกล้ที่ทำงานเพื่อนพอดี ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ประหยัดค่าครองชีพเดือนนี้ แม้จะเป็นวงเงินเพียงแค่ 1,000 บาทก็ตาม
พอถามว่า รู้สึกรัก พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่มขึ้นบ้างไหม
คำตอบก็คือ “ด่าเหมือนเดิม อันนี้ถ้าเราไม่เอา คนอื่นก็เอา”
ฟังแล้วได้แต่อมยิ้มในใจ ...