กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราเป็นสมาชิกบัตรสะสมคะแนน เช่น ห้างสรรพสินค้า สายการบิน ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ เวลาใช้บริการแล้วแสดงบัตรสมาชิก หรือบางแห่งบอกเบอร์มือถือของสมาชิก ก็จะได้รับคะแนนสะสมตามเงื่อนไข
ยิ่งใช้บริการบ่อยครั้ง ก็จะได้รับคะแนนสะสมต่อเนื่อง ถึงวันหนึ่งย่อมมีมูลค่าพอให้เราสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลด หรือใช้คะแนนแลกสินค้าหรือบริการแทนเงินสด ตามเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ของบัตรสมาชิกนั้นๆ ได้ทันที
เช่น ปกติเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ครั้งละ 700 บาท โดยยื่นบัตรสมาชิกสะสมคะแนน วันหนึ่งมีคะแนน 500 คะแนน ใช้เป็นส่วนลดเติมน้ำมัน 100 บาท เมื่อเติมน้ำมันครั้งต่อไปใช้คะแนนแทนเงินสด เราจะจ่ายเพียง 600 บาทเท่านั้น
หรือ ปกติซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ประจำ โดยบอกเบอร์โทร.ที่แคชเชียร์เพื่อสะสมคะแนน วันหนึ่งมีคะแนน 800 คะแนน แทนเงินสด 100 บาท เมื่อช้อปปิ้งวันถัดไปหรือวันหลัง ก็แลกคะแนนเพื่อใช้เป็นส่วนลดได้ทันที
นอกจากนี้ เวลาจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตแทนเงินสด ถ้าบัตรใบนั้นมีโปรแกรมสะสมคะแนน ก็จะได้รับคะแนนสะสมจากบัตรที่เราใช้ชำระเงินด้วย เรียกได้ว่าใช้บริการครั้งเดียว ได้คะแนนกันถึงสองต่อ
ปัญหาก็คือ บางครั้งเวลามีโปรโมชั่นที่ใช้คะแนนแทนส่วนลด พบว่าคะแนนที่มีอยู่กลับไม่พอ บางคนมีคะแนนไม่มาก แต่อยากโอนคะแนนไปยังบัตรสมาชิกที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ตัวเอง ดีกว่าปล่อยให้คะแนนหมดอายุแล้วไม่มีโอกาสได้ใช้
กลายเป็นที่มาของรายการ “โอนคะแนนสะสม” ข้ามบัตรสมาชิก เช่น คะแนนจากบัตรเครดิตโอนไปที่บัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า หรือ คะแนนจากบัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้าโอนไปที่บัตรสมาชิกปั๊มน้ำมัน ฯลฯ
ก่อนหน้านี้เคยมีสตาร์ทอัพในไทยรายหนึ่ง ทำแอปพลิเคชันที่รวบรวมคะแนนสะสมจากบัตรเครดิต และบัตรสะสมคะแนนมารวมไว้ในที่เดียวกัน แล้วนำคะแนนสะสมของแอปพลิเคชันนั้นไปแลกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้
ปัจจุบันมีโปรแกรมสะสมคะแนนจากผู้ประกอบการบางราย พยายามที่จะเชิญชวนพันธมิตรทางธุรกิจต่างไลฟ์สไตล์เข้าร่วมรายการโอนคะแนนสะสม เพื่อให้สมาชิกมีทางเลือกมากขึ้น โดยไม่ยึดติดว่าจะต้องใช้บริการในกลุ่มของตัวเอง
โดยช่องทางการโอนคะแนน ส่วนมากมักจะทำกันผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน หรือบางแห่งอาจให้โอนผ่านแผนกลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งจะเป็นไปตามที่บัตรสมาชิกกำหนดไว้
เช่น บัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า ให้ลูกค้าบัตรเครดิตโอนคะแนนสะสมเพื่อแลกส่วนลดซื้อสินค้าและบริการในห้างฯ หรือบัตรสมาชิกปั๊มน้ำมัน ให้ลูกค้าบัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า โอนคะแนนสะสมเพื่อใช้เป็นส่วนลดเติมน้ำมัน เป็นต้น
แต่การโอนคะแนนจากบัตรสมาชิกใบหนึ่ง ไปยังบัตรสมาชิกของอีกโปรแกรมหนึ่ง ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ จะมีส่วนต่างของมูลค่าคะแนนที่เราต้องเสียไประหว่างโอนคะแนน เปรียบได้กับการถูกหักค่าธรรมเนียม
หลังทำรายการโอนคะแนนสำเร็จ คะแนนที่ได้รับอาจมีมูลค่าน้อยกว่าคะแนนสะสมบัตรสมาชิกต้นทางที่มีอยู่เดิม
เว้นเสียแต่ว่าบัตรสมาชิกบางแห่ง ต้องการดึงดูดให้ลูกค้าโอนคะแนนมาที่บัตรสมาชิกของตน จึงเพิ่มส่วนต่างคะแนนสะสมมากกว่าบัตรสมาชิกต้นทางเพื่อจูงใจ เมื่อคำนวณแล้วเราอาจจะได้ส่วนต่างเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ของผู้บริโภค
วิธีการคำนวณว่า ถ้าเราโอนคะแนนจากบัตรสมาชิกใบหนึ่ง ไปยังบัตรสมาชิกของอีกคะแนนหนึ่ง ส่วนต่างของคะแนนมีมูลค่ามากน้อยขนาดไหน มีวิธีสังเกตง่ายๆ อยู่ 2 ข้อก็คือ
1. ศึกษาสิทธิประโยชน์หลัก ทั้งบัตรสมาชิกที่จะโอน และบัตรที่รับโอนคะแนนว่า คะแนนสะสมมีมูลค่าเท่าไหร่ เช่น บัตรสมาชิกปั๊มน้ำมัน 500 คะแนน แลกส่วนลด 100 บาท บัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า 800 คะแนน แลกส่วนลด 100 บาท
2. เมื่อทราบมูลค่าของคะแนนแล้ว ให้เราตั้งสมมติฐานว่า ถ้าเราโอนคะแนนเท่านี้ มูลค่าที่เราได้รับจะเป็นเท่าไหร่
ตัวอย่างเช่น บัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า A ให้สมาชิกโอนคะแนนไปยังบัตรสมาชิกปั๊มน้ำมัน B ขั้นต่ำ 1,000 คะแนน ได้คะแนนบัตรสมาชิกปั๊มน้ำมัน 500 คะแนน เทียบเท่าแลกรับส่วนลดเติมน้ำมันได้ 100 บาท
วิธีการหาส่วนต่างก็คือ ต้องดูว่าคะแนนแลกได้เท่าไหร่ เช่น บัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า A 800 คะแนน เท่ากับ 100 บาท คำนวณแล้ว 1,000 คะแนน เท่ากับ 125 บาท แลกคะแนนบัตรสมาชิกปั๊มน้ำมัน B ได้ 500 คะแนน มูลค่า 100 บาท
ส่วนต่างระหว่างบัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า A กับบัตรสมาชิกปั๊มน้ำมัน B เท่ากับเสียมูลค่าไป 25 บาท
อีกตัวอย่างหนึ่ง บัตรสมาชิกปั๊มน้ำมัน C ให้สมาชิกโอนคะแนนไปยังบัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า D โดยให้โอนขั้นต่ำ 500 คะแนน มูลค่า 100 บาท ได้คะแนนบัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า D 500 คะแนน
วิธีการหาส่วนต่างก็คือ ต้องดูว่าคะแนนมีมูลค่าเท่าไหร่ เช่น บัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า D 800 คะแนน เท่ากับ 100 บาท คำนวณแล้ว 500 คะแนน เท่ากับ 62.50 บาท (400 คะแนนเท่ากับ 50 บาท, 600 คะแนนเท่ากับ 75 บาท)
ส่วนต่างระหว่างบัตรสมาชิกปั๊มน้ำมัน C กับบัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า D เท่ากับเสียมูลค่าไป 37.50 บาทเลยทีเดียว!
การคำนวณมูลค่าของคะแนนสะสมนั้น หากปลายทางเป็นบัตรสมาชิกสายการบิน อาจคำนวณมูลค่าได้ยาก เพราะเมื่อเทียบกับราคาตั๋วเครื่องบินจริงๆ พบว่าไม่ได้ตายตัว มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การโอนคะแนนสะสมข้ามบัตรสมาชิกมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน ถ้ามีคะแนนสะสมจำนวนมากพอที่จะแลกรับส่วนลด ถือว่า “ไม่คุ้มอย่างแรง” เพราะเท่ากับต้องสูญเสียมูลค่าของคะแนน แทนที่มูลค่าที่เสียไปจะแลกรับส่วนลดได้ต่อเนื่อง
แต่ถ้ามีคะแนนไม่มากและอยากจะโอนไปยังบัตรสมาชิกที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ตัวเอง เช่น ไม่ค่อยได้เดินห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ มีคะแนนอยู่นานแล้ว แต่อยากจะโอนไปยังบัตรสมาชิกปั๊มน้ำมันเพราะเติมน้ำมันบ่อยครั้ง ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
ข้อควรระวังก็คือ ควรตรวจสอบคะแนนสะสมที่กำลังจะหมดอายุอย่างสม่ำเสมอ และหาโอกาสแลกคะแนนบ้าง เพื่อไม่ให้คะแนนสะสมที่ได้รับต้องสูญเปล่าเพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ เลย