ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ประเมินส่งออกไทยปี 63 มูลค่า 2.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.9% เหตุมีปัจจัยเสี่ยงกระทบหนัก ทั้งสงครามการค้าที่ยังไม่ยุติ บาทแข็ง วิกฤตอิหร่าน เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ภัยแล้ง แนะเร่งสร้างภาพลักษณ์ สร้างมาตรฐานสินค้าไทย จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า หนุนเอสเอ็มอีโกอินเตอร์ และใช้ช่องทางออนไลน์ เพิ่มยอดส่งออก
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้วิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 2563 คาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 244,231 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 0.9% โดยมีกรอบอยู่ในระหว่างดีสุดจะเพิ่มขึ้น 0.5% และแย่สุดติดลบ 2.4% ภายใต้สมมติฐานที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ 60-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราขยายตัวเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 2.7-3.2% อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ 29-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกในปี 2563 มีปัจจัยเสี่ยงสูงที่ต้องระวัง คือ ความเสี่ยงจาก 3 สงครามการค้า คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งแม้จะมีการลงนามข้อตกลงการค้าในเฟส 1 แต่ยังมีความเสี่ยง หากการเจรจาส่วนอื่นไม่ก้าวหน้า สงครามเทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการค้า และสงครามค่าเงิน ที่จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งในส่วนของไทยหากเงินบาทแข็งค่าถึง 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะกระทบส่งออกลดลง 0.08% หรือ 1,850 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีความเสี่ยงจากปัญหาสหรัฐฯ กับอิหร่าน ที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ และต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลง ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบด้วยจากการส่งออกไปตะวันออกกลางได้ลดลง
ส่วนความเสี่ยงระดับปานกลาง เป็นเรื่องของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอตัว โดยไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.1% จีน เพิ่ม 5.8% และญี่ปุ่น เพิ่ม 0.5% ซึ่งต่ำกว่าปี 2562 โดยทั้ง 3 ประเทศเป็นตลาดส่งออกหลักของของไทยกว่า 50% และยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้ง ที่จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง
ขณะที่ความเสี่ยงในระดับต่ำ แต่จะมองข้ามไม่ได้ คือ การที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพีในสินค้าของไทย 573 รายการ จะทำให้การส่งออกลดลง 0.01% การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 5-6 บาท ที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และความตกลง USMCA ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยหลายรายการ เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่จะต้องติดตาม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย คือ การลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ความไม่แน่นอนของเบร็กซิต และการเก็บภาษีรถยนต์ 25% สหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลในปี 2564 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ มีข้อเสนอแนะเพื่อให้การส่งออกของไทยเดินหน้า คือ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์สินค้าไทย สร้างมาตรฐานสินค้าไทย เร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการค้า กำหนดราคาสินค้าให้เหมาะสมใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง สนับสนุนเอสเอ็มอี ทั้งเรื่องเงินทุนและองค์ความรู้ตลาดต่างประเทศ รวมถึงการเร่งใช้เพลตฟอร์มออนไลน์ให้มากขึ้น