xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อปี 62 เพิ่มขึ้นแค่ 0.71% เคาะเป้าปี 63 คาดโต 0.4-1.2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 62 เพิ่ม 0.87% สูงสุดรอบ 5 เดือน หลังราคาอาหารสดพุ่ง แต่ราคาพลังงานยังคงลดลง ต่ำสุดรอบ 8 เดือน ส่วนทั้งปี 62 เพิ่ม 0.71% คาดปี 63 โต 0.4-1.2% มีค่ากลางที่ 0.8% ยันค่าบาทแข็ง-ขึ้นค่าแรง-ภัยแล้งไม่มีผลดันเงินเฟ้อ แต่กระทบรายได้ผู้ผลิต-เกษตรกร

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน ธ.ค. 2562 ดัชนีอยู่ที่ 102.62 เพิ่มขึ้น 0.01% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย. 2562 และเพิ่มขึ้น 0.87% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2561 เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันในรอบ 5 เดือน หลังจากชะลอตัวลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2562 ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2562 เพิ่มขึ้น 0.71% เมื่อเทียบกับปี 2561 ถือว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย และยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 0.70-1.00%

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาอาหารสด และพลังงานออกจากการคำนวณ เดือน ธ.ค. 2562 อยู่ที่ 102.80 เพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2562 และเพิ่มขึ้น 0.49% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2561 และอัตราเฉลี่ยทั้งปี 2562 เพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับปี 2562

สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 2562 เพิ่มขึ้น 0.87% เป็นการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.73% จากการเพิ่มขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว, เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ, ไข่และผลิตภัณฑ์นม, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผัก ผลไม้สด ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องสูงขึ้น 0.38% จากการสูงขึ้นของหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล, หมวดเคหสถาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน, หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษา ทั้งค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน, หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร จากค่าโดยสารสาธารณะ ค่าทางด่วน ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวน้อยสุดในรอบ 8 เดือน

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 0.40-1.20% โดยมีค่ากลางที่ 0.80% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 58-68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่อาจปรับประมาณการใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก หากมองในแง่ผู้บริโภคจะรู้สึกพอใจเพราะทำให้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้น ขณะที่วัตถุดิบนำเข้าเพื่อนำมาผลิตสินค้าในประเทศก็ไม่สูงขึ้นด้วย จึงไม่มีแรงกดดันทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่หากมองในแง่ผู้ผลิตและผู้ส่งออก จะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง โดยเฉพาะภาคเกษตร และกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรที่จะมีเงินใช้จ่ายลดลง ซึ่งไม่ใช่แรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีกเช่นกัน ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ไม่มีผลทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น โดยกรมการค้าภายในแจ้งว่ายังไม่มีผู้ผลิตสินค้ารายใดขอปรับขึ้นราคาขายสินค้าจากค่าแรงปรับขึ้น จึงยังไม่มีผลทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น