xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” ผวาบาทเริ่มส่งสัญญาณหลุด 30 หวั่นแข็งค่าฉุดส่งออกปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เกาะติดบาทแข็งค่าต่อเนื่องหวั่นฉุดส่งออกปี 2563 อีกระลอก หลังสิ้นปีส่งสัญญาณหลุด 30 บาท/เหรียญสหรัฐ แนะ ธปท.ดูแลใกล้ชิด ลุ้นปัจจัยหนุนสหรัฐฯ เซ็นข้อตกลงการค้าจีนเฟสแรก 15 ม.ค. งบประมาณที่จะออกมาช่วงปลาย ก.พ. เพื่อขับเคลื่อน ศก.

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เอกชนกำลังติดตามภาวะค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดหลังจากช่วงส่งท้ายปีได้หลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐเนื่องจากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยปี 2563 ที่เอกชนยังคงกังวลมากสุด ดังนั้นจึงต้องการให้หน่วยงานภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้าที่จะบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันการส่งออกของไทย


"ปี 2562 นั้นเงินบาทไทยเฉลี่ยแข็งค่าราว 7% และแข็งค่าสุดในภูมิภาคในภาพรวม จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกของไทยให้ลดลงนอกเหนือจากปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ซึ่งคาดว่าส่งออกไทยปี 2562 คงติดลบไม่น้อยไปกว่า 2.5-3% และเมื่อดูรายละเอียดจะเห็นว่าไทยมีการนำเข้าสินค้าทุนต่ำมากไทยจึงเกินดุลการค้ากว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าค่าเงินบาทปี 2563 ยังมีทิศทางที่จะแข็งค่าต่อ ซึ่งหลายสำนักด้านเศรษฐกิจมองว่าอาจเห็นที่ 29-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ" นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ปี 2562 ที่ผ่านมาแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ก็เห็นได้ว่าบาทได้อ่อนค่าลงในระยะสั้นๆ เท่านั้นจึงชี้ให้เห็นว่าเป็นมาตรการไม่ได้ผล ซึ่งหากบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าต่อเนื่องจะส่งผลกระทบให้การส่งออกปี 2563 ให้ชะลอตัวเช่นเดียวกับปี 2562 และเมื่อส่งออกได้รับผลกระทบมากขึ้นประกอบกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาทต่อวันแม้จะเป็นอัตราเล็กน้อยแต่ก็จะกดดันในแง่ที่ธุรกิจลำบากอยู่แล้วก็จะทำให้ธุรกิจยิ่งลดต้นทุน และหนึ่งในกลไกสำคัญคือการลดคนงาน ซึ่งการลดและปลดคนงานเริ่มเห็นในช่วงสิ้นปีแล้วก็จะได้เห็นมากขึ้นในปี 2563 หากบาทยังคงแข็งต่อเนื่อง


"สิ่งที่น่าสนใจคือไทยนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร ลงมาก นั่นหมายถึงเอกชนจะไม่มีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งก็น่าจะมาจากกำลังการผลิตยังเหลืออยู่จากการส่งออกได้ลดลง ประกอบกับยังขาดความมั่นใจในการลงทุนทั้งเทรดวอร์ ทั้งบาทที่ยังแข็งค่า" นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่ต้องติดตามคือวันที่ 15 ม.ค.นี้จะมีการเซ็นข้อตกลงการค้าเฟสแรก ซึ่งทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะนำไปสู่การคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น แต่จะต้องติดตามว่าเป็นการพักรบชั่วคราวหรือผ่อนคลายแบบแท้จริง ขณะเดียวกัน ปลายเดือน ก.พ.ถึงต้น มี.ค. 63 นี้มีแนวโน้มที่งบประมาณของไทยที่หยุดชะงักมาหลายเดือนจะมีการพิจารณาผ่านงบฯ เพื่อนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัจจัยนี้ก็จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น