“วีรศักดิ์”เผยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 10 เดือนปี 62 ยังแรงไม่หยุด มูลค่า 13,974 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 37.59% ได้แรงหนุนจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น 93.23% จับตาพลอยสี สินค้าดาวรุ่ง กำลังเติบโตได้ดี ส่วนตลาด อาเซียนมาแรง เพิ่ม 198.03% อินเดีย เพิ่ม 98.25% แนะใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเจาะอาเซียน อินเดียต่อ พร้อมรุกค้าออนไลน์ ย้ำต้องประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท หลังแข็งไม่เลิก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 13,974.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 37.59% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 434,752.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.01% หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 6,900.81 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.24% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 214,778.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.43%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึง 93.23% แม้ว่าเฉพาะเดือนต.ค.2562 การส่งออกทองคำจะชะลอตัวลง จากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และนักลงทุนมีการเทขายทองคำออก และหันไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงแทน หลังจากที่ตลาดคลายความกังวลจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน ที่มีแนวโน้มบรรลุข้อตกลงทางการค้า และยังคลายความกังวลการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิต) ที่เลื่อนออกไปเป็น 31 ม.ค.2563
ทั้งนี้ หากดูเป็นรายสินค้า พลอยสียังคงเป็นสินค้าดาวรุ่ง การส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งพลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน โดยเพิ่มขึ้น 309.03% , 7.54% และ 14.36% ตามลำดับ ขณะที่เศษหรือของที่ใช้ ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เพิ่มขึ้น 410.64% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 0.14% แต่เครื่องประดับแท้ ลด 8.66% เครื่องประดับเงิน ลด 21.71% เครื่องประดับทอง ลด 1.65% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 3.72% เพชร ลด 7.90% เพชรก้อน ลด 21.66% เพชรเจียระไนลด 6.86%
สำหรับตลาดส่งออก อาเซียน เพิ่มขึ้นสูงสุด 198.03% จากการส่งออกไปสิงคโปร์และกัมพูชา เพิ่ม 306% และ 146% รองลงมา คือ อินเดีย เพิ่ม 98.25% จากการส่งออกเพชรเจียระไน และพลอยได้เพิ่มขึ้น และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพิ่ม 0.95% จากการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่ม ส่วนฮ่องกง ตลาดอันดับ 1 ลด 3.82% เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการประท้วง นักท่องเที่ยวลด ทำให้ร้านค้าปลีกหลายรายปิดตัวลง สหภาพยุโรป ลด 3.54% สหรัฐฯ ลด 7.61% จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ญี่ปุ่น ลด 6.54% จากการส่งออกลดลง จีนลด 13.31% เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ชาวจีนลดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลด 23.33% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ลด 65.74%
นายวีรศักดิ์กล่าวว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2562 ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า และเบร็กซิต เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่นำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจ รวมถึงค่าเงินบาทที่จะยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย
“ผู้ประกอบการไทยต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ เร่งรุกบุกตลาดที่ยังเติบโตได้ดีอย่างอินเดีย อาเซียน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการขยายตลาดทั้งอาเซียนและอินเดยี และให้ความสำคัญกับการใช้ช่องทางการค้าผ่านออนไลน์ เพื่อขยายการค้าสู่ตลาดต่างๆ รวมถึงการสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อีกทั้งไม่ควรมองข้ามการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพราะจะช่วยพยุงธุรกิจและรักษาส่วนแบ่งตลาดของไทยไว้ได้”นายวีรศักดิ์กล่าว