สถาบันอัญมณีฯ วิเคราะห์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ หลังสหรัฐฯ ตัดจีเอสพี พบ 22 รายการย่อยใน 4 สินค้าหลัก ภาษีเพิ่ม 0-13.5% แต่กระทบน้อย เหตุมีสัดส่วน 8.20% จากยอดส่งออกรวม ส่วน “เครื่องประดับเงินและเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองคำหรือแพลทินัม” ที่มีสัดส่วนรวม 61.41% ยังส่งออกได้ดี แม้ถูกตัดจีเอสพีไปแล้ว ขณะที่เพชร พลอยสี และไข่มุก ภาษียัง 0% จึงไม่กระทบ แนะรักษาคุณภาพ สานสัมพันธ์คู่ค้า เพื่อสร้างโอกาสทำตลาด
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์กรณีที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ว่า ในภาพรวมมีผลกระทบต่อการส่งออกเล็กน้อย มีเพียง 22 รายการย่อย ใน 4 สินค้าหลัก คือ เครื่องประดับแท้ เครื่องทองหรือเครื่องเงิน ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ และเครื่องประดับเทียม ที่จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ โดยปัจจุบันภาษีต่ำสุด คือ 0% และสูงสุด 13.5% หรือภาษีจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.79% และมีผลทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 6.43 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ เมื่อประเมินการส่งออกของสินค้า 4 กลุ่มที่อัตราภาษีเพิ่มขึ้น พบว่า ในปี 2561 มีมูลค่า 111.03 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 8.20% ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมด ซึ่งเมื่อเทียบกับการส่งออกในภาพรวม ถือว่าได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย
นางดวงกมลกล่าวว่า เมื่อตรวจสอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับกลุ่มอื่น พบว่าไม่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเครื่องประดับเงินซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าโหล/ชิ้นละ 18 เหรียญสหรัฐ และเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองคำหรือแพลทินัม ซึ่งไม่ได้จีเอสพีแล้ว แต่ยังเป็นสินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าส่งออกในปี 2561 รวม 831.88 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 61.41% ของมูลค่าส่งออกรวม โดยเครื่องประดับเงิน ปัจจุบันเสียภาษีนำเข้า 5% สหรัฐฯ ยังคงนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 544.19 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.13% ถือว่าไทยยังคงสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี ส่วนเครื่องประดับทองคำหรือแพลทินัม เสียภาษี 5.5% มีมูลค่า 287.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.62% เป็นรองคู่แข่งหลักในตลาดอย่างอินเดียและจีน
ขณะที่สินค้าเพชร พลอยสี และไข่มุก ยังคงมีอัตราภาษีนำเข้าปกติเป็น 0% จึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยในปี 2561 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 364.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.27% หรือคิดเป็นสัดส่วน 26.88% ของมูลค่าการส่งออกรวม
“การถูกระงับสิทธิจีเอสพีที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า จะทำให้ความได้เปรียบด้านต้นทุนภาษีของไทยหมดไป ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าค่อนข้างมากทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯ การรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ และผู้ส่งออกไทยควรกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการส่งเสริมการส่งออกและการทำตลาดเชิงรุกเพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดนี้ไว้” นางดวงกมลกล่าว