xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกอัญมณี 9 เดือนพุ่ง 42.61% อานิสงส์เก็งกำไรทอง-คนซื้อเก็บ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 9 เดือนพุ่ง 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 42.61% ได้แรงหนุนจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 107.44% จากการส่งออกไปเก็งกำไรส่วนต่างราคาและคนแห่ซื้อเก็บเพื่อความปลอดภัย เผยตลาดอาเซียนยังโตแรง เพิ่ม 193.74% ตามด้วยอินเดีย เพิ่ม 98.52% ส่วนตลาดที่เป็นคู่สงครามการค้า ทั้งสหรัฐฯ และจีนยังคงหดตัว

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 9 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 13,037.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.61% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 406,396.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.32% หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 6,275.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.68% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 195,859.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.24%

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในช่วง 9 เดือนของปี 2562 เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึง 107.44% โดยเป็นการส่งออกเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคาจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือน ก.ย. 2562 ราคาอยู่ที่ 1,511.31 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อยู่ในทิศทางขาลง การถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกจากตำแหน่ง ข้อพิพาทสงครามการค้ายังไม่ยุติ และมีความตรึงเครียดในตะวันออกกลาง ทำให้นักลงทุนซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยแทนการลงทุนในสินทรัพย์อื่น

ทั้งนี้ หากดูเป็นรายสินค้า พลอยสียังคงเป็นสินค้าดาวรุ่ง มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งพลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน โดยเพิ่มขึ้น 303.68%, 10.47% และ 17.66% ตามลำดับ ขณะที่เศษหรือของที่ใช้ ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าเพิ่มขึ้น 383.27% เครื่องประดับเทียมเพิ่ม 0.47% แต่เครื่องประดับแท้ลด 9.27% เครื่องประดับเงินลด 23.46% เครื่องประดับแพลทินัมลด 6.40% เพชรลด 7.02% เพชรก้อน ลด 20.95% เพชรเจียระไนลด 5.97%

สำหรับตลาดส่งออก พบว่าอาเซียนเติบโตสูงสุด 193.74% จากการส่งออกไปสิงคโปร์และกัมพูชา เพิ่ม 309% และ 131% รองลงมาคือ อินเดียเพิ่ม 98.52% จากการส่งออกเพชรเจียระไน และพลอยได้เพิ่มขึ้น และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพิ่ม 0.56% ส่วนฮ่องกง ตลาดอันดับ 1 ลด 3.93% เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการประท้วง สหภาพยุโรปลด 2.24% จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สหรัฐฯ ลด 7.98% จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ญี่ปุ่นลด 6.84% จีนลด 17.03% เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ชาวจีนลดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกลด 23.96% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชลด 69.53%

นางดวงกมลกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และหากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีทางออ ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยหนุนการส่งออก ที่สำคัญ สถาบันอัญมณีฯ กำลังจะจัดงานเทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2019” วันที่ 4-8 ธ.ค. 2562 ซึ่งจะมีผู้ประกอบการจากทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมงาน ทำให้เห็นถึงศักยภาพการเป็นนครอัญมณีของจันทบุรี และการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย และจะส่งผลให้มีการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจากไทยเพิ่มขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น