"แรม เชียงกา" กับ “เศรษฐกิจฐานราก อนาคตไทย อนาคตเรา” ระบุคิดค้น ทดลอง วิจัยเพื่อหาแนวทางหรือโครงการในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนและสังคมการเกษตร ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน คิดค้นหลักสูตรต่างๆ เพื่อรองรับการศึกษาดูงานของเครือข่ายภายนอกชุมชนจากทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและร่วมปาฐกถาในงาน “เศรษฐกิจฐานราก พลิกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย” โดย ระดมความคิดเห็นในหัวข้อเสวนา “เศรษฐกิจฐานราก อนาคตไทย อนาคตเรา” โดย คุณแรม เชียงกา ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส.หนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ คุณประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมการโรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป คุณชวน ชูจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลาดน้ำคลองลัดมะยม พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต จ.ตราด พร้อมทั้ง ผู้บริหารสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้บริหารภาครัฐ ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ และผู้นำชุมชนร่วมระดมความคิดเห็นในหัวข้อ “หัวใจเศรษฐกิจไทยยุคใหม่” และ “เศรษฐกิจฐานราก อนาคตไทย อนาคตเรา” เพื่อร่วมเสนอแนะแนวทางความร่วมมือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก พร้อมผลักดันสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี
นายแรม เชียงกา มีประสบการณ์ในการทำงานภาคเกษตร 26 ปี โดยทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นที่ 10 ไร่ มีการแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ประกอบด้วย แปลงข้าว แปลงไม้ผล/แปลงผัก บ่อน้ำ (ปลา/หอย) เลี้ยงสัตว์ (วัว/ไก่) และที่พักอาศัย ในอดีตเกษตรกรภายในตำบลหนองสาหร่าย ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ก่อให้เกิดภาวะหนี้สินจำนวนมากในชุมชน จนกระทั่งในปี 2545 ได้ไปศึกษาดูงานที่ชุมชนไม้เรียงและชุมชนคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้นำองค์ความรู้ในการบริหารจัดการชุมชน มาปรับใช้ในชุมชนของตนเอง มีการจัดทำแผนแม่บทชุมชน พัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เป็นแบบอย่างในการทำงานที่สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี การลดภาวะหนี้สิน การมีวินัยในการออม การรับฟังปัญหา และการสร้างความสามัคคี ในชุมชน ร่วมวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน หาสาเหตุของปัญหา และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันมีความขยันหมั่นเพียรและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นผู้ใฝ่รู้ อยู่เสมอ ทั้งการคิดค้น ทดลอง วิจัยเพื่อหาแนวทางหรือโครงการในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนและสังคมการเกษตร ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน คิดค้นหลักสูตรต่างๆ เพื่อรองรับการศึกษาดูงานของเครือข่ายภายนอกชุมชนจากทั่วประเทศ
นายแรม กล่าวว่า สมัยที่ในชุมชนของเรามีวิกฤตปัญหาเรื่องหนี้สิน มีวิกฤตปัญหาเรื่องของการจัดการทุนในชุมชน วันนี้มาในนามของภาคเกษตรกร ในฐานะที่เป็นประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส.หนองสาหร่าย ซึ่งอยู่ในส่วนของ จ.กาญจนบุรี ก่อนอื่นเลยก็อยากให้นิยามของคำว่าวิสาหกิจชุมชนของพวกเรานิดหนึ่ง เนื่องจากส่วนใหญ่จะเข้าใจผิด วิสาหกิจชุมชนมันเป็นฐาน หรือเป็นสถานประกอบการของคนในชุมชนเอง ที่เราสามารถจะรวมทุนที่เกิดขึ้นในชุมชน สร้างความสามารถของคนในชุมชนให้เกิดกระบวนการการจัดการและออกมาให้มันเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ในส่วนของชุมชนได้ ซึ่งวิกฤตตรงนี้เอง เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเกษตรกรที่เป็นชาวนา ค่อนข้างจะเป็นเกษตรกรที่ค่อนข้างจะถูกกดขี่และข่มเหงอยู่ตลอดเวลา ข้าวเรากินกันอยู่ทุกวัน แต่ทุกวันนี้้ข้าวไม่ได้เป็นรายได้ของชาวนา แต่มันเป็นนโยบายของภาครัฐ คือถูกกดขี่ตลอด แล้วจะทำอย่างไรให้ข้าวของเราเป็นรายได้ในส่วนของชุมชนเรา และเป็นหลักค้ำประกันให้กับคนในชุมชนของเราอยู่ได้ ก็เลยรวมกลุ่มกันตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น ซึ่งเราก็มีสมาชิกอยู่ประมาณ 270 กว่าครัวเรือน มีพื้นที่ในการดูแลครอบคลุมอยู่ประมาณ 7,000 กว่าไร่ ซึ่งใน 7,000 กว่าไร่
"หนองสาหร่าย วันนี้ผมขอยกตัวอย่าง เรามี 9 หมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านเป็นฐานรองรับจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาทั้งหมดเลย หมู่ 1 ทำโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ หมู่ 2 ทำโรงงานน้ำดื่ม หมู่ 3 ทำธนาคารขยะ หมู่ 4 ตั้งสถาบันการเงิน หมู่ 5 โรงงานน้ำยาเอนกประสงค์ หมู่ 6 ของผมรับผิดชอบฐานใหญ่เป็นวิสาหกิจชุมชน ตลาดกลางรับซื้อข้าว หรือฐานการผลิตข้าวของเรา หมู่ 7 เป็นเกษตรอินทรีย์ หมู่ 8 เป็นขนมขบเคี้ยว หมู่ 9 เป็นปั๊มน้ำมัน นี่คือ 9 หมู่บ้าน 9 กิจกรรมของกลุ่ม สิ่งที่ทุนในชุมชนเรามีเยอะแยะไปหมดเลย แต่เรายังไม่เกิดการจัดการรวมกลุ่มให้เกิดความเข้มแข็ง เรายังไม่บริหารจัดการทุนของเราให้เกิดกระบวนการจัดการแล้วมาสร้างกระบวนการเศรษฐกิจฐานรากของเราให้เข้มแข็ง นี่คือมิติมุมมองของภาคประชาชน ภาคเกษตรกร ในฐานะที่เป็นฐานวิสาหกิจชุมชน" นายแรม ระบุ
คำต่อคำ : เสวนา "เศรษฐกิจฐานราก อนาคตไทย อนาคตเรา"
แรม เชียงกา ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส.หนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี
นมัสการพระคุณเจ้าทั้งสองรูป ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ เนื่องจากเคยไปนอนวัดของพระอาจารย์มนัสอยู่ประมาณครึ่งเดือน เรียนรู้เรื่องการออม เรียนรู้เรื่องสวัสดิการ และมีโอกาสเรียนรู้เรื่องการจัดการทุนชุมชน ตอนสมัยที่ในชุมชนของเรามีวิกฤตปัญหาเรื่องหนี้สิน มีวิกฤตปัญหาเรื่องของการจัดการทุนในชุมชน วันนี้มาในนามของภาคเกษตรกร ในฐานะที่เป็นประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส.หนองสาหร่าย ซึ่งอยู่ในส่วนของ จ.กาญจนบุรี ก่อนอื่นเลยก็อยากให้นิยามของคำว่าวิสาหกิจชุมชนของพวกเรานิดหนึ่ง เนื่องจากส่วนใหญ่จะเข้าใจผิด วิสาหกิจชุมชนมันเป็นฐาน หรือเป็นสถานประกอบการของคนในชุมชนเอง ที่เราสามารถจะรวมทุนที่เกิดขึ้นในชุมชน สร้างความสามารถของคนในชุมชนให้เกิดกระบวนการการจัดการและออกมาให้มันเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ในส่วนของชุมชนได้
ซึ่งวิกฤตตรงนี้เอง เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเกษตรกรที่เป็นชาวนา ค่อนข้างจะเป็นเกษตรกรที่ค่อนข้างจะถูกกดขี่และข่มเหงอยู่ตลอดเวลา ข้าวเรากินกันอยู่ทุกวัน แต่ทุกวันนี้้ข้าวไม่ได้เป็นรายได้ของชาวนา แต่มันเป็นนโยบายของภาครัฐ คือถูกกดขี่ตลอด แล้วจะทำอย่างไรให้ข้าวของเราเป็นรายได้ในส่วนของชุมชนเรา และเป็นหลักค้ำประกันให้กับคนในชุมชนของเราอยู่ได้ ก็เลยรวมกลุ่มกันตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น ซึ่งเราก็มีสมาชิกอยู่ประมาณ 270 กว่าครัวเรือน มีพื้นที่ในการดูแลครอบคลุมอยู่ประมาณ 7,000 กว่าไร่ ซึ่งใน 7,000 กว่าไร่นี้ เราจะทำอย่างไรให้ผลผลิตของเรา ที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มันออกมาในกระบวนการจัดการของเราเกือบทั้งหมด หรืออยู่ในมือของเราให้ได้ โดยซึ่งมี ธ.ก.ส.เป็นทุนหลักให้กับเรา และก็มาต่อยอดมาเสริมหนุนให้กับเราอยู่หลายๆ ช่วง
ช่วงแรกเลยการทำนา ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่าคนทำส่วนใหญ่จะมีกำไรน้อยกว่าคนแปร แล้วคนแปรก็จะมีกำไรน้อยกว่าคนขาย เพราะฉะนั้น section ของการทำนาจะมีอยู่ 3 กระบวนการ คือ หนึ่ง คนทำ พออยู่ได้ ตายบ้าง ดีบ้าง ล้มบ้าง เกิดบ้าง เป็นเรื่องปกติ สอง คนที่ซื้อมารวบรวมแล้วก็แปร ก็พออยู่ได้ แต่มีกำไรมากกว่าคนทำ และตัวที่สาม คนที่ขาย มีกำไรมากสุด ฉะนั้นวันนี้จะให้ชาวนาเราเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การปลูก การรวบรวม การแปรรูป และการขายออกมาสู่ตลาดได้อย่างไร วันนี้ในส่วนของกลุ่มเราก็เลยต้องจัดการแบบนี้เกือบทั้งหมด ก็เริ่มตั้งแต่ส่งเสริมให้สมาชิกในส่วนของกลุ่มเราทำนา ด้วยกระบวนการพัฒนาจากเกษตรเคมี มาเป็นเกษตร GAP มาเป็นเกษตรปลอดภัย เป็นอินทรีย์ แล้วก็รวบรวมกลุ่มเป็นการแปรรูป ทุกวันนี้ผมอยู่ตรงนี้ผมก็อึดอัดอยู่พอสมควร เพราะทุกวันนี้ที่ตลาดกลาง ข้าวเราเข้าวันละไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 ตัน แต่ข้าวของเราจะไม่ใช้ระบบการไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง แต่เราใช้ระบบราคาประมูล เมื่อวานเช้าผมก็ประมูลข้าวเสร็จก็กลับมา
ผมบอกพวกเรานิดเดียวนะครับ ให้เราเห็นภาพนิดหนึ่งว่า ทุกวันนี้การทำนาใช้ระยะเวลาเกือบ 4 เดือน คือ 120 วัน แต่มีกำไรน้อยกว่าพ่อค้าคนกลางหรือโรงสีกะพริบตา โรงสีกะพริบตาทีเดียวกำไรมากกว่าชาวนา ฉะนั้นวันนี้จะทำอย่างไรให้กระบวนการการทำนาของเรามันอยู่ในการจัดการของกลุ่มเราทั้งหมด เราก็เลยใช้กระบวนการวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทุกวันนี้เราประมูลข้าว เช้าขึ้นผมก็โทรศัพท์หาโรงสี 1..2..3..4..5..หาพ่อค้า 1..2..3..4..5.. ใครให้ราคาสูงสุด เอาไป ใครให้ต่ำ เราก็เก็บรวบรวมเอาไว้ ตัวไหนดีเราก็คัดเอาไว้ ตัวไม่ดีเราก็ส่งโรงสีไป ทุกวันนี้เรามีของดีๆ อยู่ที่โกดังของเรา เรามีของที่เป็นเกษตรปลอดภัยอยู่โกดังของเรา เรามีของที่เป็นอินทรีย์อยู่โกดังของเรา แต่ของที่เป็นเคมีเราเชิญระบบโรงสีประมูล ฤดูกาลหนึ่งผมต้องเปิดประมูลข้าวทุกวัน ช่วงเช้า ไม่เกินเที่ยงต้องประมูลให้เสร็จ เพราะข้าวใหม่จะเข้ามาวันต่อวัน ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ตัน นี่คือกลุ่มที่เราต้องเริ่มดำเนินการด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทุกวันนี้ก็ใช้ทุนของ ธ.ก.ส.หมุนเวียน ซื้อมาขายไปประมาณเกือบ 9 ล้านบาทเศษ นี่คือกระบวนการจัดการ
แต่ถามว่าทำไมเราไม่ขยายทุน ทุนในชุมชนเราเยอะมาก ทุกวันนี้ช่วงเช้าเราพูดถึงนโยบาย ถามว่าทุนเยอะไหม ในภาคประชาชนทุนเยอะมาก แต่ยังไม่มีการจัดการทุนเท่านั้นเอง แต่เราก็ยังอัดทุนลงไปๆ จนที่พระบอก คือเป็นหนี้ ผมบอกได้เลยครับ นโยบายภาครัฐที่ลงแต่ละปีๆ จนชาวบ้านจำชื่อโครงการไม่ได้ ว่าเป็นโครงการไหนๆ มาปีไหนๆ ผมทบทวนพวกเรานิดหนึ่ง ปี 40 มิยาซาวา ให้หมู่บ้านละ 2 แสนบาท 1 แสนบาท 2 แสนบาท ปี 46 กองทุนหมู่บ้านฯ ปี 47 SML ปี 48 ชุมชนพอเพียง ปี 49 ทุนเศรษฐกิจ ปี 50 อยู่ดีมีสุข ปี 51 ไทยเข้มแข็ง ปี 52 ถนนปลอดฝุ่น ปี 60 ประชารัฐ ปี 61 ไทยนิยม ยั่งยืน ปีนี้ ประชารัฐสร้างไทย นี่คือชื่อโครงการที่ให้ลง 2 แสน 3 แสน 2 แสน 3 แสน ถามว่าให้แล้วไปไหนครับ เพราะที่ผ่านมาเราให้เป็นระบบที่เรียกว่าน้ำตก คือไหลจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง แต่ข้างล่างไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีการรวมกลุ่ม ไม่มีฐานข้อมูล มันไหลลงมาปุ๊บ ไม่เกิน 5 วันมันหายหมด ใช่หรือไม่
ปี 60 ประชารัฐ ก้อนแรกเดือนกุมภาพันธ์ ตำบลละ 5 ล้านบาท ให้ลงหมู่บ้าน ให้ลงตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท ถ้าเป็นไปได้ เอา 5 ล้านบาทมาแก้ไขปัญหาวิกฤตในชุมชน มันสามารถอยู่ได้แล้วประเทศไทย แต่ 5 ล้านบาทมันไม่ได้เกิดการรวมกลุ่ม เอา 5 ล้านตั้ง เอาหมู่บ้านหาร แบ่งแล้วหมู่บ้านละ 2-3 แสน เอาไปถากหญ้า คันคูคลอง ลอกผักตบชวา ไม่เกิน 3 วัน กระจายเรียบหมดเลย ใช่หรือไม่ พอหมด 5 ล้านบาทปุ๊บ อัดลงงบกลางหมู่บ้านอีก 3 แสนบาท ทุกหมู่บ้านต่อเติมศาลาเอนกประสงค์ ใช่หรือไม่ พอหมด 3 แสนปุ๊บ กองทุนหมู่บ้านฯ อัดให้กองทุนฯ ละ 5 แสนบาท ร้านค้าชุมชนปิด 24 ชั่วโมง ทุกวันนี้ ใช่หรือไม่ พอหมด 5 แสนปุ๊บ เดือนสิงหาคม อัดงบกลางหมู่บ้านอีก 2 แสนบาท ทุกหมู่บ้านได้เหมือนกันหมด หอกระจายข่าว กล้องวงจรปิด ใช่หรือไม่ พอหมด 2 แสนปุ๊บ เดือนพฤศจิกายน อัดให้อีก 2 แสนบาท น้ำดื่มหยอดเหรียญประชารัฐ ใช่หรือไม่ หลังจากนั้นเสร็จสรรพ ปี 60 สิ้นปี ยังให้โครงการ 9101 ปุ๋ยหมักเหม็นกันทั้งประเทศ ใช่หรือไม่ ถามว่าปีหนึ่งๆ เงินลงเยอะแยะไปหมดเลย จะทำอย่างไร ฉะนั้นวันนี้ฐานข้อมูลชุมชนต้องเข้มแข็ง รวมกลุ่มกันได้ไหม เป็นวิสาหกิจชุมชนไหม ทุนในชุมชนเรามี
หนองสาหร่าย วันนี้ผมขอยกตัวอย่าง เรามี 9 หมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านเป็นฐานรองรับจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาทั้งหมดเลย หมู่ 1 ทำโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ หมู่ 2 ทำโรงงานน้ำดื่ม หมู่ 3 ทำธนาคารขยะ หมู่ 4 ตั้งสถาบันการเงิน หมู่ 5 โรงงานน้ำยาเอนกประสงค์ หมู่ 6 ของผมรับผิดชอบฐานใหญ่เป็นวิสาหกิจชุมชน ตลาดกลางรับซื้อข้าว หรือฐานการผลิตข้าวของเรา หมู่ 7 เป็นเกษตรอินทรีย์ หมู่ 8 เป็นขนมขบเคี้ยว หมู่ 9 เป็นปั๊มน้ำมัน นี่คือ 9 หมู่บ้าน 9 กิจกรรมของกลุ่ม ถามว่าเงินเอามาจากไหน ฐานใหญ่ของเราใช้ทุน ธ.ก.ส. 9 ล้าน ฐาน 2 สถาบันการเงิน ใช้ทุน ธ.ก.ส.2 ล้าน แต่ฐานโรงงานของเราทั้งหมดใช้เงินในชุมชนทั้งหมดเลย ถามว่าเงินตรงไหนครับ หนึ่ง เราจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทุกเดือน ใช่ไหม ถามผู้สูงอายุใช้อะไรบ้างครับ ไม่ได้ใช้อะไรอยู่แล้ว ลูกหลานหลอกกดบัตรเอทีเอ็มบ้าง บอกว่าเงินยังไม่เข้าบ้าง บอกว่าตรงโน้นตรงนี้บ้าง ถามว่าเราไปขอผู้สูงอายุ ผมขอปี 50 ผมจะสร้างโรงงานปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ถามผู้สูงอายุครับ ท่านได้เงินเดือนละ 500-600 เหลือไหม ไม่เหลือเลย งั้นผมขอ 1 เดือนได้ไหมปีนี้ ทำไม ผมจะเอามาสร้างโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ ผมให้ผู้สูงอายุมาถือหุ้นโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ แค่ขอแค่เดือนเดียวครับ ผมมี 700 กว่าคน ได้เกือบ 400,000 บาท อสม.ครับ เดือนละ 600 บาท ตอนนี้เดือนละ 1,000 บาท ขอ อสม.1 เดือน ผมก็ได้ฐานโรงงานแล้ว นี่คือสิ่งที่ทุนในชุมชนเรามีเยอะแยะไปหมดเลย แต่เรายังไม่เกิดการจัดการรวมกลุ่มให้เกิดความเข้มแข็ง เรายังไม่บริหารจัดการทุนของเราให้เกิดกระบวนการจัดการแล้วมาสร้างกระบวนการเศรษฐกิจฐานรากของเราให้เข้มแข็ง นี่คือมิติมุมมองของภาคประชาชน ภาคเกษตรกร ในฐานะที่เป็นฐานวิสาหกิจชุมชน
แต่ในส่วนของฐานที่จะมาพูดต่อในเรื่องกระบวนการจัดการต่างๆ นั้นขอเป็นรอบสองก็แล้วกันครับ