xs
xsm
sm
md
lg

“ธนาคารออมสิน” ชูแนวคิด 3 ออมขับเคลื่อนนโยบายรัฐ แก้ปัญหาความยากจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (10 ธ.ค.) ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ร่วมเสวนา “หัวใจเศรษฐกิจไทยยุคใหม่” ร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ในงาน “เศรษฐกิจฐานรากพลิกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ” โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและแสดงปาถกฐาพิเศษ “เศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย กลไกพาเศรษฐกิจชาติมั่นคงยั่งยืน” และนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการธนาคารออมสิน ยังได้ร่วมเสวนา “เศรษฐกิจฐานราก อนาคตไทย อนาคตเรา” ในงานดังกล่าวด้วย ณ อาคารอิมแพ็คฟอรัม ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

สำหรับความร่วมมือในการจัดงานเศรษฐกิจฐานรากพลิกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ เป็นการสนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างเข้าถึงแบบครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐสร้างไทยภาคกลาง ซึ่งสานต่อจากงานประชารัฐสร้างไทย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดกาญจนบุรี โดยในครั้งนี้ธนาคารออมสินเน้นเรื่องส่งเสริมการออม สร้างวินัยทางการเงิน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจชุมชน โฮมสเตย์การท่องเที่ยวชุมชนฐานราก เป็นเป้าหมายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ โดยนำแนวคิด 3 ออม คือ (1) ออมเศรษฐกิจ (2) ออมสังคม (3) ออมสิ่งแวดล้อม และกลไก 3 สร้าง ได้แก่ (1) สร้างความรู้/สร้างอาชีพ (2) สร้างตลาด/สร้างรายได้ (3) สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เพิ่มรายได้ แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำให้แก่สังคม

พร้อมทั้งเตรียมแผนสนับสนุนนโยบายรัฐอย่างต่อเนื่องด้วยการปรับรูปแบบสาขาให้เป็น 3 ธนาคารอยู่ในธนาคารเดียว คือ (1) Traditional Banking (2) Digital Banking (3) Social Banking และปรับบทบาทพนักงานเพื่อรองรับการเป็นธนาคารเพื่อสังคม มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ให้ความรู้การจัดการทางการเงินครัวเรือน ศูนย์กลางการค้าขาย รวมถึงเป็นศูนย์พัฒนาอาชีพให้คนไทย ตลอดทั้งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
คำต่อคำ : เสวนา "หัวใจเศรษฐกิจไทยยุคใหม่"

นงวดี ถนิมมาลย์ ผู้ดำเนินรายการ

ต้องบอกว่าวงเสวนาวันนี้น่าสนใจอย่างมากทีเดียว เพราะทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ผู้บริหารทุกๆ ท่านที่อยู่บนเวทีกับเราในวันนี้มารวมตัวกัน เหมือนรวมพลังกัน และที่สำคัญคือ เป้าหมายของเราคือเศรษฐกิจฐานราก วันนี้ดิฉันขออนุญาตถามคำถามแต่ละท่านไล่เรียงกันไป หลักๆ ก็คือจะให้แต่ละท่าน แต่ละหน่วยงาน กล่าวถึงแผนงานหรือยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการมาในปีนี้สำหรับการขับเคลื่อนและนโยบายต่างๆ ที่มุ่งเน้นไปยังเศรษฐกิจฐานราก และปีถัดไปด้วย จากนั้นจะเป็นข้อเสนอแนะจากทั้ง 5 องค์กร ที่จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากของไทยเข้มแข็ง คำถามแรก เราอยู่ในช่วงปลายปีแล้ว อยากให้ทุกๆ ท่านพูดถึงเรื่องของผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ทั้งภาพรวม และเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเชิงโครงการ และจะมีตัวเลขในเชิงสถิติอย่างไรที่ทำแล้วเป็นผลสำเร็จบ้าง

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

กราบสวัสดีผู้บริหารจากภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงาน กราบนมัสการพระอาจารย์ และสวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาจากหลายภาคส่วน วันนี้ธนาคารออมสินได้มีโอกาสขึ้นมาเล่าถึงสิ่งที่เราได้ทำอะไรเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ต้องเรียนว่า ในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินเรามีลูกค้าอยู่ประมาณ 22 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวเศรษฐกิจฐานราก คือยังมีรายได้ไม่สูงนัก 60 เปอร์เซ็นต์ก็เท่ากับประมาณ 13 ล้านกว่าคน และในส่วนนี้เราก็มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นชาวผู้มีรายได้น้อย ก็ประมาณ 81 เปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณ 10 ล้านคน ที่อยู่ในความดูแลของธนาคารออมสิน ในส่วนนี้ธนาคารออมสินก็มีนโยบายที่จะปรับปรุงโดยที่เน้นในเรื่องของการจะเป็นธนาคารเพื่อสังคม จริงๆ แล้วเราได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร โดยเน้นที่จะเป็น Social Banking เป็นธนาคารเพื่อสังคม เราเน้นที่จะทำอะไร ก็คือเน้นเพื่อจะพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้พึ่งพาตัวเองได้ จะพึ่งพาตัวเองได้ก็อย่างที่ท่านรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวไป คือ เราจะต้องมีการสร้างความรู้ สร้างอาชีพ สร้างตลาด สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่าย นั่นคืออันแรกที่เราต้องการจะยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

อันดับที่สอง เราจะสร้างเรื่องของการส่งเสริมการออมและวินัยทางการเงิน และเราก็จะเน้นเรื่องของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน โดยรวมแล้วธนาคารออมสินก็มีแนวทางที่เราเรียกว่า 3 ออม คือ ออมเศรษฐกิจ ออมสังคม และออมสิ่งแวดล้อม คิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ธนาคารของเรา ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐจะมุ่งเน้น ส่วนการออมเศรษฐกิจพาร์ตหนึ่ง ตามที่ท่านรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวไป คือเราได้นำนโยบายของรัฐมาดำเนินการ คือการเน้นเรื่องการทำเรื่อง 3 สร้าง คือ เราต้องการที่จะสร้างความรู้ สร้างอาชีพ และสร้างตลาดให้เขามีที่ค้าขาย ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ และให้เครื่องมือในการเข้าถึงแหล่งเงิน และให้สินเชื่อประเภทต่างๆ

นี่ก็เป็นตัวอย่างนะครับ ในจอก็จะเห็นภาพว่าเราเน้นในเรื่องของ ... อย่างข้างนอกก็มีผลงาน ที่เราเรียกว่ามหาวิทยาลัยประชาชน ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมาเราให้ทางมหาวิทยาลัยฯ กำหนดหลักสูตร และให้ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐไปลงทะเบียนเรียนและฝึกอบรมเพื่อเป็นการสร้างอาชีพ อาจจะเป็นเรื่องของการทำอาหาร เรื่องของการรักษาพยาบาล การดูแลผู้ป่วย การซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ ฯลฯ ตามแต่ละพื้นที่ ทีนี้เราก็สามารถทำให้คนที่มีความรู้ด้านเดียวมาเพิ่มอาชีพใหม่ๆ และเราก็มีเรื่องของน้องๆ เด็กมหาวิทยาลัย เรียกว่าโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น อันนี้ก็ออกไปช่วยพัฒนาให้ชุมชนต่างๆ มีคุณภาพในเรื่องของการผลิตสินค้าบริการ เรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ต่างๆ บางหมู่บ้านพัฒนาจากสินค้าธรรมดา สามารถส่งออกได้ อย่างด้านนอกนี่ก็มีหลายๆ เจ้าแล้ว บางเจ้าก็พัฒนายอดขายเพิ่ม 600 เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นต้น โดยการที่น้องๆ ออกไปช่วยคิดผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ออกแบบแพกเกจจิ้งหรือหีบห่อให้สวยงาม ให้ขายออนไลน์เป็น แล้วก็ทำให้สินค้ามีคุณภาพ เพิ่มขนาดราคาขาย หรือโครงการที่เราส่งเสริมโฮมสเตย์ โครงการที่เราส่งเสริมสตรีทฟูดอย่างจริงจัง นี่ก็เป็นการสร้างอาชีพ สร้างความรู้

ในฝั่งของการสร้างตลาดก็จะเห็นว่าการทำตามนโยบายที่ท่านรัฐมนตรีฯ บอก เราจะมีการสร้างตลาด ตลาดนัดประชารัฐ ตลาดนัดผ่านที่ของกรมธนารักษ์ หรือตอนนี้ทางพีทีทีโออาร์ก็ได้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเครือข่ายใหญ่มากที่จะช่วยกันหาตลาดให้พ่อแม่พี่น้องมาขายของ หลังจากนั้นเราก็มีเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงิน

นอกเหนือจากนั้นก็จะมีเรื่องของการที่เราจะทำเรื่องการมีนโยบายต่างๆ นโยบายของรัฐ ในเรื่องการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐก็ดี จากที่ผ่านมามีการลงทะเบียนไปประมาณ 11.4 ล้านคน ก็มีคนที่ลงทะเบียนกับธนาคารออมสิน 4 ล้านกว่าคน แล้วก็มีคนที่ต้องการฝึกอาชีพประมาณ 1.47 ล้านคน จากที่ฝึกอาชีพไปแล้ว เราไปสอบถาม ซึ่งตัวเลขพอๆ กัน ก็คือว่า กลุ่มลูกค้าทั่วไป กับกลุ่มลูกค้าออมสิน เรียกว่าตอนก่อนสำรวจจะมีคนที่รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่น เรียกว่ากลุ่มที่อยู่ในขีดใต้ความยากจน ถ้า 3 หมื่น-1 แสน เรียกว่ามีรายได้น้อย ถ้าเกินแสนก็หลุดพ้น ปรากฏว่าสำรวจครั้งแรก ประมาณ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่น แต่ตอนนี้เราไปสัมภาษณ์ใหม่ ปรากฏว่ากลุ่มที่มีรายได้เกิน 3 หมื่นขึ้นมา มีการย้ายจากกลุ่มที่มีรายได้ 3 หมื่น มาอยู่ที่กลุ่มรายได้ 3 หมื่น-1 แสน ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ จาก 80 ก็ลดลงมาเหลือแค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าตอนนี้พี่น้องเราก็มีรายได้มากขึ้น อันนี้จากการที่เขาพูดเอง สัมภาษณ์เขาเองนะครับ เขามีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วก็ move มาสู่ผู้ที่หลุดพ้นจากกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสน ก็หลุดพ้นมาประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการยกระดับ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ นี่ก็เป็นผลงานที่คิดว่าน่าจะตรง

ส่วนมาตรการปัจจุบัน เราก็มีมาตรการเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอนนี้ออมสินก็มีการปล่อยสินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้านต่างๆ ประมาณ 29,000 กว่าล้าน อันนี้เราก็ช่วยกระตุ้นโดยการให้พักชำระหนี้ 1 ปี ส่วนในแง่ของการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน เราก็มีการไปให้ความรู้ ไปฝึกอบรมเรื่องการบริหารความเสี่ยง เรื่องระบบบัญชี และมีการที่จะยกระดับจากกองทุนหมู่บ้านมาเป็นสถาบันการเงินประชาชนตาม พ.ร.บ.ใหม่ อันนี้ปีหน้าก็จะพัฒนาอย่างจริงจัง ตั้งเป้ารวมกับทาง ธ.ก.ส.ไว้ เพื่อจะให้หมู่บ้านที่เป็นกองทุนหมู่บ้านปัจจุบัน เป็นกองทุนที่ได้มาตรฐาน โดยใช้ระบบใหม่ๆ ที่ธนาคารออมสิน กับ ธ.ก.ส.พัฒนา

และที่ผ่านมาก็มีโครงการที่กองทุนหมู่บ้านต่างๆ ทำกว่า 2 แสนโครงการ ซึ่งผมว่าเป็นประโยชน์ และรัฐบาลก็จะส่งเสริมต่อเนื่อง อย่างล่าสุดก็ให้อีกหมู่บ้านละ 2 แสนบาท เป็นต้น

ส่วนในแง่สัมฤทธิผล มีการสำรวจ เราเรียกว่าสำรวจดัชนีคุณภาพชีวิตประชาชนฐานราก ในหลายๆ ปีก็เติบโตมา มีดัชนีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นๆ นี่แค่ 3 ปี จาก 0.6 มาสู่ 0.7 นี่ถ้าเกินกว่า .66 ก็ถือว่ามีคุณภาพที่ดี แต่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ผมเข้าใจว่าตอนนี้ยังต่ำกว่า 50 คือดัชนีความเชื่อมั่นยังน้อย เพราะว่าตอนนี้เราต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจฐานรากว่ามั่นใจที่จะเดินต่อ โดยรัฐบาลลงมาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างจริงจัง อันนี้ก็จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเชื่อมั่นมากขึ้น นี่ขออนุญาตตอบคำถามแรกก่อน

นงวดี - เยอะจริงๆ ก็ต้องบอกว่า เวลาเราพูดถึงออมสินก็จะนึกถึงว่า เราเดินเข้าไปในธนาคาร แต่จริงๆ จากที่คุณชาติชายเล่าให้ฟังนั้น เป็นไปอย่างที่ท่านรัฐมนตรีบอกจริงๆ คือบทบาทเป็นเหมือนผู้พัฒนาเพิ่มเติมเข้าไปแล้ว เป็นผู้พัฒนาด้วย และมีตัวเลขเห็นชัดเจนว่าสามารถยกระดับหรือทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนฐานรากนั้นดีขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพด้วย

ทีนี้มาที่ ธอส.บ้าง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ต้องบอกว่าเป็นที่พึ่งพิงของผู้ที่อยากจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ในช่วงปีที่ผ่านมานั้นผลการดำเนินงานและตัวเลขในเชิงสถิติมีประสิทธิผลอย่างไรบ้าง

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ในส่วนของธนาคารอาคารสงเคราะห์ เราก็ปล่อยสินเชื่อบ้านในรอบปีนี้ คือ 11 เดือนที่ผ่านมาเราปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 185,000 กว่าล้าน นั่นก็หมายความว่ามีเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 180,000 กว่าล้าน ซึ่งก็เป็นตัวเลขอย่างที่ทุกท่านทราบว่าที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยพื้นฐานของครอบครัว ของสังคม เราก็ทำให้คนไทยมีบ้านตามพันธกิจของเรา

ทีนี้ในส่วนที่เป็นโครงการของภาครัฐโดยตรงที่ลงไปเกี่ยวกับพี่น้องประชาชนผ่านนโยบายของรัฐบาล กระทรวงการคลังในช่วงที่ผ่านมาก็มี 3 โครงการ โครงการแรกเลย คือ โครงการบ้านล้านหลัง ที่เราเปิดไปวันแรกในวันสิ้นปี วันเดียวก็มีประชาชนทั่วประเทศจองสิทธิเข้ามา 127,000 ราย ซึ่งก็ปรากฏในข่าวอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราก็ปล่อยสำหรับโครงการบ้านล้านหลังประมาณ 14,000 กว่าล้าน ที่ทำให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตัวเอง ถัดมาอีกโครงการหนึ่ง ก็จะเป็นโครงการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางภาคอสังหาริมทรัพย์ วงเงิน 5 หมื่นล้าน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.5 สามปีแรก ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก รัฐบาลผ่านทางธนาคารอาคารสงเคราะห์สนับสนุนส่วนต่างดอกเบี้ยให้ เป็นวงเงิน 1,200 ล้าน นั่นหมายความว่าประชาชนที่ซื้อที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านใหม่ ราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้าน ท่านจะประหยัดเงินงวดใน 3 ปีแรกไปได้ 8 หมื่นกว่าบาทต่อ 1 ล้านบาทที่กู้ ถ้า 3 ล้าน ก็ 240,000 บาท และในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีมาตรการผ่านกระทรวงมหาดไทยในเรื่องของการลดค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง จากรวม 3 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 0.02 นั่นหมายความว่า 90,000 บาท เหลือแค่ 600 บาท

ดังนั้น ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่ช่วยพี่น้องประชาชนให้มีบ้านได้ง่ายขึ้น และโครงการล่าสุด โดยนโยบายของท่านรัฐมนตรีฯ อุตตม ที่กำลังจะเปิดลงทะเบียนพรุ่งนี้แล้ว คือโครงการ บ้านดีมีดาวน์ คือรัฐบาลจะช่วยพี่น้องประชาชนสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านใหม่ เน้นคำว่า บ้านใหม่จากผู้ประกอบการ ไม่ได้หมายความว่าบ้านหลังแรกนะครับ รัฐบาลก็ผ่านทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ ก็จะมีการช่วยเหลือเงินรายละ 50,000 บาท สำหรับ 100,000 รายแรก ซึ่งเงิน 50,000 บาทนี้ถามว่าประชาชนที่ซื้อที่อยู่อาศัยเอาไปทำอะไรได้บ้าง หนึ่งเลย เอาไปตัดต้นได้ สอง อาจจะเอาไปซื้อโต๊ะ ตู้ เตียง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ต่างๆ ในการอยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น สาม ก็คือถ้าท่านไม่ใช้ในสองตัวนี้ ท่านก็เอาไปจับจ่ายใช้สอยผ่านชิมช้อปใช้ปกติได้อีกเหมือนกัน นั่นก็หมายความว่าจะมีเม็ดเงินอีก 5,000 ล้าน ผ่านทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ และผ่านทางภาคอสังหาริมทรัพย์เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในการที่ท่านจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยสรุปคร่าวๆ ก่อนนะครับสำหรับธนาคารอาคารสงเคราะห์

นงวดี - ก็ต้องบอกว่าจำได้เลย บ้านล้านหลัง ตามข่าวบอกว่าประชาชนไปรอตั้งแต่ตีสอง ตีสามเลย ต้องบอกว่าได้รับความสนใจจริงๆ และธนาคารอาคารสงเคราะห์เองก็ยังเป็นที่พึ่งพิงหลักจริงๆ ของประชาชนผู้ที่อยากจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง อัตราดอกเบี้ยไม่ต้องพูดถึง ต่ำกว่าทั่วๆ ไปอยู่แล้ว

ทีนี้มาถึงทางฝั่งของบรรดาเอสเอ็มอีบ้าง คนตัวเล็กทั้งหลาย ขอเรียนเชิญคุณสมานพงษ์ ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาเรามีการช่วยเอสเอ็มอี ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน อย่างไรบ้าง

นายสมานพงษ์ เกลี้ยงลำยอง รองกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์

กราบเรียนพี่น้องผู้ประกอบการทุกท่าน เอสเอ็มอี ดีเวลลอปเม้นท์ แบงก์ เป็นแบงก์เล็กๆ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ในรอบปีที่ผ่านมาอยากจะเรียนว่า นอกจากที่เราสามารถช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เรามีโปรดักต์โปรแกรมของตัวเราเองแล้ว เรายังเป็นหน่วยงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง โดยเรียกว่ากองทุนประชารัฐ ซึ่งตัวกองทุนประชารัฐนั้นเรามีวงเงินอยู่ 20,000 ล้าน เรากันไว้ 2,000 ล้าน ไว้สำหรับพัฒนาผู้ประกอบการ ส่วน 18,000 ล้านนั้น เราปล่อยอัดฉีดไปสู่ทั่วภูมิภาค ซึ่งหมดไปในระยะเวลาเพียง 1 ปี และจากการที่ 18,000 ล้านที่หมดไปนั้น เราก็กลับมาพัฒนาต่อยอดสำหรับปีหน้า จากการที่ผู้ประกอบการผ่อนชำระเป็นรายงวดเข้ามา จะมี gap เหลืออยู่ประมาณ 3,000 ล้าน ซึ่ง 3,000 ล้านนี้เราก็เอามาออกโปรแกรมอีกตัวหนึ่ง เราใช้คำว่า เอสเอ็มอีโตไว ไทยยั่งยืน ซึ่ง 3,000 ล้านนั้นอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ระยะเวลากู้เพียง 7 ปี ส่วนวงเงินที่อนุมัติต่อราย ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ซึ่งตรงนี้เรามีการ launch โปรดักต์ไปเมื่อวันศุกร์ ต้นๆ เดือนธันวาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมผู้ที่สนใจอยากจะยื่นกู้เข้าร่วมโครงการก็ติดต่อได้ที่อุตสาหกรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ

นงวดี - นั่นก็เป็นส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนะคะ สินเชื่อเอสเอ็มอีโตไว ไทยยั่งยืน ทีนี้ก็ต้องมาทางฝั่งของ ธ.ก.ส.กันบ้าง ก็ต้องบอกว่า ธ.ก.ส.อยู่ใกล้ชิดประชาชนพี่น้องฐานรากมากที่สุด ต้องขอให้ท่านผู้จัดการ ธ.ก.ส. คุณอภิรมย์ กล่าวถึงในปีที่ผ่านมาเราทำอะไรไปแล้วบ้าง บังเกิดผล สัมฤทธิผลมากน้อยแค่ไหน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์สุบิน และเครือข่ายชุมชนที่เคารพรักทุกท่าน ต้องกราบเรียนก่อนว่า ธ.ก.ส.เราพยายามสื่อสารว่าเราจะเป็นมากกว่าธนาคาร เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ภาคเกษตรไทย เพราะจริงๆ แล้วผมคิดว่าคนในชนบท แม้ว่าลูกค้าเรามีอยู่ประมาณ 6 ล้านกว่าครอบครัว แต่ว่าคนที่อยู่ในครอบครัวชนบทประมาณ 20 ล้านเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจฐานราก และ ธ.ก.ส.ก็มีความสัมพันธ์และทำงานร่วมกันมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ภาพที่ผมแสดงตรงนี้ไม่ได้อยากจะชี้อะไรมาก เพียงแต่อยากบอกว่า 6 ล้านกว่าครอบครัวขณะนี้ยังมีหนี้กับ ธ.ก.ส. ยังมีหนี้สินนะครับ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีหนี้สินแล้วไม่ดีอย่างไร ก็มีหนี้อยู่ประมาณ 4 ล้านกว่าครอบครัว เราแบ่งออกเป็น คนที่มีรายได้น้อย ที่ไปขึ้นทะเบียนต่อกระทรวงการคลังไว้ขณะนี้ประมาณ 1.5 ล้านครอบครัว และเป็นรายย่อยอื่นประมาณ 2.7 ล้าน ท่านที่เป็นตัวแทนที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็จะมีหลายท่านที่อยู่ข้างบนสุด บนยอด ก็คือเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นสหกรณ์ หรือเป็นนิติบุคคลต่างๆ ที่ใช้บริการกับเรา

ปีที่ผ่านมา เราอำนวยสินเชื่อไปใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ขณะนี้อำนวยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 450,000 ล้าน และคาดว่าสิ้นปี ปีบัญชี ธ.ก.ส.จะประมาณเดือนมีนาคม ก็จะอำนวยสินเชื่ออยู่ประมาณเกือบๆ 700,000 ล้าน ก็ไม่ได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว เหตุที่ต่ำ (ผมอยากให้ดูภาพถัดไป) คือตอนนี้ลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ยังมีหนี้สินอยู่กับ ธ.ก.ส.ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าดีนะครับ ต้องเรียนไว้ก่อน เป็นลูกค้าที่ประวัติชำระหนี้ดีเกือบทั้งหมด อายุเกิน 60 เมื่อกี้ผมคุยกับหลายๆ ท่าน อายุใกล้ๆ กันกับผม อายุเกิน 60 ขึ้นไป ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านครอบครัว อายุ 50-60 ก็ประมาณใกล้เคียงกัน 1.3 ล้านครอบครัว และอายุที่ต่ำลงมา คือต่ำกว่า 50 ลงมา มีอยู่ 1.3 ล้านครอบครัว นี่เป็นตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงที่ภาคชนบท เศรษฐกิจฐานราก ต้องดูตรงนี้เหมือนกัน เราก็คำนึงเรื่องนี้มาตลอด เพราะฉะนั้นวันนี้เราพาลูกค้าที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทเกษตรกร ซึ่งอยู่ตรงแถวบนสุด อายุต่ำกว่า 30 ปี ประมาณ 30,000 กว่าคนเท่านั้นเอง อันนี้ผมว่าเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญ เพราะว่าเกษตรกรเหล่านี้ ขณะนี้ผมคิดว่ามีความยากลำบาก ภาระหนี้สินในครัวเรือน แม้ว่าเขาจะเป็นลูกค้าที่ดี แต่ก็เป็นภาระหนัก เพราะฉะนั้นปีที่ผ่านมาเราก็มีโครงการที่บอกว่า ลูกค้าที่มีภาระหนัก ใครต้องการที่จะผ่อนคลายภาระหนี้ด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ไป 3 ปี ก็เพราะว่ารายย่อยที่อยู่ตรงกลางกับตรงฐานของสามเหลี่ยมมีคนอยากจะเข้าโครงการขยายเวลาชำระหนี้ 3.81 ล้านครอบครัว เป็นมูลหนี้ประมาณ 990,000 ล้าน

นี่เป็นเรื่องที่สะท้อนข้อเท็จจริงว่าขณะนี้เศรษฐกิจฐานรากตอนนี้ก็ประสบปัญหาหลายอย่าง แต่เราก็คิดว่าเราจะทำงานร่วมกันกับเขา เพื่อที่จะเข้าไปดูแล

กราบเรียนว่าที่เราจ่ายสินเชื่อไป 400,000 กว่าล้านในปีที่ผ่านมา รัฐบาลเองก็มีโครงการที่เรียกว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเป็นมาตรการระยะสั้นก็ว่าได้ ที่เข้าไปช่วยผ่าน ธ.ก.ส. เป้าหมายประมาณ 80,000 ล้าน ณ สิ้นเดือนที่ผ่านมาเราจ่ายไปแล้วประมาณ 50,000 ล้าน นี่ก็จะเป็นการช่วยระยะสั้น ซึ่งพวกเราได้คุยกัน ท่านรัฐมนตรีฯ กระทรวงการคลัง ท่านเป็นประธานบอร์ด ธ.ก.ส.ด้วย ท่านก็บอกว่า จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลก็ต้องไปดูพี่น้องเกษตรกรระยะสั้น พวกเราก็ทราบว่าปีนี้ต้นปีเจอภัยแล้ง กลางๆ ปีเจอน้ำท่วม ปลายๆ ปีมาภัยหนาวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ราคาพืชผลก็มีปัญหา สิ่งต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลก็จะช่วยระยะสั้น แต่สิ่งที่ผมจะพูดต่อไป ก็ขอเป็นคำถามถัดไปนะว่า ในปีถัดไปเราจะคิดว่าเรื่องของการมองระยะยาวหรือเรื่องของประชารัฐสร้างไทย ซึ่งนโยบายที่เราได้รับมอบหมาย หรือทำอย่างไรที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง ต้องเริ่มทันที ก็ขออนุญาตเบื้องต้นตรงนี้ก่อน

ในปีที่ผ่านมาเราก็อำนวยสินเชื่อไป คนที่พักหนี้ ปีที่ผ่านมาก็ทำเรื่องนี้มาต่อเนื่อง เมื่อเราขยายเวลาชำระหนี้ไปแล้ว สิ่งที่เราต้องไปทำ 3 เรื่อง เรื่องแรก ต้องไปดูแลหนี้ หนี้ที่มีกับเรา รวมถึงหนี้นอกระบบ ก่อนว่าภาระหนี้ของพี่น้องเกษตรกร ทำอย่างไรจะให้เราสามารถไปช่วยเหลือ ไปจัดการได้ ทั้งหนี้ของเราเองและหนี้นอกระบบ อันที่สอง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ก็คือ ทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกร 6 ล้านกว่าครอบครัว จะแข่งได้ ก็เป็นมาตรการเกี่ยวกับเรื่องของการปฏิรูปภาคการเกษตร เราใช้นโยบายที่เรียกว่าการปรับ เปลี่ยน และพัฒนา ทำอย่างไรจะให้เกษตรกรที่ทำอาชีพเดิม มีการปรับการผลิตให้มีต้นทุนที่ลดลง ให้มี productivity มีผลผลิตมากขึ้น ถ้าย้อนไปสไลด์ก่อนหน้าก็จะเห็นว่าอายุที่มีมากกว่า 60 ไม่ได้หมายความว่าคนที่อายุมากกว่า 60 จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาได้ แต่การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา การจะไปแบกรับภาระในการลงทุนใหม่ๆ นี่คือความกังวลของพี่น้องเกษตรกร เป็นภารกิจที่เราจะทำ นอกจากนั้น นอกจากเรื่องของการปรับ การเปลี่ยนแล้ว ก็ต้องไปดูเรื่องของการตลาด นั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำในปีที่ผ่านมา หลังจากไปจัดการเรื่องหนี้แล้ว ซึ่งต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง เพราะแน่นอนครับ การปรับ เปลี่ยน พัฒนา สำหรับเกษตรกรที่มีหนี้เดิมอยู่มาก มีความกังวลในการเปลี่ยนการผลิต การปรับการผลิต เราจะทำอย่างไร นี่ก็จะขอพูดในโอกาสถัดไป

นงวดี - ขอบคุณค่ะท่านผู้จัดการ ธ.ก.ส. ต่อไปมาที่ ปตท. ซึ่ง ณ ตอนนี้ต้องบอกว่าโออาร์ก็อยู่ในระหว่างการเตรียมตัวที่จะเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถ้าดูในฟากฝั่งของนักลงทุนก็ตั้งตารอคอยอย่างมาก แต่ว่าอีกภารกิจหนึ่งของโออาร์ก็คือเรื่องของเศรษฐกิจฐานราก ก็ต้องให้คุณจิราพรช่วยเล่าให้เราฟังว่าในมุมมของโออาร์กับฐานราก มีส่วนใดที่เราผลักดันและขับเคลื่อนลงไปแล้วบ้าง

จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTOR

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์ ผู้บริหารสถาบันการเงิน คุณนงวดี และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน สำหรับทางด้านของ ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือเรียกสั้นๆ ว่าโออาร์ ทางด้านของเรา เราทำด้านธุรกิจ เราเป็นทางด้านบริษัท flag ship หรือเรือธงหลักของกลุ่ม ปตท. ในแง่ของวิสัยทัศน์ของเรา เรากำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า เราเป็นแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลก สร้างคุณค่าให้กับชุมชน จะเห็นได้ว่า คำว่าสร้างคุณค่าให้กับชุมชนนั้น เราเน้นมาตั้งแต่ต้นว่าสถานประกอบการของเรา เราจะมีส่วนในการสร้างโอกาสให้กับทางด้านชุมชน เอสเอ็มอี และเกษตรกร ซึ่งเป็นคนหลักของประเทศไทย ได้มีโอกาสเข้ามาสร้างรายได้กับทางด้านสถานประกอบการของโออาร์ ซึ่งเรามีทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่เราดำเนินการกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ก็สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในช่วงนี้

ตั้งแต่รัฐบาลยุคนี้มา และประกอบไปด้วยหน่วยงานของแบงก์รัฐทั้งหลาย เรารวมพลังกัน อย่างที่ท่านรัฐมนตรีบอกว่า เราประสานพลังร่วมเพื่อคนไทยซึ่งมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร เราจะเปลี่ยนเกษตรกรจากเกษตรธรรมดา ให้กลายเป็นเกษตรอุตสาหกรรม จากท่านทั้งหลายที่ท่านมีทุน ท่านมีการพัฒนา ก็ออกมาสู่ตลาด ทางด้านของปั๊มพีทีสเตชันเรามีหลากหลาย

อย่างแรกที่จะให้ดูว่าเราช่วยเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร ถ้าหากว่าท่านไปที่ไหน ท่านก็จะพบว่ามีปั๊มน้ำมันของ ปตท.อยู่ทั่วประเทศ ปัจจุบันเรามีอยู่ประมาณ 1,850 ปั๊ม เรามีในทั่วทุกหัวระแหง ทั้งทางด้านถนนหลัก ถนนรอง อันนี้เราก็เพื่อตอบโจทย์ให้คนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงพลังงาน เข้าถึงน้ำมันที่มีคุณภาพ และจะสังเกตว่าเราเป็นผู้นำทางด้านของราคา เมื่อไรก็ตามที่ราคาน้ำมันขึ้นและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าบ่อยครั้งเราคือคนที่จะเป็นคนตรึงราคา โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก รถปิกอัพ ซึ่งใช้ในสถานประกอบการ ทั้งใช้ทางด้านของรถไถ เราจะตรึงราคาไว้เพื่อไม่ให้กระทบทางด้านเศรษฐกิจในระบบฐานราก

นอกจากนี้ ในแต่ละปีเรามีเงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเม็ดเงินของเราโดยส่วนใหญ่ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เราลงทุนในประเทศ อันนี้จะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เราบอกแล้วว่าเราเป็นแบรนด์ไทยสู่แบรนด์โลก ถ้าหากท่านเข้ามาอยู่ในสถานประกอบการของพีทีสเตชัน หรือคาเฟ่อเมซอน เราจะนำพาท่านออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย ในขณะนี้ถ้าหากท่านไปยังอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นพม่า เขมร ลาว ฟิลิปปินส์ หรือต่อไปจะเป็นเวียดนาม และจีน ท่านจะพบเจอว่ามีปั๊มพีทีสเตชัน มีคาเฟ่อเมซอน ซึ่งเราไม่ได้ไปเฉพาะเรื่องของปั๊ม เรานำพาเอาสินค้าของเกษตรอุตสาหกรรมซึ่งได้จากการพัฒนาของแบงก์หลัก และได้จากทางด้านชุมชนที่พัฒนา เรามีหน้าที่ในการทำการตลาดให้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ เราหาช่องทางขยายโอกาสไป ซึ่งอันนี้จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดี

ล่าสุด ท่านก็คงได้พบเจอว่าท่านใดที่ใช้น้ำมันดีเซล ทั้งทางด้านของรถบรรทุก และรถปิกอัพ ก็จะพบว่าพีทีสเตชันคือรายแรกที่นำเอาน้ำมัน B10 และน้ำมัน B20 ซึ่งคือน้ำมันดีเซลซึ่งเอาปาล์มมาผสม 10 เปอร์เซ็นต์ และ 20 เปอร์เซ็นต์ อันนี้จะทำให้สิ่งที่ท่านได้ หากท่านเป็นคนเติมน้ำมัน นอกจากท่านจะประหยัดจากนโยบายภาครัฐ หากเติม B10 ท่านจะถูกกว่าดีเซลปกติ 2 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ ท่านยังมีส่วนในการช่วยเกษตรกรซึ่งเป็นชาวสวนปาล์ม ในหลักแล้ว ที่เราออกน้ำมัน B10 น้ำมัน B20 จะทำให้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ซึ่ง ณ ขณะนี้ปาล์มไม่ใช่ปลูกเฉพาะภาคใต้ ภาคตะวันออกก็ปลูก จะทำให้ราคาปาล์มมีความยั่งยืน และปาล์มในที่นี้ หากปีหน้ามีการใช้ B10 เป็นน้ำมันหลักทดแทนน้ำมันดีเซลธรรมดา โดยรวมแล้วต่อปีเราจะบริโภค ที่เข้ามาในระบบเชื้อเพลิงด้วยปาล์มถึง 600,000 ตัน

นอกจากนี้ ท่านประหยัด เกษตรกรได้ประโยชน์ มลพิษจะลดลงด้วย ที่พูดกันว่า PM 2.5 หากใช้น้ำมันปาล์มกันมากขึ้น เป็น B10 เป็น B20 น้ำมันไบโอดีเซลแล้ว จะช่วยในการลดมลพิษ จะเห็นได้ว่าหลักของเรา เราเน้นในเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าเกษตร ซึ่งเป็นของเกษตรกรหลักของประเทศไทย ได้มีโอกาสเข้ามาสู่ภาคการผลิต ต่อไปถ้าหากมองไปที่ปั๊ม เวลาเข้าไปที่ปั๊ม ปั๊มทั้งหมดเรามี 1,850 เราต้องเรียนว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นของทางด้านเอสเอ็มอี ไม่ใช่ของโออาร์ ผู้ประกอบการทั้งหลายที่เป็นเจ้าของปั๊ม เขาเป็นคนลงทุนเอง เป็นคนให้บริการต่อท่านเอง 80 เปอร์เซ็นต์เป็นของเอสเอ็มอี

เรามีการจ้างงานด้วย เพราะว่าเศรษฐกิจจะดีได้ คนต้องมีอาชีพ เรามีการจ้างงานที่เป็นเด็กปั๊มเป็นหลักหมื่น 16,000 คน เรามีการสอน เรามีหลักสูตรที่จะทำให้เขามีการพัฒนาและมีความเติบโตก้าวหน้าในอาชีพ

นอกจากนี้ ที่ท่านได้เห็นอยู่แล้วว่าในสถานีบริการของพีทีสเตชัน เราไม่ใช่แค่เติมความสุข เติมพลังให้กับท่านเฉพาะเรื่องของน้ำมัน เราเติมความสุข เติมพลังให้กับท่าน ด้วยของกินของใช้ ซึ่งของกินของใช้นี้ มาจากเกษตรกร มาจากอุตสาหกรรมของพวกเรา ที่เป็นทั้งทางด้านเอสเอ็มอี เป็นทั้งชาวบ้าน ได้มีโอกาสที่คนไทยและนักท่องเที่ยวได้พบเจอกันที่ปั๊ม เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นการมีจิตผู้ให้ร่วมกัน

ต่อมาเราจะเห็นในเรื่องของตัวพีทีโออาร์ หรือโออาร์ นอกจากเรามีเรื่องปั๊ม เรายังมีคาเฟ่อเมซอน ซึ่ง ณ ปัจจุบันทุกท่านก็จะได้พบว่า อเมซอนของเรา ในไทยมีถึง 2,700 สาขา ต่อเดือนมีคนขอเข้าคิวที่จะสมัครทำอเมซอนเดือนละ 400 ราย ก็จะพบว่าอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทย ต้องเรียนว่ายังต่ำอยู่ เมื่อเทียบกับรอบบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นที่ลาว ที่เวียดนาม ดังนั้นการบริโภคกาแฟยังมีอยู่อีกเยอะ คาเฟ่อเมซอนเราก็จะขยายอีก จะเป็นการที่ทำให้นอกจากผู้ประกอบการที่เข้ามาเป็นแฟรนไชส์ของเรา เราเปิดระบบเป็นแฟรนไชส์หลัก ปัจจุบันมีถึง 87 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2,400 ราย ที่เป็นทางด้านของเอสเอ็มอี เป็นผู้ประกอบการที่เข้ามา เมล็ดกาแฟทั้งหมดที่ทางด้านของคาเฟ่อเมซอนใช้ ประมาณ 3 แสนกว่าตันต่อปี ต้องเรียนว่าเมล็ดกาแฟทั้งหมดมาจากเกษตรกรไทย เราใช้กาแฟ 2 พันธุ์ เราใช้กาแฟจากภาคเหนือ ที่เรียกว่าอะราบิกา และกาแฟจากภาคใต้ ที่เรียกว่า โรบัสตา สูตรของเราใช้กาแฟทั้งเหนือและใต้มาผสมและคั่ว จะได้ทั้งรสและกลิ่น

ต่อไปก็ลองดูนะคะว่าผลของการที่คาเฟ่อเมซอนเราร่วมในการที่นอกจากเอาเมล็ดพันธุ์ของท่านมาเพื่อมาผลิตแล้ว เรายังสอนวิธีการปลูกอย่างถูกวิธี ปลูกอย่างไรรักษาดิน ปลูกอย่างไรให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ดี เราก่อให้เกิดความสุขแก่ชุมชน

นี่จะให้ดูตัวอย่างของคาเฟ่อเมซอนที่เราใช้ผลิตภัณฑ์จากชาวเขาแล้วเป็นอย่างไร (คลิป Cafe' Amazon) ในความสุขของชาวเขาทั้งหลาย ไม่ได้เกิดจากโออาร์ ไม่ได้เกิดจากคนที่เป็นเจ้าของคาเฟ่อเมซอน แต่เกิดจากคนไทยทั้งหมดที่ช่วยกัน ร่วมมือกัน

ความสำเร็จนี้ต้องเรียนว่า ที่ท่านได้เห็นสินค้าของไทยเด็ด และที่พูดกันเยอะว่า ของดี ของเด็ด ต้องเรียนว่าเริ่มต้นมาจากวิสัยทัศน์ของภาครัฐ ซึ่งเป็นทางด้านของคณะรัฐบาลชุดนี้ ที่ท่านมีวิสัยทัศน์ว่า ให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจชุมชน ทำอย่างไรถึงจะให้การที่มีการได้ทุนแล้ว พัฒนาแล้ว มีตลาดในการขายเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ในปีที่แล้วทางด้านของพีทีสเตชัน หรือโออาร์ เราร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ กำลังหลักก็คือทางด้านของสถาบันการเงิน ที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐ และทางด้านของกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนความสำเร็จนี้ลำพังโออาร์เราทำไม่ได้ สิ่งสำคัญ ณ ขณะนี้ที่เรียนให้ทราบว่าปั๊มของเรา 80 เปอร์เซ็นต์เป็นของเอสเอ็มอี เป็นของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการเหล่านี้เขาอยู่กับพีทีสเตชันมา 40 กว่าปี ตั้งแต่สมัยองค์การเชื้อเพลิง ถ้าใครเกิดทัน หรือมีคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายาย พูดถึง เราก็จะพบว่าปั๊มองค์การเชื้อเพลิง ปั๊มทหาร ปั๊มสามทหาร ปัจจุบันคนที่ทำมาค้าขายอยู่ในท้องถิ่นนั้น เขาได้เห็นคุณค่า ได้เห็นประโยชน์ ที่บอกว่ารายได้ของเจ้าของปั๊มก็คือมาจากรายได้จากการที่คนไทยด้วยกันเข้ามาใช้บริการ ต่อวันของปั๊มและอเมซินที่มีคนมาใช้บริการถึง 2.4 ล้านคนต่อวัน ดังนั้นเจ้าของปั๊ม ตอนนี้มีตัวแทนที่เข้ามาอยู่กับเรา และเขาจะเป็นคนที่จะช่วยกันคัดเลือกสินค้าของดี ของเด็ด เข้ามาอยู่ในปั๊มพีทีสเตชัน วันนี้เราได้เรียนเชิญเจ้าของปั๊ม ซึ่งเป็นตัวแทนทั่วประเทศ ทั้งจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ พวกพี่ๆ เหล่านี้คือบุคคลที่เป็นกลจักรสำคัญที่เปิดโอกาสให้สินค้าของพี่ๆ น้องๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นของสด เดี๋ยวถ้าพระอาจารย์มีสินค้าเกษตรของสด จะเป็นไข่ไก่ หรือจะเป็นอะไร มาเปิดจำหน่ายในปั๊มที่ใกล้เคียงได้เลยค่ะ ตลอดจนสินค้าที่มีการพัฒนาแล้ว

อันนี้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า จากไทยเด็ด ที่เป็นนโยบายภาครัฐ และร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินรัฐ เอกชนอย่างโออาร์ หรือปั๊มพีที และเจ้าของปั๊ม แค่เพียงเริ่มไม่ถึง 1 ปี ณ เวลานี้เรามีทางด้านของเอสเอ็มอี ซึ่งเข้ามาขายในมุมของไทยเด็ด 147 ราย ปั๊มในปัจจุบันมีถึงเกือบ 200 ปั๊ม ที่รับรองทางด้านของมุมไทยเด็ด นอกจากนี้ เรามีการจัดที่เรียกว่า ไทยเด็ด แมทชิ่ง เดย์ ขึ้นในแต่ละจังหวัดของทุกภูมิภาค เพื่อที่จะให้ทางด้านผู้ผลิต ทางด้านเอสเอ็มอี ทางด้านชุมชน ได้มีโอกาสมาพบเจอเจ้าของปั๊ม แล้วร่วมกันที่จะเสนอและคัดเลือกสินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายที่ปั๊ม ปตท. และในวันนี้นอกจากที่บอกว่ามีตลาดที่เปิดให้ เป็นแมทชิ่งเดย์แล้ว เรามีทางด้านตลาดสดด้วย คือไม่ว่าท่านจะมีของสดอะไร อย่างไร ก็เข้ามาจำหน่ายได้ แล้วพี่ๆ ที่เป็นเจ้าของปั๊ม รวมทั้งปั๊มโออาร์ เราเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรได้มาส่งมือถึงเรื่องสินค้าให้กับชาวบ้านที่เข้ามาปั๊มเรา เราเปิดให้พื้นที่ฟรีที่จะให้เกษตรกรเข้ามาจำหน่าย

นอกจากนี้ อย่างที่เรียกว่าปัจจุบันการซื้อนอกจากมีที่ปั๊มแล้ว เรายังมีระบบออนไลน์ เราร่วมกับไปรษณีย์ไทย เปิดตู้ ปณ.ไทยเด็ด ท่านสามารถที่จะมีของดีของเด็ด ภาคเหนือส่งไปภาคใต้ ภาคเหนือส่งไปภาคตะวันออก ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน และเจ้าของปั๊ม และจะเห็นได้ว่าตัวปั๊มมีสภาพของสินค้าไทยเด็ดอย่างไร และคนที่เกษตรกรตัวจริงได้เข้ามาจำหน่าย เขามีความรู้สึกอย่างไร ก็อยากจะให้รับชมจากคลิปวิดีโอนี้นิดหนึ่งค่ะ (คลิป "ไทยเด็ด")

สำหรับในช่วงแรกก็ขอเรียนเพียงแค่นี้ และนี่ใกล้เทศกาลจะเดินทางกันอีกแล้ว ถ้าในห้องนี้มีทางด้านของเอสเอ็มอี หรือชุมชนใดที่จะเอาสินค้ามาวางจำหน่ายในปั๊มพีทีสเตชัน ท่านติดต่อกับเจ้าของปั๊มที่อยู่ใกล้เคียงได้เลยนะคะ รับรองว่าทางด้านของการท่องเที่ยวของเราจะทำให้กระจายรายได้ให้กับชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรได้อีกมากเลยค่ะ

นงวดี - ขอบคุณมากค่ะ เรียกได้ว่าโครงการแน่นมากๆ เลย และจะเห็นว่าชัดเจนจริงๆ ว่าเข้าถึงเศรษฐกิจฐานราก ด้วยเวลาอันจำกัด ดิฉันขออนุญาตรวบคำถามที่ 2 และ 3 เป็นคำถามเดียวกันเลยนะคะ ก็ต้องกลับมาที่ท่านผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คุณชาติชาย ให้พูดถึงปี 63 ปีหน้า ว่าเราจะมีอะไรที่จะขับเคลื่อนออกไปอีก จะมีกลยุทธ์ใหม่ๆ อะไร และรวมไปถึงในฐานะที่แต่ละองค์กรด้วย เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับเศรษฐกิจฐานราก ใกล้ชิดกับประชาชน จะมีข้อเสนอแนะอะไรบ้าง เชิญค่ะ

ชาติชาย - ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่าทุกอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลง เกิด disruption ที่ทุกคนจะต้องมีการปรับตัว เราก็มีการปรับตัว เพื่อให้สอดรับการดูแลสังคม เราก็จะเป็น 3 ธนาคาร อยู่ในธนาคารออมสิน ธนาคารแรกเรียกว่า Traditional Banking คล้ายๆ ธนาคารที่เราต้องให้สินเชื่อ หาเงินฝาก ให้สินเชื่อทั่วๆ ไป ส่วนธนาคารที่สอง จะเห็นว่าเราจะมี Digital Banking ที่จะตอบโจทย์ให้ลูกค้าของเราสะดวกสบาย บางทีอยู่เขาคนละลูก ไม่ต้องมาโอนเงินที่แบงก์ ก็ใช้ mobile banking ในการโอนเงิน ซึ่งลูกค้าเราก็ตอบรับดี ปัจจุบันมีประมาณ 84 เปอร์เซ็นต์ ถอน transaction ที่ใช้บริการแบงก์ ที่ใช้โดย Electronic transaction แล้ว แสดงว่าลูกค้า ถึงแม้เราจะเป็นฐานราก เราก็รองรับได้ดี ส่วนธนาคารสุดท้าย คือธนาคารเพื่อสังคม อันนี้เราจะดูแลสังคมจริงๆ ถามว่าเราจะทำอะไร ในปีหน้าเราจะมีสาขาเพื่อสังคม มี Social Branch เพื่อดูแลสังคมต่อไป โดยที่เราจะตั้งเป็นเซ็นเตอร์ เป็นศูนย์ เรียกว่าศูนย์ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 100 ศูนย์ เพื่อครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ถามว่าศูนย์นี้จะทำอะไรบ้าง ศูนย์นี้จะทำตั้งแต่ให้คำปรึกษาเรื่องหนี้นอกระบบ ให้คำปรึกษาเรื่องความรู้ อาชีพต่างๆ เป็นที่พึ่งในเรื่องของวินัยทางการเงิน ในการทำบัญชีครัวเรือน ในเรื่องของการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว โดยให้ข้อมูลข่าวสารแก่นักท่องเที่ยว หรือเป็นศูนย์กลางในการค้าขายสินค้าชุมชนต่างๆ อันนี้ก็จะทำให้เราดูแลชุมชนอย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่ต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เราสามารถยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของเราขึ้นมาจริงๆ ดังนั้นเราจะลงไปดูแลอย่างจริงจังในปีหน้า ซึ่งจะมี 100 ศูนย์ จริงๆ สาขาเรามีประมาณ 1,063 สาขา ก็สามารถเข้าไปประสานงาน ติดต่อได้ทุกเรื่อง เราก็จะเป็นเซ็นเตอร์ แต่เซ็นเตอร์ใหญ่จะกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องต่อมาที่เราทำอยู่ เราก็จะมีเรื่องของการดูแลเด็กและเยาวชน อันนี้เราก็ดูแลอย่างต่อเนื่อง จริงๆ เรามีลูกค้าที่เป็นเด็กและเยาวชนอยู่ประมาณ 4-5 ล้านคน ซึ่งเราดูแลอยู่ เราก็ทำกิจกรรม ดนตรี กีฬา วิชาการ ให้เด็กมีเวทีที่จะแสดงออก และยกระดับเขาขึ้นมาให้เป็นกลุ่มที่มีแนวความคิดเป็นแบบสตาร์ทอัพ ซึ่งเดี๋ยวเราจะดูว่าเราก็มีโครงการที่เราทำให้กับเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพด้วย

สำหรับธนาคารต่อมาที่เราจะทำเพื่อสังคม ก็คือเราจะดูแลผู้สูงวัย อันนี้ก็จะมีทั้งผลิตภัณฑ์ ทั้งเงินฝากผู้สูงวัย ซึ่งให้ดอกเบี้ยเป็นพิเศษ และสินเชื่อผู้สูงวัย ที่มีสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่เราเรียกว่าสินเชื่อผู้สูงวัยประชารัฐ สินเชื่อประชาชนเพื่อผู้สูงวัย อายุ 60-70 เราก็ยังให้กู้อยู่ เพื่อให้ท่านประกอบอาชีพได้อยู่ แล้วก็ยังเน้นเรื่องของการให้ผู้สูงวัยมีความสุข มีการออกกำลังกาย สร้างเรื่องของการฝึกอบรมให้กับท่านที่จะสามารถฝึกอาชีพต่อไปได้ อันนี้เราก็ดูแลผู้สูงวัยอยู่ สินเชื่อนี้เรียกว่า Reverse Mortgage ก็คือบ้านหลังจากผ่อนหมดก็มาจำนอง แล้วก็ค่อยๆ เบิกไปใช้เป็นรายเดือน เราก็เริ่มดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น และจะออกผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

ส่วนอีกธนาคารหนึ่งที่เราก็ยังดูแล ก็คือธนาคารเพื่อพระพุทธศาสนา เราก็มีการที่จะให้ผู้ที่ฝากเงินสามารถบริจาคเงินได้สะดวก ผ่าน QR สาธุ ตอนนี้มีประมาณ 3,000 วัด ที่ใช้ระบบ QR สาธุ ของธนาคารออมสิน ซึ่งสามารถทำบุญและเข้าบัญชีวัดได้โดยตรง และมีการทำเรื่อง e-Donation หมายถึงว่าบริจาคเงิน ก็ออกใบอนุโมทนาทางอิเล็กทรอนิกส์ ลิงก์กับทางกรมสรรพากร อะไรต่างๆ นี่ก็ช่วยทำให้ธนาคารเพื่อพระพุทธศาสนามีความเจริญและผู้ที่จะทำบุญก็สามารถทำได้ง่าย

ส่วนธนาคารต่อมา เราดูแลเรื่องของเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เราดูแลตั้งแต่การ grooming เราเชื่อว่าเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งระดับมหาวิทยาลัยตอนนี้เราเข้าไปประสานงาน เซ็น MOU มาประมาณ 8-9-10 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แล้วก็จะมีหลายๆ โครงการทำร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยให้เด็กมีการคิด มี Smart Start Idea ต่างๆ ตอนนี้เด็กเริ่มมีไอเดียส่งมาเดือนหนึ่งเป็นพันๆ ไอเดีย แล้วก็มีการทำ prototype ขึ้นมา ผลิตสินค้าและขายด้วย และเราก็ให้มาประกวด จัดโครงการเอสเอ็มอี สุดยอดเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ตัวจริง ซึ่งก็เพิ่งประกวดชนะเลิศไป ผู้ชนะเลิศก็เอาผลงานมาแสดง อย่างเช่น เป็นสารที่ช่วยทำให้ชะลอการสุกของผลไม้ การทำให้แป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลช้าลง อะไรต่างๆ เหล่านี้ และสามารถรับประทานได้ อาหารสด ผักผลไม้ ก็จะชะลอ เวลาส่งออกไปผลไม้ไม่สุกระหว่างทาง นี่ก็เป็นนวัตกรรม ซึ่งหลังจากได้เสาะหาเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ คนใหม่ๆ แล้ว หลังจากนั้นเราก็มา grooming coaching เขา ให้ความรู้เขา อบรมเขา ช่วงที่ผ่านมาก็อบรมไปกว่า 7,000 คน หลังจากนั้นเขาก็สามารถที่จะเติบโตขึ้น เราก็ให้สินเชื่อ และให้เงินลงทุนแก่เขา เป็น Venture cap เราลงทุนไปแล้วประมาณ 27 บริษัท ใช้เงินประมาณ 500 กว่าล้าน เรายังมีทุนถึง 2,000 ล้าน ที่จะร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพ

ในทีนี้ถ้าใครเป็นเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ คือมีนวัตกรรมในการผลิตสินค้า บริการ ลองมาหาธนาคารออมสิน เราอาจจะร่วมลงทุนด้วย ให้สินเชื่อด้วย หลังจากนั้นก็ผลักดันสู่ตลาด เขาก็สามารถเข้าตลาด มีลูกค้าบางรายที่เรากำลังจะร่วมลงทุน กำลังจะไปเข้าตลาดสิงคโปร์แล้ว และตัวอย่างเอสเอ็มอีที่เป็นแค่สตรีทฟู้ด ก็สามารถส่งออกสินค้าของเขาได้ ดังนั้นเราเรียกว่าเราทำแบบครบวงจร

อันดับต่อมา คือเรื่องของการทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฐานรากยั่งยืนต่อไป อันดับแรกผมคิดว่า เราอยากจะให้เรามีความร่วมมือตามแนวทางของประชารัฐ คือ รัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมมือกัน คำว่าประชารัฐก็คือความร่วมมือของทุกภาคส่วน อันนี้ผมว่าเป็นแกนกลางที่จะทำให้เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจฐานรากเติบโตอย่างยั่งยืน หลังจากนั้นเราภาคีเครือข่ายทั้งหลายจะต้องทำเรื่องยุทธศาสตร์ 3 สร้าง อย่างต่อเนื่อง คือ สร้างความรู้/สร้างอาชีพ สร้างตลาด สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อันนี้เมื่อสมบูรณ์แบบ ก็จะทำให้ยกระดับได้ หลังจากนั้นผมคิดว่าชุมชนต่างๆ ต้องเติมด้วยนวัตกรรม การเติมเต็มนวัตกรรมจริงๆ ภาคีเครือข่ายภาครัฐเรามีมากมาย อย่างสถาบันการศึกษา NAI คือสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทช. , วว. หรือสถาบันอาหาร หรือธนาคาร พวกนี้เราช่วยกันสร้างนวัตกรรมให้กับชุมชน หลังจากนั้นชุมชนถึงจะเติบโตได้ และไม่ลืม วันนี้เราก็มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชน จริงๆ เรามีปราชญ์ชาวบ้าน เรามีองค์กรต่างๆ อาจจะชุมชนนู้นมีเทคนิค มีนวัตกรรมที่ดี มีองค์ความรู้ที่ดี ก็เอามาแชร์กัน เราพยายามจะทำชุมชนต้นแบบให้พวกเราเดินตาม ถ้าชุมชนที่ดีก็จะทำให้สามารถยกระดับทั้งประเทศ เราก็สร้างชุมชนต้นแบบขึ้นมา และสุดท้ายก็คงจะต้องติดตาม ประเมินผล และสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าบนเวทีและข้างล่างทุกคนพร้อมที่จะสนับสนุน

นงวดี - ขอบคุณค่ะ ครอบคลุมจริงๆ นะคะ คือเข้าถึงทุกช่องทางที่จะถึงประชาชนฐานรากจริงๆ ออมสินยื่นมือไปถึงทุกๆ ท่านจริง เชิญคุณฉัตรชัย ในส่วนของ ธอส.ในปีหน้าและข้อเสนอสำหรับเศรษฐกิจฐานรากในปีหน้าด้วยค่ะ

ฉัตรชัย - ปีหน้าไกลไป เอาพรุ่งนี้เลยนะครับ พรุ่งนี้ก็จะมีโครงการ บ้านดีมีดาวน์ เป็นระบบของกระทรวงการคลัง ก็จะเปิดให้ลงทะเบียนครั้งแรก ที่ว่ารัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง จะใช้เม็ดเงิน 5,000 ล้าน สำหรับ 100,000 รายแรก ที่จะคืนเงินให้รายละ 50,000 ซึ่งนี่ก็จะเริ่มดำเนินการในวันพรุ่งนี้ แต่ขออนุญาตฉายคลิปของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นวิธีการ ประมาณ 56 วินาที ว่าพรุ่งนี้มีอะไรบ้าง (คลิป) คุณสมบัติผู้ร่วมโครงการ ก็จะต้องอยู่ในฐานภาษี พรุ่งนี้จะเป็นวันแรก จะมีการลงทะเบียน 8 โมงเช้า คีย์คำว่า บ้านดีมีดาวน์.com แล้วก็สามารถเข้าไปลงทะเบียนในเรื่องของเลขบัตรประชาชน 13 หลัก พร้อมเพย์ และฐานภาษี ขอเรียนเพื่อความชัดเจนอีกครั้งนะครับว่า ทุกแบงก์ยื่นกู้ได้ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทุกแบงก์ในการที่ประชาชนจะเข้าไปขอสินเชื่อได้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ก็จะโอนเงิน 50,000 บาท ผ่านพร้อมเพย์ ระยะเวลาโครงการ ก็เริ่มแล้ว ตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน ถึง 31 มีนาคม 2563 ก็เรียนเชิญทุกท่านลงทะเบียนในการที่จะเป็น 100,000 รายแรกที่จะได้รับเงินจากโครงการบ้านดีมีดาวน์ของรัฐบาลครับ

นงวดี - ขอถามเพิ่มเติม 50,000 บาทที่รัฐบาลสนับสนุนนี้ ต้องได้หลังจากที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ถูกไหมคะ

ฉัตรชัย - คือโครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาแล้ว จนกระทั่งถึง 31 มีนาคม 63 เงื่อนไขหลักๆ เลยจะมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ท่านต้องเป็นประชาชนที่มีรายได้ในฐานภาษีของปีที่ผ่านมาไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1.2 ล้านบาทต่อปี ประเด็นที่ 2 คือ ท่านจะต้องซื้อบ้านใหม่ คำว่าบ้านใหม่ คือ บ้านที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ราคาเท่าไรก็ได้ และที่สำคัญท่านจะต้องมีการอนุมัติสินเชื่อ คือมีการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และมีการจดจำนอง ในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และอยู่ใน 100,000 รายแรกครับ

นงวดี - บ้านดีมีดาวน์ พรุ่งนี้ลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ บ้านดีมีดาวน์.com first come, first served เราค่อนข้างจะคุ้นแล้วนะคะ first come, first served ตั้งแต่ชิมช้อปใช้ล่าสุดนะคะ มาที่เอสเอ็มอี ดี แบงก์ บ้างค่ะ ปี 63 และข้อเสนอแนะทั้งหลาย เชิญค่ะ

สมานพงษ์ - สำหรับปี 63 ที่จะมาถึงในไม่ช้านี้ ก็อยากจะฝากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกท่าน ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยเรายังเติบโตนะครับ แต่ยังเติบโตค่อนข้างที่จะต้องระมัดระวัง โดยเอสเอ็มอีต้องกลับมามองตัวเองว่า จุดอ่อนของเราในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราในการที่จะเข้าสู่ตลาด และสามารถขายดีเป็นเทน้ำเทท่าน้้น ผมขออนุญาตนำคำซึ่งอดีตกรรมการผู้จัดการของเอสเอ็มอี ดีเวลลอปเม้นท์ แบงก์ ท่านมงคล ลีลาธรรม ได้ให้ไม้ค้ำยันไว้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 5 อย่าง ไม้ค้ำยันทั้ง 5 อย่าง ประกอบด้วย เอสเอ็มอีจะทำอะไรก็แล้วแต่ หนึ่ง ต้องมี story ต้องมีที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ สอง ต้องมี modern มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด สาม คือ design คือแพกเกจจิ้ง เมื่อเห็นปั๊บ เตะตาลูกค้า ดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของ certified สินค้าเราต้องมีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ สิ่งสำคัญสุดท้ายก็คือเรื่องของการค้าขาย ยุคนี้สมัยนี้ต้องออนไลน์เท่านั้น ถ้าเรายังค้าขายออฟไลน์อยู่ การเผยแพร่ผลิตภัณฑ์เราไปอย่างกว้างขวางก็จะขาดโอกาสไป ก็ขอฝากไม้ค้ำยันทั้ง 5 อย่าง ก็คือ story, modern, design, certified และ online ถ้าผู้ประกอบการมีไม้ค้ำยันทั้ง 5 อย่าง ผมคิดว่าปีหน้า ปี 63 จะทำธุรกิจอย่างประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ก็อยากจะฝากผลิตภัณฑ์ของ เอสเอ็มอี ดีเวลลอปเมนต์ แบงก์ ในปีหน้านะครับ นอกจากตัวเอสเอ็มอีไทยโตไว ยั่งยืน 3,000 ล้านแล้ว เรายังมีโครงการเรียกว่า LEL : Local Economy Loan ซึ่งตัวนี้ยังมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 20,000 ล้าน คิดว่ามกราคม ปี 63 ก็จะขับเคลื่อน ให้บริการ นอกจากนี้แล้ว ท่านผู้ประกอบการท่านใดอยากจะปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เรามี Transformation loan ให้เงินกู้สำหรับปรับเปลี่ยนเครื่องจักรได้ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็ฝากไว้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

นงวดี - ขอบคุณค่ะ เชิญ ธ.ก.ส.ต่อเลยค่ะ

อภิรมย์ - ในปีหน้า 2563 ก็ต่อเนื่องกับยุทธศาสตร์ที่เราจะทำ ก็คือในภาพที่ผมเสนอว่า พี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในชุมชน อยู่ในชนบทขณะนี้ เราก็จะเน้นเรื่องของการปฏิรูปภาคการเกษตรร่วมกันกับเครือข่าย ก็คือเรื่องของการปรับการผลิต เปลี่ยนการผลิต ให้ตรงกับความต้องการของตลาด แต่อย่างเรียนครับว่าเกษตรกรของเรา เราคิดว่าเราจะไม่เน้นเรื่องของการไปเพิ่มหนี้ให้เกษตรกรรายย่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ให้กู้นะครับ เราคิดว่าหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยหลังจากเราเข้าไปดูแลเรื่องภาระหนี้แล้ว ยุทธศาสตร์ของเราคือ ทำอย่างไรไม่ให้เขาเป็นหนี้นอกระบบ ถ้าจะเป็นหนี้นอกระบบ มาหาเรา ทีนี้ที่ต้องทำงานคู่กันไปก็คือว่า การปรับเปลี่ยน เราจะใช้เกษตรกรรุ่นใหม่กับพวกท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในห้องนี้ ก็คือการรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชน เราเสนอรัฐบาลไปว่า ในโครงการปีหน้า เราจะเสนอโครงการเรื่องของธุรกิจชุมชนสร้างไทย ก็เรียนว่าปีหน้า จริงๆ ภายในเดือนมีนาคม สาขาที่เป็นสาขาหลักของเราทั้งหมด 928 สาขา ก็จะคัดเลือกพื้นที่ชุมชนมาสาขาละ 1 ชุมชน เพื่อไปทำงานร่วมกัน และภายในปี 2563 ก็จะไปครบทั้ง 1,273 สาขาของ ธ.ก.ส.ทั้งหมด

พอเลือกพื้นที่ได้แล้ว เราก็จะดูในแต่ละพื้นที่ว่าในพื้นที่เหล่านั้นเรามีเกษตรกรที่เป็น smart farmer เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เท่าไร ซึ่งปีที่ผ่านมาเราสร้างผู้ประกอบการสินค้าเกษตร ที่เรียกว่าเอสเอ็มอีเกษตร ไปแล้วประมาณ 300,000 กว่าราย โจทยก์คือ ทำอย่างไรให้ 300,000 กว่ารายนี้ อยู่รอด และเติบโต เพื่อที่จะกลับมาช่วยรายย่อยที่ผมบอกเมื่อกี้ว่าให้เขาปรับการผลิต เพราะฉะนั้นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจชุมชนก็จะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การแปรรูป การตลาด ทำอย่างไรจะให้เอสเอ็มอีเหล่านี้เป็นหัวขบวน เพราะทุกคนทำตลาดไม่ได้ เราจะใช้คนที่สาขาของเราประมาณ 1,000 กว่าคน ไปทำงานร่วมกันกับชุมชน เพื่อที่จะไปคุยกันว่าแผนของชุมชนที่จะทำงานพวกนี้อย่างไร เราเสนอไปว่า เราจะใช้สินเชื่อที่เรียกว่าสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ซึ่งขอคณะรัฐมนตรีไปแล้วว่าเราจะใช้วงเงินนี้ 50,000 ล้าน 3 ปี คู่กับสินเชื่อปกติที่เราจะจ่ายไปเป็นปกติอยู่แล้วปีละประมาณ 600,000 กว่าล้าน

ในตัว 50,000 ล้าน ก็จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเน้น ... ดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะจูงใจให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร วิสาหกิจชุมชนที่มีอยู่แล้วเดิม หรือวิสาหกิจชุมชนที่จะสร้างขึ้นใหม่ ไปสร้างมูลค่าเพิ่มแล้วกลับมาช่วยรายย่อย นั่นเป็นเงื่อนไขสำคัญ อัตราดอกเบี้ยก็จะต่ำจริงๆ เพียงร้อยละ 0.01 หรือ ล้านละร้อย ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นภารกิจของ ธ.ก.ส.ที่จะทำงานเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ คือเราจะไปสร้างวิสาหกิจชุมชน ไปช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนเดิม อย่างเช่น เดี๋ยววิทยากรในภาคต่อไป ไม่ว่าจะเป็นลุงชวน ไปทางท่านผู้ใหญ่แรม ที่จะเป็นผู้แทนของชุมชนที่จะมาคุย เราได้ตัวอย่างจากผู้ใหญ่แรมที่ทำงานในชุมชนว่า ในชุมชนที่ผู้ใหญ่แรมดู ก็จะมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอยู่ภายใต้ประมาณ 10 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน วันนั้นไปเจอที่ผู้ใหญ่แรมทำก็คือ มีเครือข่ายที่จะไปสร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ไปลดต้นทุนการผลิตด้วยการไปลงทุนในโดรนเพื่อการเกษตร อย่างนี้เป็นต้น กติกาของเราก็คือว่า ถ้าสร้างเป็นธุรกิจของชุมชน แล้วมีการแบ่งปัน เกื้อกูลกันอย่างเป็นธรรม ก็จะสามารถใช้สินเชื่อ "ล้านละร้อย" ได้

นอกจากนั้นแล้ว ในกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ท่านชาติชายได้กรุณากล่าวไปเมื่อกี้ว่า เดี๋ยวกองทุนหมู่บ้านฯ ก็จะมีเงินสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ดีอีกหมู่บ้านละ 2 แสน เราก็จะทำงานร่วมกันกับกองทุนหมู่บ้านฯ ว่า ในกองทุนหมู่บ้านนั้น หมู่บ้านละ 2 แสน มีแผนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอะไร เช่น ที่ผมคุยกับผู้ใหญ่แรม เดี๋ยวท่านคงให้รายละเอียดว่าเขามีแผนว่าเขาจะเปลี่ยนการผลิตโดยการเข้าไปทำกลุ่มเมล็ดพันธุ์ข้าว และต้องการลงทุนในเครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น ก็จะใช้เงินกองทุนหมู่บ้านฯ ละ 2 แสน มาเป็นเงินตั้งต้นในการลงทุน และถ้าส่วนต่าง 2 แสน ที่กองทุนหมู่บ้านฯ ได้มาจากรัฐบาลแล้ว เช่น ต้องลงทุนสัก 5 แสนบาท เราพร้อมที่จะเอาเงินสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 5 แสนบาท ลงไปสนับสนุน ต่อยอด ให้โครงการของกองทุนหมู่บ้านฯ ไปสร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืนและถาวร

ในข้อแนะนำก็คือว่า จริงๆ แล้วในธุรกิจชุมชน เราคิดว่าต้องทำไปในสองทางคู่ขนานกันไป ก็คือว่า คงหลีกหนีไม่พ้นในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในชุมชน ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในชุมชนนั้น จริงๆ แล้วเราทำงานกับชุมชนที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 7,000 กว่าชุมชนแล้ว เราก็คงจะต่อยอดตรงนั้น ว่าจริงๆ แล้วชุมชนยังต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออม การสร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องของความรู้ต่างๆ เพราะฉะนั้นแผนของชุมชน แผนของกองทุนหมู่บ้านฯ จะเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะทำงานร่วมกันว่าโอกาสในการที่จะไปพัฒนาธุรกิจชุมชนที่อยู่ในกรอบของชุมชน โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็ดี หรือกองทุนหมู่บ้านฯ ก็ดี หรือโดยการนำของเกษตรกรรุ่นใหม่ก็ดี มันมีโอกาสในการทำงานร่วมกันอย่างไร ที่สำคัญก็คือว่า เราจะประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ขณะนี้เราคุยกันกับหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่พวกเราบนเวทีนี้ จริงๆ แล้วกับทางกระทรวงเกษตรฯ ก็ดี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ดี วันนี้ถ้ามีงบประมาณที่ไหน ของฟรี ของดี มีที่ไหน เราจะหาให้ชุมชนก่อน สินเชื่อที่บอกว่า ล้านละร้อย เป็นเรื่องหลังสุดที่เราจะทำงานร่วมกันกับชุมชน

เพราะฉะนั้นในเรื่องของการทำงาน ผมคิดว่าการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ต้องเริ่มจากพื้นฐานจริงๆ ความต้องการ ปัญหาของชุมชนทุกชุมชน ซึ่ง ธ.ก.ส.ก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับชุมชน เราจะใช้คน 1,000 คนที่เรียนให้ทราบ และในระดับจังหวัด เราก็จะให้ท่านผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.จังหวัด ร่วมกับทีมพัฒนาลูกค้าของเรา ซึ่งต่อไปจะเปลี่ยนเป็นทีมพัฒนาธุรกิจชุมชน ไปประสานความร่วมมือ อย่างที่บอกครับ ของดี ของฟรี ความรู้มีที่ไหน ก็จะไปทำงานร่วมกันกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง อย่างยั่งยืน ก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะทำงานต่อไปในปีหน้า จะเน้นการทำงานให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นการสร้างโอกาส สร้างธุรกิจชุมชนใหม่ๆ สร้างงานใหม่ๆ ให้ลูกหลานกลับมาอยู่ในชุมชน โดยใช้เครื่องมือทางการเงินกับเครือข่ายที่เรามีอยู่ทั้งประเทศ ทำงานร่วมกัน ขอบคุณครับ

นงวดี - ขอบคุณค่ะ ขอเชิญทางโออาร์บ้างค่ะ

จิราพร - สำหรับแผนในปีหน้า ถามว่าเราจะสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนอย่างไร โดยเป้าหมายอย่างที่เรียกว่า ไทยเด็ด ของเราในขณะนี้มี 200 สาขา ปีหน้าเราจะมี 1,000 ปั๊ม ที่เปิดโอกาสให้มีสินค้าที่ได้รับการคัดเลือกและเข้ามาจำหน่ายยังที่ของไทยเด็ด ของพีทีสเตชัน นอกจากนี้ ทางด้านของปั๊มพีทีสเตชัน เรายังมีในต่างประเทศอีก เราไปทางด้านที่เรียกว่า CLMV แล้ว และคาเฟ่อเมซอนเราจะไปที่จีน ที่โอมาน ที่ญี่ปุ่น ก็จะเห็นว่าพลังเหล่านี้จะได้ผู้บริโภคมากขึ้น นั่นหมายถึงสินค้าเกษตรของเราที่พัฒนามาเป็นเกษตรอุตสาหกรรม จะมีโอกาสขยายไปกับทางด้านของ outlet ของพีทีสเตชัน และคาเฟ่อเมซอน และที่สำคัญ ในปี 2563 ทางด้านของโออาร์ เราเปลี่ยนนโยบาย แทนที่เราจะพาเจ้าของปั๊มและเจ้าของอเมซอน ซึ่งได้รางวัลจากการเป็นสถานประกอบการดีเด่น ไปเที่ยวต่างประเทศเหมือนที่ผ่านมา ในปี 2563 เราจะพาคนประมาณ 5,000 ครอบครัว เที่ยวไทย ไทยเที่ยวไทย ก็จะทำให้ท่านที่เป็นเจ้าของแพ หรือท่านที่เป็นเจ้าของโรงแรมและสินค้าชุมชน ได้มีโอกาสทำให้คนไทยได้สนับสนุนซึ่งกันและกัน และการเริ่มต้นของเราครั้งนี้ โออาร์เราก็คงเป็นเพียงแค่ฟันเฟืองหนึ่งที่จะจุดประกายให้ทราบได้ว่า หากเอกชนร่วมกับทางด้านของหน่วยงานรัฐ และดำเนินการตามนโยบายรัฐที่สนับสนุนเรื่องของเศรษฐกิจฐานราก เรารับรองได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้มแข็งจากภายใน ไม่ว่าจะมาเจอความผันแปรจากสงครามการค้าโลก หรือทางด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างไร หากเราเข้มแข็งภายใน รับรองว่าเศรษฐกิจไทยยั่งยืน

ทีนี้ลองมาดูว่าสังคมไทยเราเป็นอย่างไร ลองเปรียบเทียบ ญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2537 เราก็จะพบว่าเขาเป็นสังคมผู้สูงอายุมานานแล้ว ก็คือว่าคนวัยหนุ่มสาว คล้ายๆ กับบ้านเราเลย เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เข้ามาทำงานในหัวเมือง ทิ้งไว้แต่คนสูงอายุที่อยู่ตามบ้าน ผลก็คือ สัดส่วนของการเกิดลดลง คนสูงอายุมากขึ้น ไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนที่มีอายุ 65 มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ของคนทั้งประเทศ เราจะเริ่มในเร็วๆ นี้แล้ว 2564 แต่รับรองว่าเราไม่หวั่นไหว เพราะ ณ เวลานี้ ทั้งนโยบายภาครัฐ ทั้งทางด้านของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานเอกชน เราร่วมกันที่จะทำให้ชุมชนได้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากการที่ให้ทุน ให้การพัฒนา เราสร้างการตลาด พาออกจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืน

ถามว่า 3 องค์ประกอบ เป็นเรื่องสำคัญ เริ่มแรก เราเริ่มกันแล้วตั้งแต่วันนี้ที่จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนแข็งแรงขึ้น อยู่ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น และ 3 องค์ประกอบที่สำคัญซึ่งเราไปกัน นโยบายรัฐก็มั่นคงว่าให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก เอกชนให้ความร่วมมือ ชุมชนเองก็มีการพัฒนาตนเอง ทั้งทางด้านเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของภาควัด ภาคโรงเรียน เรากลับมาร่วมมือกัน และสุดท้ายชุมชนเองก็จะมีความเข้มแข็ง แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ยั่งยืนได้ ก็ต้องเรียนว่า ทั้งทางด้านหน่วยงานรัฐ ทั้งทางด้านเอกชน อย่างโออาร์ และชาวบ้านเอสเอ็มอี เกษตรกรทั้งหลาย อย่างหนึ่งที่จะทำให้เรามีเศรษฐกิจที่ยั่งยืน นั่นคือการที่เราร่วมกันทำธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ หากว่าเรามีการให้คำมั่นสัญญากันว่าที่พักนี้ของโฮมสเตย์นี้ แพนี้ หรือสินค้าจากทางด้านเอสเอ็มอีนี้ มีคุณภาพอย่างไร ขอให้เรารักษาคุณภาพนั้นอย่างมั่นคง แล้วจะทำให้สิ่งที่เราทำการตลาด กับสิ่งที่เราออกจำหน่ายจริง มันจะตรงกัน อันนี้จะได้รับความเชื่อถือ ทั้งทางด้านของคนที่อยู่ทางด้านต่างประเทศที่เราจะพาสินค้าของท่านไปขาย และคนไทยด้วยกัน ซึ่งอย่างที่ว่า คนไทยเราเองมีอยู่แล้วว่า ของดี ของเด็ด มันไม่ได้เด็ดที่สินค้าอย่างเดียว มันเด็ดที่คนไทยเราช่วยกัน เราร่วมกัน มันเด็ดตรงนี้ล่ะค่ะที่จะทำให้เราไปกันอย่างยั่งยืน

นงวดี - ขอบพระคุณค่ะ ก็จะเห็นได้ว่าพวกท่านไม่ได้อยู่คนเดียว ทุกๆ ท่าน ทุกๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ยื่นไม้ยื่นมือกันไป ท่านก็ยื่นมือมา ทุกๆ คน คนไทยทุกๆ คนก็พร้อมที่จะจับมือกันไปและเดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งนี่คือหัวใจของเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ คือเศรษฐกิจฐานรากนั่นเอง วันนี้ต้องขอขอบพระคุณผู้บริหารทุกท่านที่มาร่วมพูดคุยกับเราในวันนี้








กำลังโหลดความคิดเห็น